สาวไทยบริสเบน หนึ่งเดียวบนเวทีเพาะกาย

Chomphunake Roweth Thai bodybuilder

Source: Chomphunake Roweth

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

คุณชมพูเนกข์ โรเวธ หรือโปรยุ้ย สาวไทยหนึ่งเดียวในเวทีประกวดเพาะกายที่บริสเบน กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เธอต้องผ่านอะไรมาบ้าง


กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์แบบเต็ม

กีฬาเพาะกาย เป็นหนึ่งในกีฬาที่ผู้เล่นต้องอุทิศร่างกายตัวเองเพื่อการฝึกซ้อมอย่างหนัก ควบคุมอาหาร การออกกำลังกายและการใช้ชีวิตทั้งหมด เพื่อปรับเปลี่ยนรูปร่างให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ


  • ความเป็นมาก่อนจะมาเป็นนักกีฬาเพาะกาย
  • ความรู้สึกหลังได้รางวัลที่ 1 ในการประกวดที่บริสเบน
  • เคล็ดลับการรักษารูปร่างของคนทั่วไป

Chomphunake Roweth
Chomphunake Roweth Source: Chomphunake Roweth
คุณชมพู​เนกข์​  โรเวธ หรือโปรยุ้ย คนไทยที่หลงไหลกีฬาเพาะกาย จนกระทั่งได้แชมป์การแข่งขันเพาะกายที่นครบริสเบน ในปีที่ผ่านมา

คุณชมพู​เนกข์​ บอกว่าจุดเริ่มต้นของการเป็นนักกล้ามของเธอนั้น เริ่มต้นที่ศูนย์ฟิตเนสใกล้ๆ กับโรงเรียนของเธอ

“ตอนที่มาออสเตรเลียใหม่ๆ ภาษาอังกฤษก็ยังไม่ดี แล้วโรงเรียนอยู่ติดยิมน่ะค่ะ แล้วจะมีเวลา 2 ชั่วโมงระหว่างคลาสเช้ากับคลาสบ่าย แล้วตัวเองเนี่ยไม่รู้จะคุยกับใครเลยค่ะ ก็เลยไปสมัครเป็นเมมเบอร์ที่ยิม”

หลังคุณชมพู​เนกข์​เริ่มออกกำลังกายไปได้สักระยะเวลาหนึ่ง เธอพบว่าร่างกายของเธอนั้นแข็งแรงขึ้นก็จริง แต่น้ำหนักกลับเพิ่มขึ้นและไม่ได้ดูดีอย่างที่เธอคิดไว้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้เทรนเนอร์เพื่อสอนการออกกำลังกายและควบคุมอาหารอย่างจริงจัง จนวันหนึ่งเทรนเนอร์ของเธอนั้นได้ชักชวนให้เธอไปลองลงแข่ง

“พอเริ่มประกวดครั้งที่ 1 ยังไม่ได้ตำแหน่ง ก็ยังไม่ได้อะไร อาจจะรู้สึกเสียใจนิดๆ แต่ก็เป็นแรงผลักดัน ว่าครั้งหน้าเราจะต้องรับถ้วย เราจะต้องชนะบ้าง หลังจากนั้นก็เริ่มเตรียมตัวมากขึ้น มากขึ้น ก็เริ่มชนะ (การประกวด) มาเรื่อยๆ ค่ะ ได้ที่ 5 ที่ 4 ที่ 3 ที่ 2 จนมาถึงครั้งล่าสุดได้ที่ 1 แล้วก็วินโปรการ์ดค่ะ”
Chomphunake Roweth
Chomphunake Roweth Source: Chomphunake Roweth
จากวันแรกที่คุณชมพู​เนกข์เริ่มออกกำลังกายในฟิตเนสกระทั่งถึงวันที่ได้รับรางวัลที่ 1 ในการแข่งขัน INBA National Pro Qualifier 2019 ที่นครบริสเบน  เธอใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี โดยก่อนหน้าที่จะมาอยู่ประเทศออสเตรเลียนั้น เธอไม่เคยเล่นกีฬาเพาะกายมาก่อน

“ไม่เคยเล่นกล้ามมาก่อนเลยค่ะ ตอนอยู่ประเทศไทยเล่นโยคะ เป็นนักบาสมหาวิทยาลัยมหิดล ก็คือจะคนละเรื่องกับนักกล้ามเลยค่ะ”

ความรู้สึกหลังจากได้รับรางวัลที่ 1 ในฐานะคนไทยเพียงคนเดียวบนเวทีประกวดนั้น คือความภูมิใจในความสำเร็จและดีใจที่เธอสามารถเอาชนะตัวเองได้

“รู้สึกชนะตัวเองค่ะ คือการเล่นกล้ามเนี่ย บนเวทีเราแข่งกับคนอื่นแน่นอน เพราะว่ามันเป็นการแข่งขัน เรามีผู้เข้าแข่งขันมากกว่าเราคนหนึ่ง แล้วเราก็แข่งกับคนอื่น แต่ลึกๆ แล้วในใจเราน่ะค่ะ เราแข่งกับตัวเอง เพราะว่าไม่ว่าการไดเอทครั้งไหน เราก็อยากออกให้มันดีกว่ารอบที่แล้ว อย่างตอนแข่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว กับก่อนหน้านั้น เราก็จะเปรียบเทียบร่างกายเรากับการแข่งขันก่อนหน้านั้น ว่า โอโห กล้ามเรามาเยอะกว่าเดิมเลย เราลีนมากขึ้น”

“แล้วพอเราไปชนะบนเวที ไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นยังไงนะ แต่พี่กระหายชัยชนะ เวลาเราชนะฝรั่ง เพราะเราเป็นเอเชียไง เราเป็นคนหัวดำอยู่บนเวที ไม่ได้พูดภาษาเขา แต่เราชนะเขา คือมันเป็นความรู้สึกที่คุ้มค่า มันสะใจว่าเราทำได้ แล้วการที่เราเป็นคนไทย พอเขาถามว่ามาจากที่ไหน เราบอก Thailand เรารู้สึกภูมิใจที่เราเป็นคนไทย แล้วเราก็ยืนในจุดที่ชนะออสซี่หลายๆ คน”
Chomphunake Roweth
Chomphunake Roweth Source: Chomphunake Roweth
คุณชมพู​เนกข์ฝากทิ้งท้าย สำหรับคนที่อยากจะออกกำลังกายเพื่อรักษารูปร่างให้ดีบ้าง โดยเธอย้ำว่าเคล็ดลับอยู่ที่อาหารและการใช้ชีวิต

“อันดับหนึ่งที่จะช่วยให้เราควบคุมหุ่นหรือรูปร่างของเราได้ หรือต้องการลดไขมันลงได้ มันคืออาหาร จำไว้เลยว่าไดเอทเนี่ยสำคัญมากค่ะ กินยังไงก็ได้ให้แคลอรี่เข้าเนี่ยมันน้อยกว่าแคลอรี่ออก แล้วอาหารที่กินเข้าไปต้องมีคุณภาพ คำว่าคุณภาพก็คือต้องครบ macronutrients (สารอาหารหลัก) เช่น มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต แล้วก็ไขมัน ซึ่งแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป ตามเพศ อายุ การใช้พลังงานในแต่ละวัน การนอนหลับ ระบบเผาผลาญ”

“เมื่อไหร่ที่เรากินอาหารที่มีคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสม เมื่อนั้นเราจะสามารถลดไขมันได้อย่างยั่งยืน พี่ใช้คำนี้เพราะอยากจะบอกหลายๆ คนมาก เราอยู่วงการนี้มานาน พี่ก็ผ่านการลดน้ำหนัก กินยาลดความอ้วน ดูดไขมัน นวดสลายไขมัน กินอาหารเสริม พี่ผ่านมาหมดแล้วค่ะ แต่มันไม่ยั่งยืน ตราบใดที่เราไม่สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของเราได้ เราไม่สามารถเปลี่ยจากการกินอาหารขยะมากินอาหารที่มีคุณภาพได้ เราไม่สามารถลุกมาออกกำลังกาย ไปยิมได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไม่ใช่ภาระของชีวิต เมื่อใดที่เราทำให้มันเป็นภาระของชีวิต มันไม่มีทางยั่งยืนค่ะ”

กดปุ่ม 🔊 ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังสัมภาษณ์แบบเต็ม

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share