อีกที่พึ่งสำหรับผู้หญิงไทยในออสเตรเลียที่พบความรุนแรงในครอบครัว

Joy Darwin DV Project.png

คุณจอย บลิคอาฟส คนไทยในดาร์วิน คุยถึงโครงการ ‘Here for Help’ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว ที่อยู่ในดาร์วินและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี Source: Supplied / Meghan Hessler/ Unsplash

คุณจอย บลิคอาฟส คนไทยในดาร์วิน คุยถึงโครงการ ‘Here for Help’ ที่มุ่งให้ความช่วยเหลือผู้หญิงไทยที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว พร้อมชี้แจงเรื่องพฤติกรรมเข้าข่ายความรุนแรง ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นการทำร้ายร่างกายเสมอไป และแนะนำทางออกสำหรับหญิงผู้ย้ายถิ่นฐานที่ประสบปัญหานี้ในออสเตรเลีย


คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์

คุณจอย บลิคอาฟส (Joy Blicavs) เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในดาร์วินมากว่าสิบปีแล้ว เธอได้ริเริ่มโครงการ ‘Here for Help’ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงทั้งคนไทยที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่นครดาร์วินและนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี โดยเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ด้วยการสนับสนุนจากองค์กร YWCA ในดาร์วิน

“โครงการ Here for Help มีจุดประสงค์คือเพื่อให้ผู้หญิงไทยและลูก ๆ ที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของออสเตรเลียอย่างเร็วที่สุดโดยที่ไม่ต้องกังวลในเรื่องภาษา หรือไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน หรือต้องทำอะไรบ้าง” คุณจอยบอกกับ เอสบีเอส ไทย

Joy Darwin 3 (2).jpg
คุณจอย บลิคอาฟส (Joy Blicavs) เป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในดาร์วินมากว่าสิบปีแล้ว Source: Supplied / Joy Blicavs
ก่อนที่จะเริ่มโครงการนี้ คุณจอยเป็นคนหนึ่งที่เมื่อเห็นผู้หญิงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาติอื่นที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เธอก็ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ

“การที่เราได้เห็นคน ๆ หนึ่งมีชีวิตใหม่ การช่วยให้เขาเดินออกมาจากความทุกข์ มันทำให้เราสุขใจและมีกำลังใจที่จะได้ช่วยเหลือคนอื่น ๆ ต่อไป แล้วก็คนที่เราช่วยไปเนี่ย ในอนาคตเขาอาจจะได้ช่วยคนอื่น ๆ ต่อไปด้วยค่ะ”

คุณจอยกล่าวว่า ปัญหาอย่างหนึ่งที่พบบ่อยคือ ผู้คนมักเข้าใจผิดคิดว่า ความรุนแรงในครอบครัวจะต้องเป็นเรื่องถูกตบตีเสมอไป แต่ความจริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวมีหลายรูปแบบ และถึงแม้จะไม่ใช่เรื่องการถูกตบตี แต่ผู้หญิงที่ถูกกระทำก็สามารถขอรับความช่วยเหลือได้

“ถ้าพูดถึงคนไทยในออสเตรเลีย จอยคิดว่าน่าจะเกินครึ่งที่มีความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก หลายคนอาจจะคิดว่าจะต้องเป็นการทำร้ายร่างกายถึงจะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การทำร้ายจิตใจ การข่มขู่ คุกคาม การควบคุม การทำให้อับอาย รวมถึงการคุกคามทางเพศ อย่างเช่น ภรรยาไม่ยินยอมให้สามีมีเพศสัมพันธ์ด้วย แต่สามีไม่ยอมและใช้กำลังขืนใจภรรยา อันนี้ก็เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัวนะคะเพราะฉะนั้นการเรียนรู้ การทำความเข้าใจในเรื่องนี้จึงมีความสำคัญมากค่ะ”
หลายคนอาจคิดว่าต้องเป็นการทำร้ายร่างกายถึงจะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การทำร้ายจิตใจ การข่มขู่ คุกคาม การควบคุม การทำให้อับอาย รวมถึงการคุกคามทางเพศ ก็เข้าข่ายความรุนแรงในครอบครัว
คลิก ▶ ด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์
THAI Joy Darwin image

อีกที่พึ่งสำหรับผู้หญิงไทยในออสเตรเลียที่พบความรุนแรงในครอบครัว

SBS Thai

22/11/202322:11
แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว แต่คุณจอยรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้หญิงเหล่านั้นจะออกมารับความช่วยเหลือ

“จากการที่จอยได้ช่วยเหลือคนไทยด้วยกันที่ประสบความรุนแรงในครอบครัว จึงทำให้เรารู้ถึงปัญหาของการเข้าถึงความช่วยเหลือ เพราะบางคนพูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย คำศัพท์ยาก ๆ บางคำก็ไม่เข้าใจ มีความกลัว ความกังวลในเรื่องภาษาคือปัญหาหลักของผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ที่ต้องยอมทนอยู่ ยอมถูกกระทำ นอกจากเรื่องภาษา ก็มีเรื่องความกลัว ซึ่งความกลัวอาจจะมาจากการที่ผู้ชายขู่ถอนสปอนเซอร์วีซ่า ซึ่งเป็นปัญหาที่จอยได้เห็นบ่อย ๆ เลยนะคะ อีกปัญหาคือการที่ผู้ชายอาจจะขู่ทำร้ายร่างกาย หรือแม้กระทั่งเอาเด็กหรือเอาลูกมาเป็นเครื่องมือในการรั้งผู้หญิงเอาไว้ไม่ให้คิดหนีหรือขอความช่วยเหลือ”

“แต่จอยอยากจะบอกว่า ไม่ต้องกลัวเลยค่ะ จอยอยากให้เขาส่งสัญญาณออกมาว่าต้องการความช่วยเหลือ เพราะบางคนอาจไม่สามารถโทรศัพท์หรือพูดออกมาได้เต็มปากว่า ‘ช่วยฉันหน่อย’ แต่คุณสามารถส่งสัญญาณออกมาได้ค่ะ หน่วยงานของออสเตรเลียพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโดยทันที คุณก็จะได้รับความคุ้มครองจากทางรัฐบาลและทางตำรวจทันทีทั้งแม่และลูก"
sydney-sims-3zgllN5P7Mc-unsplash.jpg
ผู้คนมักเข้าใจผิดคิดว่า ความรุนแรงในครอบครัวจะต้องเป็นเรื่องถูกตบตีเสมอไป แต่ความจริงแล้วความรุนแรงในครอบครัวมีหลายรูปแบบ Source: Supplied / Sydney Sims/unsplash
บางคนอาจไม่สามารถโทรศัพท์หรือพูดออกมาได้เต็มปากว่า ‘ช่วยฉันหน่อย’ แต่คุณสามารถส่งสัญญาณออกมาได้ค่ะ หน่วยงานของออสเตรเลียพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือโดยทันที
"ส่วนในเรื่องภาษาถ้าเข้าสู่ในกระบวนการของกฎหมายเขาจะมีล่ามให้ ความช่วยเหลือของรัฐบาลที่ออสเตรเลียในเรื่องความรุนแรงในครอบครัวก็มีหลายรูปแบบ ไม่ใช่มีแค่เรื่องวีซ่าอย่างเดียว จะมีเรื่องการดำรงชีวิต การหาที่อยู่อาศัยให้ ขอแค่ให้ผู้ประสบปัญหาก้าวออกมา”

“จอยอยากฝากถึงพี่น้องคนไทยที่อาศัยอยู่ในทั้งดาร์วินและรัฐอื่น ๆ ของออสเตรเลียที่กำลังประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัว หรือไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่เข้าข่ายไหม ขอให้กล้าที่จะก้าวออกมาพูดคุย มาปรึกษา หรือมาเล่า มาระบาย ขอให้ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือออกมา จอยเข้าใจว่า ก้าวแรกมันยากมากสำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ แต่อยากให้มั่นใจว่า คุณจะมีหลาย ๆ มือที่พร้อมจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ”
จอยเข้าใจว่า ก้าวแรกมันยากมากสำหรับคนที่กำลังเผชิญปัญหาอยู่ แต่อยากให้มั่นใจว่า คุณจะมีหลาย ๆ มือที่พร้อมจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือ
หากคุณหรือบุคคลอื่นตกอยู่ในอันตรายฉุกเฉิน ให้โทรหาตำรวจที่ทริปเปิลซีโร (000)

หากต้องการขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวหรือการประทุษร้ายทางเพศ ติดต่อ โทร. 1800 737 732 หรือ ซึ่งมีข้อมูลภาษาไทยด้วย

คุณสามารถติดต่อเกี่ยวกับบริการ Here for Help ที่คุณ จอย บลิคอาฟส (Joy Blicavs) ริเริ่มร่วมกับ YWCA Darwin ได้ผ่านเฟซบุ๊กของคุณจอย หรือโทรศัพท์ไปที่ YWCA Darwin ที่ (08) 8932 9155 และอ่านรายละเอียด

องค์กรช่วยเหลือคนไทยในออสเตรเลีย โทร. 02 9264 3166 (หากไม่มีผู้รับสายสามารถฝากข้อความได้) หรืออีเมล twa@thaiwelfare.org

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอสไทยได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์กเพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุดหรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share