ผลสำรวจเผยเด็กในออสฯ ต้องประสบปัญหาด้านการเงิน เศรษฐกิจ และภาษา

Boy on housing estate, portrait

เด็กผู้ชายยืนอยู่หน้าบ้านเอื้ออาทร Source: Stone RF

อาจมีเด็กที่เกิดในออสเตรเลียกว่าครึ่งล้านคนที่ต้องเกิดมาประสบกับความยากจนใน 10 ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการเร่งด่วน จากผลการสำรวจความด้อยโอกาสที่ส่งผลกระทบโดยรวมล่าสุด โดย คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของออสเตรเลีย (Committee for Economic Development of Australia หรือ CEDA)


คุณแดนยูล มัลบาซา เติบโตในออสเตรเลียโดยเสียเปรียบด้านการเงิน เศรษฐกิจ และภาษา ในตอนที่เขาอายุ 13 ปี เขาหนีจากความขัดแย้งจากสาธารณรัฐเช็ก มาที่ออสเตรเลียกับครอบครัวของเขาที่ไม่พูดภาษาอังกฤษแม้แต่คำเดียว และมีเงินเพียงเล็กน้อย

คุณแดนยูลรู้สึกว่าไม่ได้รับการช่วยเหลือและถูกมองข้าม รู้สึกว่าถูกจำกัดให้อยู่ในเขตที่ยากจน ในย่านชานเมืองแถบตอนเหนือของเมืองอะดิเลด
ผมรู้ว่าเสียเปรียบมากกว่าคนอื่นๆ หลายอย่าง และผมต้องทำงานมากกว่าเด็กคนอื่นสี่ถึงห้าเท่า ผมจึงคิดว่า คุณต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองมากๆ เพื่อที่จะเอาชนะความด้อยโอกาสทางสังคมที่ฝังรากลึกเหล่านี้ได้
ในปัจจุบัน 17.7 เปอร์เซ็นต์ของเด็กในออสเตรเลียที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความยากจน

ผลการสำรวจความด้อยโอกาสที่ส่งผลกระทบ โดยคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจของออสเตรเลีย (Committee for Economic Development of Australia - CEDA) พบว่า ออสเตรเลียต้องเปลี่ยนวิธีระบุและให้การช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาส เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กจำนวนครึ่งล้านต้องประสบกับความยากจนในทศวรรษหน้า

คุณจาร็อด บอล (Jarrod Ball) ผู้บริหารด้านเศรษฐศาสตร์ของซีด้า (CEDA) กล่าวว่า ผู้ที่เติบโตมาด้วยความยากจนในวัยเด็ก มีแนวโน้มที่จะประสบความยากจนในวัยผู้ใหญ่มากกว่าสามเท่า

“ผมคิดว่าหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดคือ เราทราบว่าการแทรกแซงในช่วงแรกมักจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด แต่แน่นอนว่า หลายคนหลุดรอดออกไปได้ เราช่วยเหลือไม่เร็วพอ และเราจบลงที่ หลายคนต้องวนเวียนอยู่ในระบบยุติธรรมและระบบอื่นๆ ที่คับแคบและเข้มงวด นั่นไม่ได้ช่วยฟื้นฟูหรือทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี”
คุณเวนดี้ ฟิลด์ส (Wendy Fields) ประธานฝ่ายนโยบายและโครงการของ เดอะ สมิท แฟมิลี (The Smith Family) องค์กรการกุศลสำหรับเด็กที่ให้การช่วยเหลือเด็กในออสเตรเลียที่ด้อยโอกาส ในการเข้าถึงการศึกษา เธอกล่าวว่าเด็ก 1 ใน 3 ที่ต้องเติบโตมาในครอบครัวที่ยากจน จะประสบกับปัญหาในการเติบโต เมื่อเริ่มเข้าเรียน

“ช่องว่างเรื่องของการศึกษานั้นเพิ่มขึ้นจริงๆ เมื่อเด็กที่ด้อยโอกาสอายุถึง 15 ปี พวกเขาอาจมีช่องว่างถึง 3 ปี ในการตามเพื่อนให้ทันเรื่องเรียน และนั่นส่งผลชัดเจนในเรื่องของความสามารถในการจบการศึกษาปีที่ 12 และหากคุณไม่จบการศึกษาอย่างน้อยปี 12 โอกาสในการหางานจะจำกัดมากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตในระยะยาว และนั่นสร้างวงจรของการด้อยโอกาสขึ้นมาใหม่”

