ยอดฮิตอันดับ 1: บอกเคล็ดลับสอบซิติเซ่นให้ได้ 100%

เรื่องยอดฮิตอันดับ 1 ของปี 2021 บอกเคล็ดลับสอบซิติเซ่นให้ได้ 100%

เรื่องยอดฮิตอันดับ 1 ของปี 2021 บอกเคล็ดลับสอบซิติเซ่นให้ได้ 100% Source: Pixabay/Unsplash

เรื่องยอดฮิตอันดับ 1 ของปี 2021 คนไทยที่สอบซิติเซ่นได้เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ คุณ (ต้น) ชัยพร สาสนะ และคุณ (ปุ๊ก) สุทธินี สันติวัฒนาให้สัมภาษณ์เอสบีเอสไทยถึงเคล็ดลับในการเตรียมตัว การทำแบบทดสอบออนไลน์ และความคิดเห็นเรื่องข้อสอบเพื่อเป็นพลเมืองของออสเตรเลีย


กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
Top hit interview 2021 number 1 image

ยอดฮิตอันดับ 1: บอกเคล็ดลับสอบซิติเซ่นให้ได้ 100%

SBS Thai

20/12/202121:16
คุณชัยพร (ต้น) สาสนะ อยู่ในออสเตรเลียมา 13-14 ปี เพิ่งสอบเป็นพลเมือง (Citizen) ไป เริ่มแนะนำตั้งแต่การเตรียมเอกสาร โดยคุณต้นเล่าว่าพอถือพีอาร์ (Permanent Resident – PR) ได้ครบ 1 ปีก็สมัครซิติเซ่น
Chaiyapron Sasana
คุณชัยพร (ต้น) สาสนะ Source: Chaiyapron Sasana
คุณต้นเล่าว่ามี 5 เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียม

“เรื่องแรกก็คือเอกสารยืนยันการกำเนิด (Evidence of date of birth and birth name)  นะครับ ในส่วนนี้จะเป็นใบเกิดที่ไทยของเราเลย อันที่สองก็จะเป็นทะเบียนบ้านที่ไทย”

“ผมให้ทางบ้านส่งเอกสารแบบ EMS มาให้ที่นี่ พอส่งมาแล้วผมจะต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย เพราะผมจะต้องแสดงเอกสารฉบับจริงและฉบับแปลให้คนที่สัมภาษณ์เรา ในวันที่เราไปสอบดู”

สองคือเอกสารหากเรามีการเปลี่ยนชื่อ (Evidence of Name Change)  สามคือเอกสารที่มีรูปและลายเซ็น (Document with Photograph and Signature)

“ผมใช้พาสปอร์ต บัตรประชาชนไทย และใบขับขี่ในออสเตรเลีย (Australian Driver License) หากใครไม่มีใบขับขี่ก็สามารถใช้เอกสารยืนยันอายุ (Proof of Age) ได้ครับ”

และเอกสารยืนยันที่พักอาศัย (Evidence of Residential Address)

“จดหมายที่เป็นบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส หรือว่าจดหมายจากธนาคาร”

ส่วนที่ห้า คือเอกสารยืนยันการมาถึงออสเตรเลีย (Evidence of First Arrival)

“จะใช้ในส่วนของพาสปอร์ตหรือตั๋วเครื่องบินก็ได้ครับ”

คุณต้นกล่าวว่า เขาเตรียมเอกสารให้พร้อมไว้ เผื่อพนักงานขอดู ในส่วนของการเตรียมตัวสอบนั้น คุณต้นอ่านหนังสือ Our Common Bond ซึ่งเป็นเอกสารสำหรับเตรียมการสอบ และฝึกทำข้อสอบผ่านแอปพลิเคชั่น หรือตามเว็บไซต์ที่มีข้อสอบซิติเซ่น (Citizenship Test) ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับการเตรียมการสอบ คุณต้นกระซิบว่า พาร์ท (Part) ที่คิดว่ายากคือพาร์ทที่สาม
จะเรียกว่าเยอะดีกว่าครับ เรื่องการปกครองและกฎหมาย (Government and Law) น่ะครับ เพราะว่าแยกเป็น 3 ระดับ ระดับสหพันธรัฐ (Federal Government) ระดับรัฐ (State Government) และเขตเทศบาล (Local Government) ในแต่ละระดับมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกันไป มีกฎหมายที่ใช้แยกกัน ไม่เหมือนกัน
ส่วนตัวแล้วคุณต้นชอบพาร์ทที่หนึ่ง เรื่องของคนออสเตรเลียและประวัติศาสตร์

“ผมชอบพาร์ทที่หนึ่งมาก ผมเริ่มมารู้จักกับแผนที่ออสเตรเลีย รัฐ (State) ไหนอยู่ตรงไหนบ้าง และผมได้รู้ประวัติของออสเตรเลีย รู้ว่าประเทศนี้มีชาวอะบอริจิ้นที่เป็นชนพื้นเมืองที่เก่าแก่ เหมือนดูภาพยนต์ประวัติศาสตร์เรื่องนึง”

