วีซ่าเกษตรตัวใหม่ให้สัญญาจะแก้ไขการขาดแคลนแรงงาน แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไปไม่ถึงไหน

โครงการวีซ่าเกษตรกรรมตัวใหม่ ซึ่งให้สัญญาว่าจะนำลูกจ้างหลายพันคนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานในฟาร์มที่นี่ภายในคริสต์มาส แต่กลับพบความล่าช้าและเผชิญการบีบคั้นจากภายในรัฐบาลเอง

A fruit picker harvests oranges on a farm near Leeton, NSW.

A fruit picker harvests oranges on a farm near Leeton, NSW. Source: AAP

วีซ่าเกษตรกรรมใหม่ ที่สัญญาว่าจะนำลูกจ้างจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาทำงานฟาร์มในออสเตรเลียให้มากขึ้น โดยเคยแจ้งว่าพร้อมจะเริ่มโครงการในเดือนตุลาคม แต่สี่เดือนผ่านไป ก็ยังไม่มีแม้แต่ประเทศเดียวที่ลงนามเข้าร่วมในโครงการ

นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ กล่าวว่า ความคืบหน้าของวีซ่าที่ประกาศไปเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว ขณะนี้ขึ้นอยู่กับนางมารีส เพย์น รัฐมนตรีด้านการต่างประเทศของออสเตรเลีย

“ผมรู้สึกอัดอั้นใจเหลือเกิน เช่นเดียวกับเกษตรกรในออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่เราพร้อมดำเนินเรื่องนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมแล้ว” เขากล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

"สิ่งที่เรากำลังรอคอยขณะนี้คือ รอให้มารีส เพย์น เจรจาทวิภาคีให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์"

รัฐบาลกล่าวว่า หากเจรจากันสำเร็จโครงการนี้จะเสนอให้แก่ 10 ประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย กัมพูชา บรูไน เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ขณะนี้รัฐบาลออสเตรเลียกำลังเจรจากับสี่ประเทศ

จนถึงขณะนี้ อินโดนีเซียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจแล้ว แต่ความคืบหน้าของอีกสามประเทศนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด

กระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย (DFAT) บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า กำลังอยู่ระหว่างการเจรจากับ "ประเทศจำนวนไม่มากนักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" และรัฐบาลกลางกำลังตั้งเป้าที่จะบรรลุข้อตกลง "โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้"

“การเจรจาทวิภาคีกับอินโดนีเซียก้าวหน้าไปมาก” กระทรวงฯ ระบุในถ้อยแถลง
"การจะบรรลุข้อตกลงการเจรจาทวิภาคีขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่าจะยอมรับข้อตกลงที่ครอบคลุมพลเมืองของตนและมีความมั่นใจได้ว่าจะได้รับความคุ้มครองจากโครงการ"

เอสบีเอส นิวส์ ได้สอบถามไปยังสถานทูตหลายแห่ง ซึ่งกล่าวว่าพวกเขากำลังอยู่ระหว่างการหารือกับรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีกำหนดเวลาสำหรับการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

แต่ในช่วงแรกของโครงการจะมีลูกจ้างเข้าร่วมเพียงจำนวนไม่มากเท่านั้น

“การที่จะมีประเทศใดเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นโครงการนำร่อง ที่จะนำลูกจ้างอาจจะเป็น 1,000, 2,000 หรือ 3,000 คนเข้ามา เพื่อจะพิสูจน์ว่าโครงการนี้ใช้การได้และมีมาตรการปกป้องลูกจ้างตามที่เราสัญญาไว้” นาย ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านเกษตรกรรมของสหพันธรัฐ กล่าว

แต่เรื่องนี้ก็เป็นชนวนสร้างความตึงเครียดภายในรัฐบาลระหว่างพวกลิเบอรัลส์ (Liberals) และพรรคเนชันแนลส์ (Nationals)

เอสบีเอส นิวส์ ได้พูดคุยกับ สส.พรรคเนชันแนลส์ผู้หนึ่งซึ่งกล่าวว่า โครงการนี้ไม่ได้รับการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเลือกตั้งระดับสหพันธรัฐใกล้เข้ามา

ความล่าช้าของโครงการนี้อาจทำให้ สส.ต่างๆ ในส่วนภูมิภาค กดดันผู้รับผิดชอบด้านนี้ในคณะรัฐบาลให้เร่งหาทางแก้ไข

'ระวังสิ่งที่คุณลงนามเพื่อเข้าร่วม'

ความกังวลหลักในหมู่ประเทศที่ได้รับการเสนอให้เข้าร่วมโครงการวีซ่านี้คือสวัสดิภาพของพลเมืองประเทศเหล่านั้น หลังมีการเปิดเผยสภาพการจ่ายค่าจ้างที่ต่ำมากในหมู่ลูกจ้างจากประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกที่ทำงานฟาร์มในออสเตรเลีย บางคนอ้างว่าได้รับค่าจ้างเพียง 100 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์เท่านั้น

สหภาพลูกจ้างแห่งออสเตรเลีย (Australian Workers Union หรือ AWU) ได้ติดต่อสถานทูตของประเทศอาเซียน (ASEAN) โดยตรงและส่งเสริมให้ประเทศเหล่านั้นอย่าลงนามเข้าร่วมในโครงการวีซ่าเกษตรกรรมนี้

“สารที่เราบอกกับพวกเขาคือ 'ระวังสิ่งที่คุณลงนามเพื่อเข้าร่วม'” นาย ดาเนียล วอลตัน เลขาธิการใหญ่ของ AWU กล่าว

"มันมีข้อจำกัดน้อยลง มีสิทธิ์ของลูกจ้างน้อยลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การปล่อยให้คนงานมากขึ้นถูกเอารัดเอาเปรียบ"

นายลิตเติลพราวด์ กล่าวว่าสหภาพแรงงานกำลังทำให้เกิดความเสี่ยงที่ข้อตกลงนี้อาจล้มเหลวได้

“ผมไม่อยากจะเชื่อเลยว่า สหภาพแรงงานไม่เพียงแต่จะบ่อนทำลายโครงการอย่างแท้จริง และยังได้ทำลาย ชื่อเสียงของฟาร์มในออสเตรเลีย และยังรวมถึงชื่อเสียงของออสเตรเลียด้วย” นายลิตเติลพราวด์ กล่าว

รัฐบาลกล่าวว่ามีมาตรการปกป้องลูกจ้างอย่างเพียงพอ

“เรากำลังเพิ่มบทลงโทษและเพิ่มกรอบการกำกับดูแลนายจ้างที่ได้รับการอนุมัติเข้าร่วมโครงการและบรรดาบริษัทจัดหาแรงงานด้วย” นายลิตเติลพราวด์ กล่าว

โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศและพาณิชย์ของออสเตรเลีย (DFAT) กล่าวว่า ข้อกำหนดขั้นต่ำสำหรับนายจ้างและมาตรการคุ้มครองลูกจ้างเป็นกุญแจสำคัญในการดำเนินโครงการนี้

“รัฐบาลมอร์ริสันจะไม่ยอมอ่อนข้อต่อการทุจริตด้านวีซ่า งานที่ผิดกฎหมาย การฉกฉวยหาประโยชน์จากลูกจ้าง หรือการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ามาตรฐานในทุกรูปแบบ” โฆษกกระทรวงระบุ
Cherry farmer Tom Eastlake said a lack of overseas and local workers, border closures and COVID-19 forced him to abandon stock.
Cherry farmer Tom Eastlake said a lack of overseas and local workers, border closures and COVID-19 forced him to abandon stock. Source: Supplied

'ถูกบีบให้ต้องปล่อยผลผลิตเน่าคาต้น'

ปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานเป็นอุปสรรคอีกอย่างหนึ่งที่ภาคเกษตรกรรมที่กำลัง ความยากลำบากที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรต้องปล่อยผลผลิตทิ้งไว้คาต้น

คุณทอม อีสต์เลค เกษตรกรผู้ปลูกเชอร์รี กล่าวว่า การขาดแรงงานจากต่างประเทศและแรงงานในพื้นที่ การปิดพรมแดน และโควิด-19 ส่งผลให้เขาต้องทิ้งผลผลิตไว้โดยไม่ได้เก็บไปขาย

“เราถูกบีบให้ต้องทิ้งผลผลิตไว้คาต้น 40-50 เปอร์เซ็นต์ เพียงเพราะเราไม่มีคนงานที่จะเก็บเชอร์รีเหล่านั้น” เขากล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์

คุณ อีสต์เลค กล่าวว่าโครงการวีซ่า Pacific Australia Labour Mobility (PALM) ซึ่งคนงานส่วนใหญ่ทำงานตลอดทั้งปีนั้น ไม่เหมาะกับฟาร์มที่ปลูกพืชผลตามฤดูกาล ที่จะมีงานให้ทำเฉพาะไม่กี่เดือนต่อปีเท่านั้น

"โครงการลูกจ้างจากแปซิฟิกนั้นก็ดี โดยเฉพาะสำหรับบางอุตสาหกรรมที่สามารถดำเนินการได้ทั้งปีกับลูกจ้างประเภทดังกล่าว ซึ่งนั่นยอดเยี่ยมมาก" คุณ อีสต์เลค กล่าว

"แต่มีพืชสวนจำนวนมากที่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้"

เขาหวังว่าจะพบวิธีแก้ปัญหานี้ได้ในไม่ช้า


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 



Share
Published 21 February 2022 3:47pm
By Krishani Dhanji
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends