ความรุนแรงในบ้านช่วงวิกฤตไวรัสที่ผู้หญิงวีซ่าชั่วคราวต้องเผชิญ

Sad teen crying after read phone message

Sad teen crying after read phone message Source: Antonio Guillem/GettyImages

ตัวแทนด้านปัญหาความรุนแรงในครอบครัว กำลังแสดงความกังวลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังกลายเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราว และกำลังเผชิญกับปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งถูกปิดกั้นโอกาสในการเข้าถึงบริการสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ เนื่องจากข้อจำกัดบนวีซ่า


กดปุ่ม 🔊ที่ภาพด้านบนเพื่อฟังรายงาน

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของออสเตรเลีย พบว่า ในช่วงเวลาปกติ ผู้หญิง 3 ใน 10 ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ประสบกับความรุนแรงทางเพศและร่างกาย

คุณมีคาล มอร์ริส จากอินทัช (inTouch) ศูนย์พหุวัฒนธรรมเพื่อต่อต้านความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่า ความเครียดที่เกิดขึ้นในครอบครัวในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโทรศัพท์มาขอความช่วยเหลือมากขึ้น ผู้จัดการกรณีและนักกฎหมายผู้อพยพย้ายถิ่น กำลังทำงานอย่างหนักในการให้ความช่วยเหลือทางไกลสำหรับผู้หญิงในจำนวนที่มากกว่าปกติ

"เนื่องจากสถานภาพการจ้างงานที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วสำหรับหลายคน ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราวที่ตกงานนั้น ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านสวัสดิการรัฐจากเซนเตอร์ลิงก์ และไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินจากโครงการช่วยเหลือใด ๆ ของรัฐบาลสหพันธรัฐในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา ดังนั้น เราจึงพบผู้หญิงจำนวนมากที่เผชิญกับความรุนแรงในบ้าน และต้องการความช่วยเหลือยอย่างเร่งด่วน พวกเธอไม่มีรายได้ ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินซื้ออาหารและจ่ายค่าเช่าได้จากที่ไหน และกังวลถึงความปลอดภัยของตัวเอง" คุณมีคาล มอริส กล่าว

ดร.รุจิตา รุจิตา ผู้จัดการกรณีจากศูนย์อินทัช กล่าวว่า ผู้หญิงซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยและผู้อพยพย้ายถิ่นนั้น ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ เพราะความอับอาย และกลัวว่าจะถูกตีตรา นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลว่า เหยื่อความรุนแรงหลายคนอาจไม่สามารถเดินทางกลับไปยังประเทศบ้านเกิดได้ เนื่องจากทุนทรัพย์ที่จำกัด มาตรการปิดพรมแดน และความกลัวที่จะถูกเนรเทศออกจากชุมชนในบ้านเกิดของตนเอง

เช่นเดียวกับผู้หญิงรายหนึ่ง ที่หลบหนีความรุนแรงพร้อมกับลูกอีก 3 คน แต่สุดท้ายต้องกลับไปอยู่กับผู้กระทำเช่นเดิม เนื่องจากไม่มีเงินพอที่จะเลี้ยงดูลูก ๆ

"ฉันคิดว่าเธอยอมสละความปลอดภัยของตัวเอง แต่เธอเหลือทางเลือกไม่มากนัก" ดร.รุจิตา รุจิตา จากศูนย์อินทัช กล่าว

ในฐานะหน่วยงานพหุวัฒนธรรม ที่ให้ความช่วยเหลือผู้เผชิญความรุนแรงในครอบครัวเพียงแห่งเดียวในออสเตรเลีย พร้อมบริการด้านกฎหมายแบบเคลื่อนที่ ผู้ที่ติดต่อมายังศูนย์อินทัชประมาณร้อยละ 40 นั้น เป็นผู้ถือวีซ่าชั่วคราว ระหว่างปี 2018 – 2019

คุณมอร์ริส ได้เตือนว่า มีความรุนแรงรูปแบบใหม่ ที่ผู้กระทำจะใช้วิกฤตไวรัสโคโรนาเป็นเครื่องมือ โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่มีความรู้ภาษาอังกฤษน้อย และรับรู้ข่าวสารต่าง ๆ ได้จากผู้กระทำความรุนแรงเพียงผู้เดียวในช่วงมาตรการล็อกดาวน์

