แฟร์เวิร์กตัดสินให้แรงงานฟาร์มมีสิทธิ์ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ

สหภาพแรงงานตอบรับคำตัดสินประกันค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานฟาร์ม ซึ่งกว่าครึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราวที่ "เสี่ยงต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบ"

Workers prepare to collect poppy seeds by bagging seed pods in a poppy field near Devonport, Tasmania.

Workers prepare to collect poppy seeds by bagging seed pods in a poppy field near Devonport, Tasmania. Source: AAP

ล่าสุด อัตราใหม่สำหรับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานเก็บผักและผลไม้ในฟาร์มเริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2022

คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์ก (Fair Work Commission) มีคำตัดสินให้คนงานในฟาร์มและแรงงานเก็บผลไม้ที่ได้ค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต ต้องได้รับการประกันค่าจ้างขั้นต่ำภายใต้ข้อกำหนดอัตราค่าจ้างในอุตสาหกรรมเพาะปลูกพืชสวน (Horticulture Award)

อัตราค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต (piece rate) หมายความว่า ลูกจ้างได้ค่าตอบแทนตามปริมาณผลผลิตที่เก็บเกี่ยวหรือบรรจุหีบห่อ การคิดค่าจ้างในลักษณะนี้เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสหภาพแรงงานมายาวนานจากปัญหาค่าจ้างต่ำเกินควร

สหภาพแรงงานออสเตรเลีย (Australian Workers Union: AWU) ยื่นข้อร้องเรียนในประเด็นนี้ต่อคณะกรรมธิการแฟร์เวิร์กเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยยืนยันว่า แรงงานควรได้รับประกันค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราแคชวล (casual) ที่ 25.41 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (3 พ.ย.) คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กมีคำตัดสินระบุว่า บทบัญญัติว่าด้วยแรงงานที่ได้รับค่าจ้างตามปริมาณผลผลิตในข้อกำหนดอัตราค่าจ้างในอุตสาหกรรมเพาะปลูกพืชสวนนั้น “ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์” เนื่องจากบทบัญญัติเหล่านี้ไม่ได้มอบความคุ้มครองขั้นต่ำแก่แรงงาน (safety net) ที่เหมาะสมและเป็นธรรม

คณะกรรมาธิการกล่าวว่า จำเป็นต้อง “สอดแทรกอัตราพื้นฐานค่าจ้างขั้นต่ำ” พร้อมทั้งเสนอแนะว่าควรมี “บทบัญญัติสืบเนื่องว่าด้วยการบันทึกเวลา” เพื่อติดตามชั่วโมงทำงาน

นายแดเนียล วอลตัน (Daniel Walton) เลขาธิการระดับชาติของ AWU กล่าวว่าคำตัดสินครั้งนี้นับเป็น “หนึ่งในการตัดสินใจภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุดของยุคสมัยใหม่”

“ที่ผ่านมา คนเก็บผลไม้ในออสเตรเลียถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างเป็นระบบสม่ำเสมอ ทั้งยังได้รับค่าตอบแทนต่ำเกินควร” นายวอลตันกล่าว
“เกษตรกรจำนวนมากมีวิธีควบคุมบงการระบบค่าแรงตามปริมาณผลผลิต เพื่อตั้งค่าตอบแทนและสร้างเงื่อนไขที่ต่ำกว่ามาตรฐานของออสเตรเลียมาก”

คณะกรรมาธิการยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แรงงานเก็บเกี่ยวผลผลิตเกษตรตามฤดูกาลจำนวนไม่น้อยทำงานภายใต้อัตราค่าจ้างตามปริมาณผลผลิต อีกทั้งแรงงานเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้ย้ายถิ่นฐานชั่วคราว

การยื่นข้อร้องเรียนครั้งนี้ของ AWU ได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐบาลควีนส์แลนด์ รัฐบาลวิกตอเรีย และรัฐบาลเวสเทิร์นออสเตรเลีย รวมถึงสภาบริการสังคมแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Social Service)

สหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ (National Farmers Federation) กลุ่มอุตสาหกรรมแห่งออสเตรเลีย (Australian Industry Group) และสมาพันธ์ผู้ผลิตและจัดหาพืชผลแห่งออสเตรเลีย (Australian Fresh Produce Alliance) เป็นเสียงส่วนหนึ่งที่ออกมาคัดค้านการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

นายโทนี มาเฮอร์ (Tony Maher) ประธานบริหารสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาพันธ์ “ผิดหวัง” กับคำตัดสินครั้งนี้ โดยแย้งว่าภาระค่าใช้จ่ายจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

“บทบัญญัตินี้จะทำให้ผู้เพาะปลูกส่งผลิตผลเข้าซูเปอร์มาร์เก็ตในราคาที่แข่งขันได้ลำบากขึ้น เพราะตอนนี้ต้นทุนค่าแรงกำลังจะเพิ่มขึ้น” นายมาเฮอร์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการแฟร์เวิร์กเริ่มกระบวนการรับข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างข้อเสนอเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดดังกล่าวแล้ว

นายเดวิด ลิตเติลพราวด์ (David Littleproud) รัฐมนตรีเกษตรกรรมของออสเตรเลีย กล่าวว่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรับรองว่าการดำเนินการเป็นไปโดยราบรื่นที่สุด

“ไม่ว่าในอุตสาหกรรมใดก็จะมีส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งทำเรื่องที่ผิด ซึ่งต้องถูกถอนรากถอนโคน และกลุ่มนี้ในอุตสาหกรรมการเกษตรจะถูกขจัดออกไป” นายลิตเติลพราวด์กล่าวกับเอสบีเอส นิวส์

ด้านนายแอนโทนี อัลบานีซี ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า การจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่เรื่อง “ซับซ้อน” แต่เป็น “สิ่งที่ถูกต้องควรทำ”

“เราต้องหยุดยั้งไม่ให้ใครถูกเอารัดเอาเปรียบ” นายอัลบานีซีกล่าวกับผู้สื่อข่าว “การตัดสินใจครั้งนี้เป็นเรื่องน่ายินดี”

อ่านรายงานนี้ฉบับเต็มเป็นภาษาอังกฤษได้ที่เว็บไซต์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 4 November 2021 7:32pm
Updated 29 April 2022 4:06pm
By Tom Stayner
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: SBS News


Share this with family and friends