คำตัดสินของศาลอาจเป็น “ตัวพลิกเกม” ให้ลูกจ้างแคชวล

ศาลออสเตรเลียมีคำตัดสินให้ลูกจ้างแคชวล ที่ทำงานในชั่วโมงการทำงาน “ที่เป็นประจำ แน่นอน ต่อเนื่อง และคาดการณ์ได้” มีสิทธิลางานโดยได้รับค่าจ้าง

A court ruling has found employees contracted as casuals on a permanent basis are entitled to paid leave benefits.

A court ruling has found employees contracted as casuals on a permanent basis are entitled to paid leave benefits. Source: AP

บรรดาผู้พิทักษ์สิทธิลูกจ้าง กล่าวว่า คำตัดสินของศาลที่เป็นกรณีตัวอย่างสำคัญในเรื่องสิทธิอันพึงได้รับของลูกจ้างแคชวลนี้ อาจเป็น “ตัวพลิกเกม” ให้กับนักเรียนต่างชาติที่มักเป็นลูกจ้างแคชวล (casual)

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 พ.ค.) ศาลสหพันธรัฐของออสเตรเลีย มีคำตัดสินว่า ลูกจ้างแคชวลที่ทำงานในชั่วโมงการทำงานที่สามารถคาดการณ์ได้ โดยนายจ้างให้คำมั่นล่วงหน้าที่จะมอบหมายงานให้นั้น ไม่เข้าข่ายของคำจำกัดความของการทำงานแบบแคชวล (ทำเฉพาะเมื่อมีงานให้ทำ ไม่มีกำหนดแน่นอน) ดังนั้น จึงมีสิทธิลาพักผ่อนประจำปี ลาป่วย และลาเพื่อให้การดูแลบุคคลในครอบครัว

นายบีเจย์ แซปโคตา ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม สตูเดน จ๊อบส์ ออสเตรเลีย (งานสำหรับนักเรียนแห่งออสเตรเลีย) และอดีตประธานสภานักเรียนนานาชาติ กล่าวว่า ผลที่ตามมาอาจมีแนวโน้มช่วยลดการเอารัดเอาเปรียบนักเรียนต่างชาติที่ทำงานแคชวลได้

“ก่อนจะเกิดการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา ลูกจ้างนักเรียนต่างชาติที่ทำงานแคชวลจำนวนมาก บอกเราว่า พวกเขารู้สึกว่ากำลังถูกบีบให้ต้องไปทำงานทั้งๆ ที่ไม่สบาย ไม่เช่นนั้น พวกเขาจะต้องสูญเสียงานหรือสูญเสียรายได้ไป” นายแซปโคตา บอกกับ เอสบีเอส นิวส์

“ดังนั้น นี่อาจสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยุติธรรมสำหรับทุกคนในชุมชน และยังช่วยเพิ่มความพร้อมในการเข้าสู่ระบบงานและความมั่นคงในการทำงานของนักเรียนต่างชาติด้วย”
คำตัดสินของศาลสหพันธรัฐมาจากกรณีที่ นายโรเบิร์ต โรสซาโต ลูกจ้างเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่งประสบความสำเร็จในการโต้แย้งว่า การทำงานสามปีครึ่งของเขากับบริษัทจัดหาแรงงาน เวิร์กแพ็ก (WorkPac) เป็นตำแหน่งงานถาวรที่ถูกซ่อนเร้นในรูปแบบของงานแคชวล

นายโรสซาโต ได้ทำงานตามสัญญาว่าจ้างที่แตกต่างกัน 6 ฉบับที่เหมืองแร่ เกลนคอร์ (Glencore) โดยเป็นสัญญาว่าจ้างงานแคชวล ซึ่งในช่วงหนึ่งเขาทำงานกะละ 12 ชั่วโมงติดกัน 7 วัน ก่อนจะได้วันหยุดหลังจากนั้น 7 วัน

ผู้พิพากษา มอร์ดิไค บรอมเบิร์ก กล่าวว่า รูปแบบการทำงานดังกล่าว เข้าข่ายงาน “ที่มีความสม่ำเสมอ แน่นอน ต่อเนื่อง คงที่ และคาดการณ์ได้” ส่งผลให้ลักษณะการจ้างงานของเขาเป็นงานถาวร มากกว่าแคชวล (ไม่มีกำหนดแน่นอน)

ขณะที่กลุ่มผู้พิทักษ์สิทธินักเรียนต่างชาติต่างยินดีกับคำตัดสินนี้ของศาล ธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆ ก็กำลังล็อบบี้ให้รัฐบาลสหพันธรัฐยับยั้งลูกจ้างไม่ให้ “เอาประโยชน์ทั้งสองทาง” จากสิทธิอันพึงได้รับ

นายคริสเตียน พอร์เตอร์ รัฐมนตรีด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ กล่าว่า คำตัดสินของศาลจะมีผลทันทีต่อธุรกิจต่างๆ ในช่วงที่หลายธุรกิจกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเชื้อไวรัสโคโรนา

เขากล่าวว่า รัฐบาลอาจพิจารณาร่วมอุทธรณ์เรื่องนี้

“จากการที่การตัดสินของศาลนี้อาจมีแนวโน้มทำให้เศรษฐกิจอ่อนตัวลงได้ในช่วงเวลาที่ชาวออสเตรเลียจำนวนมากอยู่แล้วตกงาน ก็อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทางเลือกอื่นทางกฎหมาย” นายพอร์เตอร์ บอกกับ เอเอพี

แต่นายโทนี เบิร์ก โฆษกด้านอุตสาหกรรมสัมพันธ์ของพรรคแรงงาน กล่าวว่า นายจ้างต่างหากที่กำลัง “เอาประโยชน์ทั้งสองทาง” โดยบอกว่า เขารู้สึก “อึ้ง” กับปฏิกิริยาของรัฐบาลเกี่ยวกับคำตัดสินนี้ของศาล
“หากนายจ้างปฏิเสธที่จะให้ความมั่งคงกับลูกจ้างอย่างที่พวกเขามีสิทธิตามกฎหมายแล้วละก็ รัฐสภาก็ไม่ควรปฏิบัติเหมือนกับเป็นไม้เทนนิสปกป้องผู้ที่ทำผิดกฎหมาย” นายเบิร์ก กล่าว

“ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะลูกจ้างแคชวล พบว่าตนเองไม่มีทางไประหว่างช่วงโควิด-19 พวกเขาพบว่าตนเองไม่มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือหลายอย่างซึ่งมีให้กับผู้ที่ทำงานประจำ”

นายจ้างต่างเกรงกันว่าจะมีการฟ้องร้องกลุ่มหลั่งไหลเข้ามามากมาย ซึ่งอาจส่งผลให้ต้องมีการจ่ายเงินย้อนหลังให้ลูกจ้างสูงถึง 8 พันล้านดอลลาร์

ขณะที่กลุ่มนักเรียนต่างชาติกำลังผลักดันให้มีการผ่อนปรนข้อจำกัดชั่วโมงการทำงาน

นายแซปโคตา กล่าวว่า นักเรียนต่างชาติถูกจ้างให้เป็นลูกจ้างแคชวล เพราะวีซ่าของพวกเขากำหนดให้ทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ หรือ 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งรวมแล้วแทบจะไม่ถึง 3 กะเต็มๆ สำหรับที่ทำงานส่วนใหญ่

“ลูกจ้างจำนวนมากต้องการจ้างงานนักเรียนต่างชาติแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะพวกเขาไม่สามารถทำงานเต็มวันได้ 3 วันต่อสัปดาห์ ดังนั้น หากเราสามารถล็อบบี้ให้เพิ่มข้อจำกัดชั่วโมงการทำงานจาก 20 ชั่วโมงให้เป็น 24 ชั่วโมงได้ นั่นจะสามารถสร้างงานพาร์ทไทม์ได้หลายหมื่นตำแหน่งสำหรับนักเรียนต่างชาติ” นายแซปโคตา กล่าว

“นั่นเป็นปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่นักเรียนต่างชาติเผชิญ และนายจ้างจำนวนมากใช้ข้อจำกัดชั่วโมงการทำงานเป็นวิธีเอาเปรียบนักเรียนต่างชาติ โดยขู่ว่าจะแจ้งให้กระทรวงมหาดไทยเอาผิดกับนักเรียน”
คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 22 May 2020 2:21pm
By Claudia Farhart
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News, AAP


Share this with family and friends