คุณต้นคิดว่าเรื่องประชาธิปไตย สิทธิ และเสรีภาพ ในออสเตรเลีย มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทย
การที่เราเป็นประชาธิปไตยจากประเทศไทย มาอยู่ในเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ก็จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ก็เข้าใจอยู่แล้วว่าทุกคนต้องเคารพกฎหมาย เคารพคนอื่น ในเรื่องของการประท้วง เราก็สามารถทำได้ ก็คล้ายๆ กับประเทศไทยครับ
อีกท่านหนึ่ง คุณสุทธินี (ปุ๊ก) สันติวัฒนา เล่าว่าเริ่มเตรียมตัวสอบด้วยการอ่านหนังสือ Our Commond Bond และค้นหาข้อมูลข้อสอบจากอินเทอร์เน็ต เพื่อลองฝึกทำ และแนะนำว่าหากมีเวลา การอ่านหนังสือเตรียมสอบพลเมืองเป็นสิ่งที่ดี
Sutinee Suntivatana
คุณสุทธินี (ปุ๊ก) สันติวัฒนา Source: Sutinee Suntivatana
“สุดท้ายแล้วความรู้เกี่ยวกับออสเตรเลีย การที่เราจะเป็นพลเมืองของประเทศนี้ เราควรที่จะมีความรู้รอบตัวด้วย”

คุณปุ๊กบอกว่า พาร์ทที่คิดว่ายากคือพาร์ทของเรื่องการเมืองการปกครอง และการอ่านในส่วนนี้ทำให้มีความเข้าใจในระบบของออสเตรเลียมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีระบบที่ต่างกัน

“เพราะมันจะมีกฎว่ารัฐแต่ละรัฐมีกฎไม่เหมือนกัน เราต้องแยกให้ออก ต้องพยายามจำตัวเลขแล้วก็ศึกษาตรงนี้ให้เข้าใจ”
บางคนอาจจะไม่สนใจเรื่องการเมือง แต่พี่คิดว่าสุดท้ายแล้วการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน เพราะฉะนั้นเราทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้ เราควรที่จะต้องรู้ด้วย ถ้าเราอยากจะเป็นพลเมืองของที่นี่ เราควรจะรู้และศึกษาไว้
คุณปุ๊กยังมีความเห็นในการกำหนดให้ผู้ที่สอบเป็นพลเมืองออสเตรเลียต้องตอบคำถามพาร์ทของค่านิยมออสเตรเลีย (Australian Values) ให้ถูกหมดทุกข้อว่า
ออสเตรเลียเนี่ยเป็นประเทศที่เป็นพหุวัฒนธรรม (Multicultural) การที่เราทุกคนรู้กฎของที่นี่และเคารพ (Respect) วัฒนธรรมของแต่ละคนได้ และอยู่รวมกันในสังคมโดยไม่มีปัญหา มันเป็นเรื่องที่สำคัญ ออสเตรเลียเนี่ยเค้าให้ความสำคัญกับบุคคลค่อนข้างมาก สิทธิเสรีภาพค่อนข้างมาก แม้แต่การประท้วงยังมีในข้อสอบ เราสามารถประท้วงได้นะ แต่จะต้องเคารพคนอื่นด้วย ไม่ทำลายข้าวของ ไม่ทำร้ายร่างกาย
เนื่องจากประเทศไทยมีวัฒนธรรมและสังคมที่แตกต่าง การอยู่ออสเตรเลียทำให้คุณปุ๊กมีมุมมองที่ต่างออกไป

“คนไทยจะแบบไม่เป็นไรๆ ถ้ามีอะไรที่ไม่ถูกต้อง บางคนอาจจะปลอบใจเราว่า ชาติที่แล้วเราคงไปทำเค้าไว้มั้ง หรือไม่เป็นไรหรอกเดี๋ยวกรรมก็ตามสนองเค้าเอง ซึ่งความจริงบางอย่างมันไม่ถูกต้อง ผิดก็คือต้องผิด ต้องถูกลงโทษ ทำให้เราก็คิดต่าง เราค่อนข้างที่จะสบายใจเวลาที่เราอยู่ออสเตรเลีย เราสามารถที่จะพูดได้ ออกความคิดเห็นได้ เราไม่ได้คิดต่างจากเดิมนะ เราอยู่เมืองไทยเราก็คิด แต่เราอาจจะเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า”

คุณปุ๊กคิดว่า ทำให้เข้าใจคนออสเตรเลียได้มากขึ้น

“แน่นอน ถ้าเราเข้าใจถึงการใช้ชีวิต เข้าใจถึงวัฒนธรรม การที่คนมาจากหลากหลายประเทศ มาอยู่ทีนี่ เราเรียนรู้วัฒนธรรมของกันและกัน พี่คิดว่า มันทำให้เราเข้าใจและมีความสุขกับการอยู่ในประเทศออสเตรเลียมากขึ้น”


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share