Children in classroom
เด็กๆ ในห้องเรียน Source: Pexels/Rodnae Productions


เธอกล่าวว่า การต้องประสบกับความยากจนนั้นมีปัจจัยเสี่ยงตามธรรมชาติ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ปัจจัยกำหนด

“ 20 เปอร์เซ็นต์ของเด็กๆ และครอบครัวที่เราให้ความช่วยเหลือ เป็นชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส เรามีเด็กและครอบครัวที่มีปัญหาด้านสุขภาพหรือทุพพลภาพ ครอบครัวที่ไม่มีผู้ใหญ่ในบ้านที่ทำงาน พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้ปกครองที่ไม่จบการศึกษามากกว่าปี 11 และปี 12 หรือมากกว่านั้น”

คุณบอลกล่าวว่า ผลการสำรวจระบุถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจที่สูงขึ้นในกลุ่มชุมชนชายขอบ

“เรายังคงพบว่าหลายคนในชุมชนเหล่านี้หลุดรอดจากระบบ เพราะพวกเขาไม่มีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงาน ในบางพื้นที่ พวกเขาไม่ไปพบแพทย์จีพี (GP) หรือไม่ถูกส่งตัวไปรับบริการอื่นๆ และพวกเขาอาจมีปัญหาในการมีส่วนร่วม เราจึงต้องการที่จะเห็นแนวทางเชิงรุกมากขึ้นเพื่อให้ผู้คนที่ไม่ได้รับบริการหรือการช่วยเหลือในตอนนี้เข้ามามีส่วนร่วม และพยายามให้การบริการและความช่วยเหลือในเบื้องต้นให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยผู้คนเหล่านี้”


สำหรับคุณแดนยูล มหาวิทยาลัยไม่เคยเสนอทางเลือกให้แก่เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ในละแวกที่ด้อยโอกาส

“ปัญหาความยากจนในออสเตรเลียนั้นไม่ใช่แค่เรื่องเงิน มันยังเป็นเรื่องของการขาดเครือข่าย ไม่มีใครเปิดโอกาสให้คุณ ผมไม่ได้ไปเรียนในโรงเรียนเอกชน ที่มีสโมสรสำหรับสุภาพบุรุษ พวกเขาสามารถช่วยสร้างเครือข่ายให้คุณได้ตลอดชีวิต คุณต้องหาเครือข่ายเหล่านั้นด้วยตัวเอง และหากคุณไม่มี คุณจะหลุดจากระบบ และคุณจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ นั่นคือความเป็นจริงของปัญหาความยากจนในประเทศนี้ คือการที่เราแสร้งว่ามันไม่มีอยู่จริง แต่มันมี”

ผลการสำรวจยังเสนอแนวทางจัดหาเงินทุนเพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ด้อยโอกาส เพื่อช่วยรวบรวมข้อมูลในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะของพวกเขา

คุณบอลกล่าวว่า ระบบของออสเตรเลียในการให้ความช่วยเหลือครอบครัวที่ยากจนนั้นไม่เป็นระบบและไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

“มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการได้รับข้อมูลที่ดีขึ้น เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น หนึ่งในสิ่งที่เป็นเสียงตอบรับที่เราได้รับเป็นประจำคือ พวกเขาไม่เข้าใจระดับความต้องการหรือบริการที่ดีที่สุดเฉพาะสำหรับท้องถิ่น”
mother her daughter studying
แม่และลูกสาวที่กำลังทบทวนบทเรียน Source: Pexels/August de Richelieu
ในปี 2015 ออสเตรเลียให้คำมั่นต่อองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ว่าจะลดจำนวนประชากรที่ยากจนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เพื่อดำรงเป้าหมายในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน

ในปี 2021 สัดส่วนของประชากรออสเตรเลียที่ยากจนยังคงอยู่ที่ 13 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงสามในสี่ของเด็ก 1 ล้านคน

คุณแดนยูลกล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนั้น มาจากการที่รัฐบาลลงทุนให้แก่โรงเรียน การให้คำปรึกษา และการขจัดการตีตราของเด็กที่ยากจน ที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจและการศึกษาได้

“มันเป็นสิ่งที่ยากจริงๆ สำหรับพวกเรา ชนชั้นแรงงานที่จะอธิบายปัญหาที่เราประสบ สิ่งที่เราผ่านมา และสิ่งที่ต้องการ และผมคิดว่าเราควรเป็นศูนย์กลางของการอภิปรายปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่คนที่จะเป็นคนดึงเราลงมา เราถูกผลักลงมามากพอแล้ว เราควรถูกผลักดันให้ไต่ขึ้นไปได้”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share