"นั่นทำให้ผู้หญิง ซึ่งก่อนหน้านี้ก็รู้สึกไม่ปลอดภัยทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และสุขภาพจิตอยู่แล้ว มีความกังวลและต้องการความช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม และวิกฤตไวรัสครั้งนี้ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นไปอีก" คุณมอร์ริส กล่าว

คุณมอร์ริสกล่าวอีกว่า คำจำกัดความของความรุนแรงในครอบครัวได้ขยายขอบเขตออกไปมากขึ้น หลังมีการตั้งคณะกรรมาธิการไต่สวนในพระองค์ที่รัฐวิกตอเรีย ปัจจุบัน ความรุนแรงในครอบครัวนั้น ครอบคลุมถึงพฤติกรรมรูปแบบอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำร้ายร่างกายโดยคู่ครอง และสมาชิกในครอบครัว

"หากผู้หญิงประสบกับความรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าจะด้านในก็ตาม ทั้งด้านอารมณ์ การเงิน สุขภาพจิต ความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศ หากพวกเขาถูกข่มขู่ถึงชีวิตของตนเองและลูก ๆ นั่นแปลว่า พวกเขากำลังประสบกับความรุนแรงในครอบครัว และสามารถขอความช่วยเหลือได้" คุณมอร์ริส กล่าว

คุณนิเลช นันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่น กล่าวว่า เหยื่อความรุนแรงบนวีซ่าชั่วคราวที่ตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ที่พัวพันกับความรุนแรง จำเป็นที่จะต้องมีหลักฐานสนับสนุนสำคัญ 2 ฉบับ จากนักสังคมสงเคราะห์ จากแพทย์ทั่วไป (GP) จากนักจิตวิทยา หรือจากตำรวจ ในการออกจากวีซ่าผู้ติดตาม (Dependent Visa) เพื่อตัดขาดความสัมพันธ์จากผู้ก่อความรุนแรง

"แน่นอนว่า สิ่งหนึ่งสำหรับผู้ที่พบเจอกับความรุนแรงต้องการ ก็คือการเดินทางกลับบ้าน แต่นั่นเป็นเรื่องยาก เพราะมาตรการล็อกดาวน์ยังมีผล ทั้งในออสเตรเลีย และประเทศอื่น ๆ พวกเขาต้องแจ้งให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทราบว่า สถานภาพมีความเปลี่ยนแปลงจากความสัมพันธ์สิ้นสุดลง และแน่นอนว่า หากพวกเขาอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พวกเขาจะต้องออกมาจากตรงนั้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง และไปยังศูนย์พักพิง และพูดคุยกับแพทย์ GP อย่างรวดเร็ว" คุณนิเลช นันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่น กล่าว

รัฐบาลสหพันธรัฐได้จัดสรรงบประมาณมูลค่า $150 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนเหยื่อความรุนแรงในบ้าน ในครอบครัว และความรุนแรงทางเพศ ในช่วงการระบาดของไวรัสโคโรนา แต่อย่างไรก็ตาม คุณมอริส จากศูนย์อินทัช กล่าวว่า ผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวจำนวนมากได้รับสิทธิ์ในการทำงานอย่างจำกัด และไม่ได้รับสิทธิ์เข้าถึงบริการสุขภาพพื้นฐาน บริการในชุมชน และสังคมสงเคราะห์ เนื่องจากสถานะทางวีซ่า

คุณเทรซีย์ (Tracey) ซึ่งไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ หลบหนีจากพวกแอบติดตามจากประเทศบ้านเกิด มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ออสเตรเลีย เธอตกหลุมรักกับชายชาวยุโรปซึ่งถือวีซ่าทำงานชั่วคราว ต่อมา เทรซีย์ได้ถือวีซ่าติดตามชายคนนั้น

แต่เมื่อเกือบสองปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จบลง เมื่ออดีตคู่ครองของเธอกลายเป็นผู้ค้ายาเสพติด ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากคุณเทรซีย์ตัดความสัมพันธ์กับชายคนนั้น

"เขาส่งข้อความหาฉันตลอดเวลา เขาขอให้ฉันตาย และเขาบอกว่าหากพบฉันเมื่อไหร่ เขาจะเหวี่ยงหมัดเข้าที่ใบหน้าของฉัน" คุณเทรซีย์กล่าว

