เผยมุมมืดชีวิตลูกจ้างทำงานฟาร์มในออสเตรเลีย

ตัวแทนลูกจ้างทำงานฟาร์มเปิดใจเล่าชีวิตในมุมมืด ถูกเอาเปรียบทั้งค่าแรงและความเป็นอยู่ พบการเลือกปฏิบัติ-คุกคามทางเพศ ยื่นเรื่องถึงสภาร้องขอความเป็นธรรม รายงานเผยพบลูกจ้างจำนวนไม่น้อยเผชิญสภาพไม่ต่างกัน

Kate says the underpayment of backpackers is an issue that needs to be addressed and she is taking her concerns to Canberra.

Kate says the underpayment of backpackers is an issue that needs to be addressed and she is taking her concerns to Canberra. Source: Supplied

ประเด็นสำคัญ

  • ตัวแทนลูกจ้างทำงานฟาร์มยื่นขอความเป็นธรรมต่อลูกจ้างที่ทำงานในฟาร์มทั่วออสเตรเลีย เผยประสบการณ์ส่วนตัว ถูกกดค่าแรง ถูกคุกคามทางเพศ
  • รายงานจากสหภาพแรงงาน และคณะทำงานเพื่อแรงงานอพยพย้ายถิ่นใน NSW พบสถิติลูกจ้างถูกกดค่าแรงในระดับที่น่าตกใจ พบเจ้าของฟาร์มกดราคาด้วยการจ่ายเหมา ลูกจ้างบางคนได้ค่าแรงต่ำสุดแค่วันละ $9 ดอลลาร์
  • สิทธิ์ที่พึงได้ในการทำงาน – ทักษะภาษาอังกฤษ เป็นความรู้ขั้นพื้นฐานที่จะช่วยให้หลบหลีกจากการถูกเอารัดเอาเปรียบได้
เมื่อคุณเคท (Kate) เดินทางมายังออสเตรเลียจากประเทศไต้หวันเมื่อปี 2019 ก่อนวิกฤตโควิดจะมาถึง เธอพบกับโฆษณาหางานที่จูงใจเธอด้วยโอกาสในการใช้ชีวิตและผจญภัย นั่นคือการได้ใช้เวลาวันหยุดและมีรายได้ไปพร้อม ๆ กัน

แต่สิ่งที่เธอพบเจอหลังจากได้ตัดสินใจไปแล้วนั้น กลับต่างกันโดยสิ้นเชิง

เธอทำงานอยู่ในฟาร์มปลูกมะนาวและส้ม ได้ค่าตอบแทนต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย และได้เงินแบบจ่ายสดในอัตราเหมาเพียงวันละ $24 ดอลลาร์ แทนที่จะได้เป็นค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง

ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ในฟาร์ม เธอบอกว่า มันคือสิ่งที่เธอไม่ได้เตรียมใจมาก่อนเมื่อพบเจอ
ฉันต้องคุ้ยหาอาหารเอาจากกองขยะ และต้องพักอยู่ภายในห้องที่มีคนอื่นๆ อยู่รวมกันอีก 7 คน คุณเคทเล่า
มีโฆษณาประกาศรับสมัครลูกจ้างของฟาร์มสตรอว์เบอร์รีแห่งหนึ่ง ที่ระบุเอาไว้อย่างเฉพาะเจาะจงว่า พวกเขาต้องการ “ชาวเอเชีย” เท่านั้น
ฉันคิดว่ามันเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างมาก เพียงเพราะคิดว่าพวกเราชาวเอเชียยังไงก็ยอมทำงานหลังขดหลังแข็งเพื่อเก็บสตรอว์เบอร์รีอยู่แล้ว คุณเคท กล่าว
คุณเคทเล่าอีกว่า เธอถูกคุกคามทางเพศในฟาร์มแห่งหนึ่ง พวกเขาบอกกับเธอว่า หากยังต้องการจะมีงานทำ เธอก็ต้องอดทนต่อไป
ในช่วงนั้นเป็นช่วงล็อกดาวน์ และงานก็หายากมาก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฉันต้องยอมทน คุณเคทเล่า
เธอออกจากฟาร์มแห่งนั้นในท้ายที่สุด และหวังมาตลอดว่า หากเธอกล้าพอ เธอก็คงออกมาจากฟาร์มแห่งนั้นได้เร็วกว่านี้
สิ่งที่ฉันอยากจะแนะนำให้กับคนอื่นก็คือ ปกป้องตัวคุณเอง เมื่อพบเจอกับการคุกคามทางเพศจากนายหน้าจัดหาแรงงาน หรือนายจ้างก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องอดทน หรือทำงานร่วมกับพวกเขา รีบหนีออกมา คุณเคท กล่าว
ประสบการณ์ของคุณเคท เป็นหนึ่งในประสบกาณ์ของลูกจ้างหลายคน ซึ่งได้การบันทึกไว้ในรายงานฉบับใหม่ที่จัดทำโดยศูนย์คนทำงานอพยพย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers’ Centre) และสหภาพแรงงานรัฐนิวเซาท์เวลส์ (Unions NSW) ที่พบว่า ร้อยละ 78 ของคนทำงานในไร่และสวนกว่า 1,300 คนที่ตอบเเบบสำรวจของรายงานฉบับนี้ ได้รับค่าแรงในอัตราน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยคนทำงานบางรายได้รับค่าตอบแทนเพียงวันละ $9 ดอลลาร์เท่านั้น
Kate's Story I’m 32, I came to Australia from Taiwan on a working holiday visa. I wanted to work and travel around the different landscape of this country, meeting people from different cultures. After I got here, I discovered all us backpackers had to wo
Kate says she was shocked at some of the working conditions she was subjected to working at fruit farms in South Australia and Queensland. Source: Supplied
รายงานฉบับดังกล่าว ได้สอบถามลูกจ้างในช่วงระหว่างปลายเดือนกันยายน ปี 2020 ถึงช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2021

นายมาร์ก โมเรย์ (Mark Morey) จากสหภาพแรงงานรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า ในหลายกรณีของการได้รับค่าจ่างอย่างไม่เป็นธรรม พวกเขาจะได้รับค่าจ้างในอัตราจ่ายเหมา ตามปริมาณของผลไม้หรือผลผลิตที่เก็บได้ แทนที่จะได้เป็นค่าตอบแทนรายชั่วโมง
นอกเหนือไปกว่านั้นแล้ว นายจ้างบางคนยังคิดค่าที่พักอาศัยและค่าอาหารจากลูกจ้างเพิ่มอีกด้วย ความสะเทือนใจของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและพื้นที่ชนบทของเรานั้นน่ากลัวมาก ลูกจ้างอพยพย้ายถิ่น และวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวออสเตรเลียเหล่านี้กำลังถูกเอารัดเอาเปรียบ และมันจะต้องหยุดลงเสียที นายโมเรย์ กล่าว
นายโมเรย์ พร้อมกับคุณเคท ได้ตรงไปยังรัฐสภาในกรุงแคนเบอร์รา เพื่อแสดงถึงความกังวลของพวกเขาต่อการจ่ายค่าจ้างอันไม่เป็นธรรมในภาคส่วนเกษตรกรรมต่อสมาชิกสภา
ดิฉันต้องการให้นักการเมืองทุกท่านให้ความสำคัญและดูแลบรรดาลูกจ้างแบ็กแพ็กเกอร์เหล่านี้ เพราะเราคือคนที่ทำงานในสิ่งที่ชาวออสเตรเลียไม่ต้องการทำ คุณเคท กล่าว
“ดิฉันขอยกคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่กล่าวไว้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดว่า หากคุณมีเงินไม่พอ ก็ถึงเวลาแล้วที่พวกคุณต้องกลับบ้าน คำพูดนี้สร้างความขุ่นเคืองต่อดิฉันอย่างมาก เช่นเดียวกับเพื่อน ๆ ของดิฉัน ซึ่งเป็นลูกจ้างแบ็กแพกเกอร์เช่นกัน นั่นก็เพราะเราก็มีส่วนร่วมต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศนี้ และเราไม่ควรที่จะถูกโยนทิ้งขว้างแบบนั้น”

นายโมเรย์ กล่าวเสริมว่า คำขอในการเข้าพบ นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ รัฐมนตรีด้านการเกษตรออสเตรเลีย ถูกปฏิเสธหลายครั้ง และไม่มีการตอบรับจากสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Federation) แต่อย่างใด

‘ถึงเวลาที่ต้องแทรกแทรงอย่างจริงจัง’

“รายงานที่เราได้จัดทำขึ้นร่วมกับนักวิชาการอีกหลายคน ได้แสดงให้เห็นว่า มันไม่ได้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว มันไม่ใช่กรณีปลาตายทั้งตัวแล้วเน่ายกเข่ง แต่สิ่งนี้กลายเป็นโมเดลทางธุรกิจ อุตสาหกรรมนี้ไม่มีความสามารถในการกำกับดูแลตนเอง และมันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการแทรกแทรงอย่างจริงจังโดยรัฐบาล เพื่อให้แน่ใจว่าลูกจ้างจะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบในชุมชนพื้นที่ส่วนภูมิภาค และพื้นที่ชนบท” นายโมเรย์ กล่าว

ด้าน นายแมตต์ คันเคล (Matt Kunkel) จากศูนย์ลูกจ้างอพยพย้ายถิ่นฐานรัฐวิกตอเรีย กล่าวว่า รัฐบาลสหพันธรัฐมีบทบาทหน้าที่ชัดเจนในการทำให้แน่ใจว่า สภาพแวดล้อมในสถานประกอบการนั้นมีความเหมาะสม และการจ่ายค่าแรงที่ไม่เป็นธรรมจะไม่ถูกละเลย

“เรามีทั้งการไต่สวนในระดับรัฐสภา มีการเปิดโปง มีรายงานต่าง ๆ มากมาย แต่ทุกคนต่างนั่งกุมมือ และทำเพียงแค่พูดว่ามันแย่ขนาดไหน มีขั้นตอนอย่างชัดเจนที่รัฐบาลสามารถทำได้ ซึ่งได้รับการระบุเอาไว้ในรายงานทั้งหมดแล้ว” นายคันเคล กล่าว
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือการที่รัฐบาลเพียงเข้าไปแทรกแทรง และทำให้แน่ใจว่า ผู้คนทั้งระดับบนและระดับล่างของห่วงโซ่อุปทานทุกคน จะปฏิบัติตามกฎหมายอุตสาหกรรมของประเทศนี้ นายคันเคล กล่าว
จากการสอบสวนระยะเวลา 2 ปี ของคณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (The Fair Work Ombusman) ที่เริ่มต้นในปี 2016 พบว่า จากผู้ถือวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์จำนวน 4,000 คน มีร้อยละ 66 ที่รายงานการจ่ายค่าจ้างไม่เป็นธรรม โดยร้อยละ 59 เห็นด้วยว่า ลูกจ้างแบ็กแพ็กเกอร์นั้นมีความเป็นไปได้น้อยที่จะไม่รายงานความไม่เป็นธรรม เนื่องจากนายจ้างอาจไม่รับรองการทำงานตามเงื่อนไขของวีซ่าให้

ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้เป็นปีที่ 2 บนวีซ่าเวิร์กกิงฮอลิเดย์ ลูกจ้างจะต้องทำงานที่ได้รับค่าตอบแทนตามเงื่อนไขเป็นเวลา 88 วัน ในพื้นที่ส่วนภูมิภาคและอุตสาหกรรมที่ได้กำหนดไว้ในเงื่อนไขวีซ่า

นายโมเรย์ กล่าวว่า เงื่อนไขนี้ได้กลายเป็นสิ่งที่บรรดานายจ้างในในการเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง
การจ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม ไม่ควรเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย นายโมเรย์ กล่าว

เสียงเรียกร้องปฏิรูประบบจัดหาลูกจ้าง

สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (The National Farmers Federation) กล่าวว่า ระบบการออกเอกสารรับรองเพื่อกวาดล้างบริษัทจัดหาลูกจ้างเถื่อน จะช่วยป้องกันการจ่ายค่าแรงอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้างในภาคส่วนนี้ได้

“ทางสหพันธ์ฯ ได้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน เพื่อให้มีการเปิดตัวนโยบายกำกับดูแลการจัดหาลูกจ้างในระดับชาติ ให้บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ที่ต้องมีส่วนรับผิดชอบ ซึ่งมีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างคนทำงานในภาคส่วนเกษตรกรรมกับบริษัทจัดหาลูกจ้าง เมื่อมีการประพฤติโดยมิชอบเกิดขึ้น” นายโทนี มาฮาร์ (Tony Mahar) ประธานบริหาร สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์  

“การเปิดตัววีซ่าเฉพาะทางสำหรับงานด้านเกษตรกรรม ที่ทางสหพันธ์ฯ ได้มีการเรียกร้องมาเป็นเวลา 4 ปีแล้วจนถึงวันนี้ จะช่วยให้ลูกจ้างจากต่างประเทศที่ถือวีซ่าดังกล่าว จะได้เข้าทำงานกับนายจ้างที่ได้รับการรับรองอย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น” นายมาฮาร์ กล่าว

นอกจากนี้ ทางสหพันธ์ฯ ยังได้กระตุ้นให้ลูกจ้างรายงานการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เกษตรกรผู้ปลูกผักและผลไม้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนั้น ไม่เพียงแต่จะเอารัดเอาเปรียบลูกจ้าง แต่ยังทำให้อุตสาหกรรมของพวกเขาต้องมัวหมอง ในระหว่างที่เกษตรกรอีกไม่น้อยต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนแรงงานที่เลวร้าย พวกเขาจะต้องแสดงความรับผิดชอบ นายคันเคล กล่าว
“ลูกจ้างในไร่นาและสวนที่เชื่อว่าตนเองได้รับการจ่ายค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จะต้องรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”

นายคันเคล กล่าวอีกว่า เขาต้องการให้มีระบบการออกใบอนุญาติสำหรับบริษัทจัดหาลูกจ้างด้วยเช่นกัน

“สิ่งที่รายงานฉบับนี้ได้มีการเรียกร้อง นั่นก็คือระบบการออกใบอนุญาตสำหรับบริษัทจัดหาลูกจ้าง ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันผู้ที่ประพฤติมิชอบออกไปจากภาคส่วนนี้ สิ่งที่เราต้องการก็คือระบบการออกใบอนุญาต ไม่ใช้เพียงแค่การจดทะเบียน เราต้องการผู้คนที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าพวกเขามีความพร้อม รวมถึงผู้คนที่สามารถจัดหาคนเพื่อส่งไปทำงานในลักษณะนี้ได้อย่างมีความเหมาะสม” นายคันเคล กล่าว

'รู้จักสิทธิ์ของคุณ'

คุณมารี (Marie) จากฝรั่งเศส ได้ทำงานในฟาร์ม 6 แห่งในออสเตรเลีย ภายในเวลา 2 ปี เธอกล่าวว่า ทักษะภาษาอังกฤษของเธอ ได้ช่วยปกป้องเธอจากการกระทำอันเลวร้ายจากนายจ้างเอาไว้ได้

“เรื่องพวกนี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับฉันเลย แต่มันเกิดกับผู้คนจำนวนมากที่ฉันรู้จัก อย่างการที่เจ้าของฟาร์มค้างจ่ายค่าจ้างเอาไว้ บางครั้งมันก็ดูเหมือนกับการเป็นทาสยุคใหม่” คุณมารี กล่าว
ถ้าเราต้องทำงานเพื่อให้ได้สิทธิ์อยู่ออสเตรเลียอีกปี มันก็โอเค ฉันไม่ได้มีปัญหาอะไรตรงนี้ แต่ฉันไม่ต้องการให้ใครมาบอกว่าฉันเป็นคนเกียจคร้าน และพวกเขาจะหาใครมาทำแทนเมื่อไหร่ก็ได้ หรือการที่พวกเขาอยากจะจ่ายค่าจ้างเมื่อไหร่ก็ได้ตามอำเภอใจ
เธอกล่าวอีกว่า มีช่องทางบนโซเชียลมีเดีย ที่คนทำงานแบ็กแพ็กเกอร์สามารถเข้าไปกระจายข้อมูล เพื่อที่จะบอกว่า เจ้าของฟาร์มคนไหนที่จ่ายค่าแรงไม่เป็นธรรม หรือฟาร์มไหนเคยมีชื่อเสียงในเรื่องการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง

แต่ถึงกระนั้น ลูกจ้างที่เพิ่งมาถึงออสเตรเลียใหม่ ๆ ต่างก็ยังคงรู้สึกว่า พวกเขามีทางเลือกอยู่น้อยนิด
สิ่งที่ฉันแนะนำก็คือ อย่ารีบเร่งและตอบรับงานแรกที่คุณเจอเมื่อมาถึงที่นี่ และอย่ายึดติดอยู่กับงานใดงานหนึ่งเพียงเพราะคุณคิดว่ามันเป็นเพียงทางเลือกเดียวที่คุณมี คุณมารี กล่าว
คุณมารียังได้เล่าย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ครั้งหนึ่ง เมื่ออดีตแฟนหนุ่มของเธอประสบอุบัติเหตุในฟาร์ม เขาถูกค้อนกระแทกนิ้วจนหัก แต่นายจ้างของเขาพยายามเลี่ยงที่จะจ่ายค่าผ่าตัด และบอกให้เขาอย่าบอกใครในเรื่องนี้

“คุณต้องรู้ว่าสิทธิ์ของคุณคืออะไร ในตอนที่แฟนเก่าของฉันได้รับบาดเจ็บ เราไม่รู้ว่าเขามีสิทธิ์ในการขอรับค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุในสถานประกอบการ แถมเรายังไม่รู้อีกด้วยว่า เราจะสามารถขอรับค่าจ้างชดเชย ในกรณีที่ต้องทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์อีกต่างหาก การรู้ว่าคุณมีสิทธิ์ในการทำงานอย่างไรนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี” คุณมารี กล่าว
Advocates are calling for the federal government to ensure workers in the agricultural sector are paid the minimum wage.
Advocates are calling for the federal government to ensure workers in the agricultural sector are paid the minimum wage. Source: Supplied

ข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น

คุณมารียังได้เล่าถึงครั้งหนึ่งที่เธอได้รับค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม จากการจ่ายในอัตราเหมา แทนที่จะเป็นค่าตอบแทนรายชั่วโมง

“ที่ฟาร์มอโวคาโดแห่งหนึ่ง ฉันได้รับโบนัสเพื่อให้อยู่ทำงานทั้งฤดูกาล ก่อนที่โควิดจะระบาด ฉันไม่คิดว่ามันจะมีอะไรแบบนั้น แต่โฆษณางานเก็บผลไม้ในตอนนี้ต่างก็โฆษณาเป็นเรตรายชั่วโมงกันหมดแล้ว ไม่มีเรตจ่ายเหมาแล้ว” คุณมารี กล่าว

“พวกเขาต้องการที่จะดึงดูดบรรดาแบ็กแพ็กเกอร์ เพราะว่าพวกเราเคยชิ้นกับการมีรายได้น้อย พอเปลี่ยนมาเป็นเรตรายชั่วโมงแล้ว ถือว่าเป็นการพลิกเกมก็ว่าได้”

เธอไม่เห็นด้วยกับข้อเท็จจริงที่อ้างว่า การจ่ายในอัตราเหมาจะทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้น และลดความเกียจคร้านของบรรดาลูกจ้างลง

“ทุกที่ ๆ ฉันไป ทุกคนทำงานหนักกันทั้งนั้น ฉันเคยลงปลูกต้นอัลมอนด์ เราได้รับค่าแรงเป็นชั่วโมง ฉันคิดว่าตอนนั้นเจ้าของฟาร์มตั้งเป้าไว้ให้เราลงได้อย่างน้อยวันละ 3,000 ต้น แต่ปรากฏว่าเราทำได้ตกวันละ 5,000 ต้นเลยทีเดียว”
แน่อยู่แล้วว่าจะต้องมีบางคนที่เกียจคร้าน แต่มันก็ไม่ต่างจากตอนที่เราไปเก็บอโวคาโด เราได้ค่าแรงเป็นรายชั่วโมง แล้วเราก็ทำได้เร็วกว่าที่เจ้าของฟาร์มคาดหวังไว้มาก
ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คุณมารีเล่าว่า ในตอนแรกเธอคิดว่าต้องการที่จะกลับไปฝรั่งเศส แต่จากสถานการณ์การระบาดที่เลวร้ายลง นั่นทำให้เธอรู้สึกปลอดภัยกว่าถ้าอยู่ในออสเตรเลีย
เราเพียงต้องการได้รับการปฏิบัติด้วยความเป็นมนุษย์และมีเกียรติเท่านั้นเอง คุณมารี กล่าว

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

'งานคลีน' ขาดคนหลังนักเรียนแห่ย้ายงาน


Share
Published 15 June 2021 5:49pm
Updated 15 June 2021 7:13pm
By Biwa Kwan
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends