ระวังสแกมเมอร์หาประโยชน์จากเช็กอินผ่านคิวอาร์ โค้ด

Customer scanning QR code to check in to a venue.

Customer scanning QR code to check in to a venue. Source: Getty

ขณะที่สถานประกอบการต่างๆ ใช้ระบบเช็กอิน (Check in) ด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR Code) เพิ่มมากขึ้น จึงมีคำเตือนให้ประชาชนในออสเตรเลียระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของตน ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว


สแกมเมอร์หรือนักหลอกลวงต้มตุ๋นกำลังฉวยโอกาสจากความหวาดกลัวของผู้คนในช่วงการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา

มีผู้คนกว่า 5,000 คนในออสเตรเลีย ที่ถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพในปีนี้

ขณะที่สถานประกอบการต่างๆ ใช้ระบบเช็กอิน (Check in) ด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR Code) เพิ่มมากขึ้น จึงมีคำเตือนให้ประชาชนในออสเตรเลียระมัดระวังเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของตน

ฟังรายงาน
LISTEN TO
New warnings as COVID-19 scammers target QR codes image

ระวังสแกมเมอร์หาประโยชน์จากเช็กอินผ่านคิวอาร์ โค้ด

SBS Thai

31/12/202009:55
ประชาชนในออสเตรเลียกว่า 5,000 คนตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงต้มตุ๋นที่เกี่ยวกับโควิด-19 ในปีนี้

รอยเท้าของเราบนโลกดิจิทัล ผ่านการเช็กอิน (Check in) ด้วยคิวอาร์ โค้ด (QR Code) หรือลงทะเบียนว่าเราได้ไปยังสถานที่ต่างๆ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมของผู้คนไปอย่างรวดเร็ว

เจ้าหน้าที่ติดตามผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ พึ่งพาเทคโนโยลีการเช็คอินทางดิจิทัลเหล่านี้ เพื่อระบุชี้และแจ้งให้แยกตัวจากผู้อื่นสำหรับผู้ที่อาจเป็นผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยัน

แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเตือนว่า หากเราไม่รู้ว่าเราได้ทิ้งข้อมูลทางดิจิทัลของเราไว้ที่ใดบ้าง อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงแก่ตัวเราเองได้

คุณเคท คาร์รัตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า สำหรับแอปพลิเคชันคิวอาร์ โค้ด ที่เป็นระบบเชิงพาณิชย์หรือมีเอกชนเป็นเจ้าของนั้น มีกฎระเบียบเพียงน้อยนิดในการป้องกันไม่ให้ข้อมูลตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ

“ทุกบริษัทอยู่ภายใต้กฎหมายด้านความเป็นส่วนตัวของเขตอำนาจรัฐที่บริษัทนั้นตั้งอยู่ แต่ปัญหาคือบริษัทเหล่านี้จำนวนมากอาจไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตอำนาจรัฐของประเทศเราเลย ดังนั้น คุณไม่รู้ว่าพวกเขาอยู่ที่ไหน พวกเขาอาจทำอะไรก็ได้กับข้อมูลของคุณ พวกเขาอาจอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก และคุณไม่รู้เลยว่าพวกเขาเป็นใคร” คุณเคท คาร์รัตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ กล่าว

คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย หรือ เอทริปเปิลซี ซึ่งเป็นองค์กรดูแลผู้บริโภคทั่วออสเตรเลีย กล่าวว่า นักหลอกลวงต้มตุ๋นหรือสแกมเมอร์กำลังฉวยโอกาสจากการแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรรัฐบาล โดยมักส่งข้อความมาทางโทรศัพท์มือถือที่มีลิงก์ซึ่งประสงค์ร้าย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลทางการเงินของผู้รับข้อความ
มีการแจ้งการหลอกลวงที่เกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนากว่า 5,000 กรณีในปีนี้ โดยเหยื่อได้แจ้งเข้ามาทางบริการสอดส่องการหลอกลวง สแกมวอตช์ (Scamwatch) โดยการหลอกลวงกว่า 5,000 กรณีเหล่านั้น ได้ทำให้เหยื่อสูญเสียเงินไปกว่า 6 ล้านดอลลาร์

นางดีเลีย ริกคาร์ด รองประธานของ เอทริปเปิลซี กล่าวว่า การหลอกลวงที่เกี่ยวกับโควิด-19 นั้น ส่วนใหญ่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาล หรือแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ติดตามผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ที่ติดต่อมา

“นักหลอกลวงต้มตุ๋นจะแสร้งว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาลและติดต่อคุณ โดยบอกว่าจะช่วยให้คุณเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้ และขอข้อมูลส่วนตัวมากมาย หรือติดต่อคุณมา โดยแสร้งทำเป็นว่าคุณได้ไปยังพื้นที่ที่มีการติดเชื้อโควิด และจากนั้นก็ขอข้อมูลส่วนตัวของคุณ นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเป็นห่วงมากที่สุดคือ หากอยู่ดีๆ ก็มีคนติดต่อคุณมา และคุณไม่รู้แน่ชัดว่าบุคคลนั้นเป็นใคร มิจฉาชีพนั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างที่สุดในการเสแสร้งว่ามาจากองค์กรต่างๆ ดังนั้น จึงอย่าให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณกับพวกเขา อย่าให้ข้อมูลทางการเงินแก่พวกเขาเด็ดขาด” นางริกคาร์ด รองประธานของ เอทริปเปิลซี ย้ำ

เธอแนะนำว่าให้ผู้ที่ได้รับข้อความทางโทรศัพท์ หรือได้รับโทรศัพท์ ให้วางสาย และติดต่อไปยังองค์กรนั้นโดยตรง

“เมื่อรัฐบาลติดต่อคุณ พวกเขาจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวมากมาย พวกเขาจะไม่ขอหมายเลขบัตรเครดิตหรือรายละเอียดบัญชีธนาคารของคุณ หากคุณคิดว่าอาจเป็นเจ้าหน้าที่ติดต่อมาจริง แต่คุณไม่แน่ใจ อย่าตอบข้อความที่ส่งมาทางโทรศัพท์มือถือ หรืออย่าโต้ตอบกับผู้ที่อยู่ดีๆ ก็ติดต่อคุณมา ให้คุณค้นหาหมายเลขโทรศัพท์และรายละเอียดสำหรับติดต่อขององค์กรนั้นเอง โทรศัพท์ไปหาพวกเขา (องค์กรนั้น) แล้วตรวจสอบกับพวกเขาโดยตรง” นางริกคาร์ด รองประธานเอทริปเปิลซี แนะนำ
ในปีนี้ มีการหลอกลวงที่เชื่อมโยงโดยตรงกับการใช้คิวอาร์ โค้ด เกิดขึ้นแล้ว 28 กรณี โดยเหยื่อสูญเงินไปกว่า 100,000 ดอลลาร์

เพื่อรับมือกับประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับระบบคิวอาร์ โค้ดที่เป็นระบบเชิงพาณิชย์หรือมีเอกชนเป็นเจ้าของระบบ รัฐและมณฑลต่างๆ ทั่วออสเตรเลีย ยกเว้น ควีนส์แลนด์ จึงได้นำแอปพลิเคชันเพื่อเช็กอินของรัฐบาลออกมาให้ประชาชนใช้

ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ สถานประกอบการทุกแห่งถูกกำหนดให้ต้องเปลี่ยนมาใช้ระบบของรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นไป

ในด้านความเป็นส่วนตัวแล้ว คุณเคท คาร์รัตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า ไม่น่ามีความแตกต่างมากนัก เนื่องจากรัฐบาลมีข้อมูลส่วนตัวของประชาชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง

“แอปพลิเคชันที่เป็นของรัฐบาลรัฐเหล่านี้ดีกว่ามาก เพราะอย่างน้อยคุณรู้ว่านิติบุคคลที่นำระบบคิวอาร์ โค้ดมาให้ใช้นั้นคือใคร เช่น ในนิวเซาท์เวลส์ มันจะนำคุณไปยัง เซอร์วิส นิวเซาท์เวลส์ (Service NSW) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่เป็นที่รู้จักกันดี ฉันคิดว่า สถานประกอบการต่างๆ ควรใช้แอปพลิเคชันของรัฐ เพราะ ก. มันจะง่ายกว่าสำหรับเจ้าหน้าที่ติดตามหาผู้พบปะใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ เพราะข้อมูลจะอยู่ในที่เดียว และ ข. รัฐบาลแต่ละรัฐมีข้อมูลของคุณทั้งหมดอยู่แล้ว แอปพลิเคชันไม่มีข้อมูลอื่นใดของคุณที่รัฐบาลไม่มี หากคุณเป็นเจ้าของธุรกิจ มันจะช่วยรักษาข้อมูลลูกค้าของคุณให้ปลอดภัยกว่าผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเอกชนที่เป็นใครก็ไม่รู้” คุณ คาร์รัตเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ อธิบาย
เอทริปเปิลซี เตือนว่า ประชาชนในออสเตรเลียจำเป็นต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้ เนื่องจากการหลอกลวงที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จะยังคงไม่ไปไหนในปีใหม่

นางดีเลีย ริกคาร์ด กล่าวว่า วัคซีนจะเป็นเป้าหมายใหญ่ต่อไป

“ในปี 2021 ฉันคิดว่า เราจะได้เห็นการหลอกลวงที่หลากหลาย เช่น การให้จ่ายเงินค่าวัคซีน การหลอกลวงว่าคุณจะสามารถได้รับวัคซีนก่อนใครในราคาที่ถูกมาก จะมีการหลอกลวงเกิดขึ้น แต่จะมีแหล่งข้อมูลจากทางการว่าคุณจะรับวัคซีนได้อย่างไร ดังนั้น จึงอย่าเชื่อข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต”

“อีกอย่างหนึ่ง ฉันแน่ใจว่าเราจะยังคงเห็นการหลอกลวงที่เกี่ยวกับการซื้อของออนไลน์ต่อไป เนื่องจากประชาชนได้เปลี่ยนมาซื้อของออนไลน์กันมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และมิจฉาชีพกำลังฉวยโอกาสจากจุดนี้ ปัญหานี้จะไม่หมดไปในเดือนหรือสองเดือนข้างหน้า”

 “และจะมีผู้ฉวยโอกาสจากความวิตกเกี่ยวกับโควิดของเราต่อไป และจะยังคงมีการหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณโดยเสแสร้งว่าจะช่วยเหลือคุณ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้คุณได้รับเงินสวัสดิการ หรือแกล้งบอกคุณว่าเกิดเหตุโควิดระบาดที่ใด เรื่องทำนองนี้ทั้งหมด” นางดีเลีย ริกคาร์ด รองประธานเอทริปเปิลซี เตือน
ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้ติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share