"พิมพ์พิศา” ศิลปินไทยเจ้าของ Sol Gallery ที่ให้โอกาสศิลปินหน้าใหม่ไฟแรง

Pimpisa 1 (2).jpg

พิมพ์พิศา ติณห์พลิศ ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวไทย เจ้าของ Sol Gallery ในย่าน Fitzroy Source: Supplied / Pimpisa Tinpalit

การเปิดแกลเลอรีในเมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งศิลปะอย่างเมลเบิร์นต้องใช้ความรู้และทักษะอะไรบ้าง ‘พิมพ์–พิมพ์พิศา ติณห์พลิศ’ ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวไทย เจ้าของ Sol Gallery ในย่าน Fitzroy เปิดประสบการณ์และฝากข้อคิดที่ตกผลึกมากว่า 8 ปี เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยสายอาร์ตที่ใฝ่ฝันอยากเป็นศิลปินหรือภัณฑารักษ์ในประเทศออสเตรเลีย


“เรารู้สึกว่า ถ้าเรามีโอกาส เราก็ควรเปิดโอกาสให้น้องๆ ศิลปินไทยหรือศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้มีโอกาสแสดงงานในเมลเบิร์น”

นี่คือมุมมองของ “พิมพ์–พิมพ์พิศา ติณห์พลิศ” อดีตอาจารย์ภาควิชามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้รอนแรมจากบ้านเกิดเมืองนอนมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในมหานครเมลเบิร์นเป็นระยะเวลากว่า 14 ปีแล้ว

จากแนวคิดข้างต้น พิมพ์ตัดสินใจเปิดแกลเลอรีและรับบทภัณฑารักษ์ด้วยตัวเอง โดยแกลเลอรีแห่งแรกชื่อว่า Blackcat Gallery ในย่าน Collingwood ก่อนจะย้ายมาปักหลักในย่าน Fitzroy โดยปรับโฉมใหม่เป็น Sol Gallery อย่างในปัจจุบัน
pimpisa 5.jpg
พิมพ์พิศามักไม่ปฏิเสธที่จะจัดนิทรรศการให้ศิลปินหน้าใหม่ Source: Supplied / Sol Gallery/ Bhavin Mettanant
Pimpisa Sol Gallery 4.jpg
“พิมพ์–พิมพ์พิศา ติณห์พลิศ” ศิลปินและภัณฑารักษ์ชาวไทย เจ้าของ Sol Gallery คุยกับผู้มาชมงานศิลปะ ในวันเปิดนิทรรศการงานศิลปะต่างๆ Source: Supplied / Bhavin Mettanant
Pimpisa Sol Gallery 3.jpg
งานศิลปะหลากหลายที่จัดแสดงใน Sol Gallery Source: Supplied / Bhavin Mettanant

แม้แกลเลอรีในเมลเบิร์นจะมีหลายร้อยแห่ง แต่ Sol Gallery ก็มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในหมู่ศิลปินและนักสะสมในฐานะแกลเลอรีที่เชี่ยวชาญผลงานของศิลปินออสเตรเลียและศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ

“เหตุผลแรกคือ เราอยู่เมลเบิร์น เราก็เลยอยากสนับสนุน local artist เหตุผลที่สองคือ ผลงานของศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มักเป็นเป็นการเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องของตัวเอง สภาวะอารมณ์ หรือสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากศิลปินส่วนใหญ่ในออสเตรเลียที่มักเป็นแนว abstract เวลาเราจัดงานศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนี่ย ไม่ใช่แค่นักสะสมมาดูงาน แต่ศิลปินก็ชอบมาดูเทคนิคและรับแรงบันดาลใจจากแนวคิดต่างๆ”

อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ Sol Gallery แตกต่างจากแกลเลอรีอื่นๆ ในเมลเบิร์นคือ พิมพ์มักไม่ปฏิเสธที่จะจัดนิทรรศการให้ศิลปินหน้าใหม่ ถ้าจะปฏิเสธก็มีเพียงว่า ตอนนี้ดูแล้วยังไม่พร้อม ไปทำงานมาเพิ่มก่อน ไปปรับตรงนั้นตรงนี้มาก่อน แล้วค่อยกลับมาใหม่ เพราะอย่างนี้ จึงมีศิลปินแจ้งเกิดที่ Sol Gallery จำนวนไม่น้อย

“ถ้าเขาไม่มีครั้งแรก เขาก็ไม่มีครั้งต่อไป ถ้าสมมติเราไปตัดไฟเขาว่ายังไม่พร้อมหรอก ไฟมันอาจจะดับไปเดี๋ยวนั้น ถึงเขาอาจจะไม่ได้ขายได้ที่นี่ เขาก็อาจจะไปขายได้ที่อื่นก็ได้ อย่างน้อยเขาจะจำได้ว่า เราช่วยไกด์เขา เราช่วยจัดโชว์ให้เขา”
Pimpisa Sol Gallery 6.jpg
Sol Gallery มีนิทรรศการที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุก 2 สัปดาห์ Source: Supplied / Sol Gallery/ Bhavin Mettanant
Pimpisa Sol Gallery 7.jpg
ผู้ชมผลงานศิลปะที่พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันระหว่างชมงานที่ Sol Gallery Source: Supplied / Bhavin Mettanant
นอกจากการจัดนิทรรศการที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุก 2 สัปดาห์ Sol Gallery ยังจัดโปรแกรมศิลปินในพำนัก(artist-in-residency) ร่วมกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและเกาหลีมาหลายปีแล้ว นับเป็นสะพานเชื่อมให้ศิลปินได้ไปใช้ชีวิตและสร้างสรรค์ผลงานในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ ตลอดจนไปแบ่งปันและแลกเปลี่ยนความรู้ แนวคิด เทคนิคให้กับนักเรียนและศิลปินในประเทศนั้นๆ

อีกกิจกรรมหนึ่งที่ Sol Gallery ทำต่อเนื่องคือการพาศิลปินในความดูแลไปจัดแสดงผลงานตาม art fair ซึ่งพิมพ์บอกว่า ไม่ว่าจะไปที่ไหน เธอมักจะพาศิลปินชาวไทยไปด้วยอย่างน้อย 1 คนเสมอ

ทั้งหมดที่พิมพ์ทำสะท้อนความคิดความเชื่อของเธอที่ว่า ถ้าเธอมีโอกาส เธอก็ควรส่งต่อโอกาสให้คนอื่นด้วย

ตามไปฟังประสบการณ์และแนวคิดของพิมพ์ในบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่นี่
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai

Share