ไม่ใช่เพียงแค่เทรซีย์ที่พบเจอกับเรื่องราวแบบนี้ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียรายงานว่า ผู้หญิง 1 ใน 4 ประสบพบเจอกับความรุนแรงทางอารมณ์ จากคู่ครองปัจจุบันและในอดีตตั้งแต่อายุ 15 ปี

ความเครียดที่เทรซีย์ต้องเผชิญมาเกือบ 2 ปี ทำให้เธอตกอยู่ในความกลัวและความกังวลอย่างมาก

ปัจจุบัน เธอทำงานเป็นผู้ดูแลเด็กพิการและอยู่ในความเสี่ยงในมณฑลนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี ซึ่งคนทำงานที่มีทักษะแบบเธอนั้นหาได้ยาก แต่ถึงแม้เธอจะทำงานมาเป็นเวลา 5 ปี แต่นายจ้างของเธอไม่สามารถที่จะสนับสนุนเธอด้วยวีซ่าทำงานได้

"เพื่อไปตั้งหลักชีวิตใหม่ ฉันทำงานอย่างหนักกับเด็ก ๆ เหล่านี้ แต่เพราะที่นี่เป็นหน่วยงานไม่แสวงผลกำไร พวกเขาบอกว่ามันแพงเกินไปที่จะสปอนเซอร์ฉันให้มีวีซ่าทำงาน" คุณเทรซีย์กล่าว

นั่นหมายความว่า เธอจะยังคงอยู่บนวีซ่าติดตามอดีตคู่รักของเธอต่อไป และไม่สามารถตัดขาดจากเขาได้อย่างสมบูรณ์

"เขายังค้ายา และก็คงได้วีซ่าที่เขาต้องการ ซึ่งมันไม่แฟร์มาก ๆ มันไม่มีอะไรที่จะทำให้ฉันออกไปจากสถานการณ์เลวร้ายนี้ได้" คุณเทรซีย์กล่าว

คุณนันดัน นักกฎหมายด้านการย้ายถิ่นฐาน กล่าวว่า เนื่องจากอดีตคู่รักของเทรซีย์นั้นเป็นชาวต่างชาติ ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ของเธอ คือการยื่นขอวีซ่าด้วยตัวเอง มีผู้หญิงบนวีซ่าชั่วคราวจำนวนมาก ที่ตกอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันนี้ หลังแยกทางจากอดีตคู่รักที่กระทำความรุนแรง และเมื่อผู้ถูกกระทำรายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว นอกจากการดำเนินคดีอาชญากรรมอิสระกับผู้กระทำแล้ว ไม่มีความช่วยเหลือใด ๆ ด้านการอพยพย้ายถิ่นสำหรับผู้ถูกกระทำ หากอดีตคู่รักถือวีซ่าชั่วคราว

"กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยมาก มันเป็นการมอบประโยชน์อย่างไม่สมเหตุสมผลให้ผู้ก่อความรุนแรง" คุณนันดันกล่าว

ในช่วงปี 2015-2016 ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าคู่ครองชั่วคราว 529 ราย ได้ยื่นขอรับสถานะประชากรถาวร หลังเผชิญความรุนแรงในครอบครัว โดยมีผู้ยื่นขอสำเร็จร้อยละ 70 แต่อย่างไรก็ตาม คุณนันดัน นักกฎหมายด้านการอพยพย้ายถิ่นฐานกังวลว่า จะไม่มีจุดปลอดภัยให้กับผู้หญิงที่ถือวีซ่าติดตาม เนื่องจากประมวลกฎหมายการย้ายถิ่นฐาน ได้ให้ความสำคัญกับผู้ถือวีซ่าคู่ครองมากกว่า

"การถือวีซ่าติดตาม หมายความว่า พวกเขาไม่มีหนทางในการได้เป็นประชากรถาวร พวกเขาต้องออกจากวีซ่าที่มี ไปเริ่มต้นใหม่ในวีซ่าอื่น ซึ่งพวกเขาอาจไม่มีคุณสมบัติตามวีซ่านั้น หรืออาจต้องกลับประเทศบ้านเกิดไป และนั้นคือปัญหาโลกแตกของผู้หญิงที่ถือวีซ่าชั่วคราวในออสเตรเลีย" คุณนันดันกล่าว

ผู้หญิงซึ่งถือวีซ่าชั่วคราวนั้นมีทางเลือกที่จำกัด ขณะที่การยื่นขอวีซ่าอื่นก็เป็นการสร้างปัญหาใหม่เพิ่มขึ้นมา

"ถ้าสมัครวีซ่านักเรียน พวกเขาก็ต้องเป็นนักเรียนจริง ๆ และจะต้องมีทุนทรัพย์พอที่จะลงทะเบียนเรียน และต้องเป็นผู้สมัครหลัก และหากเป็นวีซ่าทำงาน พวกเขาจะต้องมีนายจ้างที่พร้อมจะสปอนเซอร์ และมันเป็นเรื่องยากมากอยู่แล้วในช่วงปกติ และมันจะยากขึ้นอีกในช่วงวิกฤตโควิด-19" คุณนันดันกล่าว

นอกจากนี้ คุณนันดันยังพบว่า มีผู้ถือวีซ่าชั่วคราวบางส่วน พยายามยื่นขอวีซ่าชนิดอื่น ๆ อย่างไร้จุดหมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่มีโอกาสที่จะได้รับอนุมัติวีซ่าเหล่านั้น

"เมื่อพวกเขาทำแบบนั้น มันจะกลายเป็นปัญหา ไม่ใช่กับพวกเขาเพียงอย่างเดียว แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็จะไม่ได้รับอนุมัติวีซ่า ซึ่งรวมถึงคนอื่น ๆ ในออสเตรเลียที่ต้องการวีซ่าเหล่านั้นด้วย ขณะที่บางส่วนถูกเลื่อนการประมวลแบบคำขอออกไป เพราะมีคำร้องจำนวนมากถาโถมเข้ามาแบบไร้จุดหมาย ซึ่งเอ่อล้นเข้าไปในกระบวนการพิจารณา และกระบวนการของศาล" คุณนันดันกล่าว

คุณมอร์ริส จากศุนย์อินทัช กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ได้เรียกร้องไปยังรัฐบาล เพื่ออนุญาตให้ผู้หญิงที่ประสบความรุนแรงในครอบครัวทุกคนทั่วออสเตรเลีย สามารถเข้าถึงบริการความปลอดภัยและให้การสนับสนุน โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานะวีซ่า และได้เรียกร้องให้ผู้ถูกกระทำหาความช่วยเหลือ แม้จะรู้สึกสิ้นหวังเพียงใดก็ตาม

"ดิฉันเข้าใจว่า มันยากขนาดไหน หากคุณต้องอยู่ในบ้านเดียวกับผู้ก่อความรุนแรง แต่ถ้าหากคุณสามารถติดต่อบริการของเราได้ ทั้งบริการ Safe Step หรือที่หมายเลข 1800 RESPECT เพียงบอกเราว่าเวลาไหนและวิธีใดที่ปลอดภัยสำหรับคุณที่จะโทรหา นั้นเป็นก้าวแรก และเราจะเริ่มต้นจากตรงนั้น" คุณมีคาล มอร์ริส จากศูนย์อินทัช กล่าว

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์อินทัช ไปที่เว็บไซต์ inTouch.org.au หรือหากคุณอยู่ในรัฐวิกตอเรีย โทรหาศูนย์อินทัชที่หมายเลข 1800 755 988 ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ 9:00 - 17:00 น.

หากคุณอาศัยอยู่ในรัฐและมณฑลอื่น ๆ โปรดติดต่อบริการปรึกษาด้านการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงในบ้านและครอบครัวแห่งชาติ หรือ 1800 RESPECT ที่หมายเลขศัพท์ 1800 737 732

หากคุณรู้สึกทุกข์ใจ และต้องการบริการสนับสนุนด้านอารมณ์ โทรหาบริการสนับสนุนสุขภาพจิตจากสถานการณ์ไวรัสโคโรนาของ Beyondblue ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 512 348 หรือโทรหา Lifeline ที่หมายเลข 13 11 14 เมื่อใดก็ได้ที่คุณต้องการ

สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้หญิงเป็นภาษาของคุณ ติดต่อศูนย์สนับสนุนสุขภาพผู้หญิงหลากวัฒนธรรม ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1800 656 421 ทุกวัน ระหว่างเวลา 10:00 – 16:00 น.

หากคุณต้องการบริการล่ามแปลภาษา โปรดโทรหา TIS National ที่หมายเลข 13 14 50 และขอให้ล่ามต่อสายไปยังองค์กรให้การสนับสนุนที่คุณต้องการติดต่อ

หากชีวิตของคุณตกอยู่ในอันตราย โทรไปที่ 000 เพื่อขอความช่วยเหลือจากตำรวจในทันที

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share