เรียกร้องยกเกณฑ์ภาษาอังกฤษในการรับนักเรียนนานาชาติให้สูงขึ้น

NEWS: นักเรียนนานาชาติซึ่งสนใจศึกษาที่มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียอาจเผชิญเกณฑ์การรับเข้าด้านภาษาอังกฤษที่สูงขึ้น หลังมีแรงผลักดันเรื่องดังกล่าวโดยมุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย นายแดเนียล แอนดรูวส์

Image of graduates throwing hats

ป้จจุบันรัฐบาลจะออกวีซ่านักเรียนให้ได้ตั้งแต่คะแนน 4.5 ถ้าหากว่านักเรียนนั้นลงทะเบียนหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษเข้มข้น 20 สัปดาห์ Source: REUTERS/Vasily Fedosenko

You can read the full version of this story in English on SBS News .

มีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลสหพันธรัฐพิจารณาเกณฑ์ภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยต่างๆ เนื่องจากความวิตกกังวลที่ว่านักเรียนนานาชาตินั้นตามไม่ทันเพื่อน

มุขมนตรีรัฐวิกตอเรีย นายแดเนียล แอนดรูวส์ ได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรถึงสหภาพการศึกษาระดับตติยภูมิแห่งชาติ (National Tertiary Education Union, NTEU) สาขารัฐวิกตอเรีย ว่าเขาจะกระตุ้นให้รัฐบาลของนายมอร์ริสันดำเนินการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

ภายใต้เกณฑ์ปัจจุบัน ผู้ที่ต้องการถือวีซ่านักเรียนจำเป็นจะต้องได้คะแนนอย่างน้อย 5.5 จากเก้า ในการสอบไอเอลส์ (International English Language Testing System)

มหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งกำหนดให้นักเรียนจะต้องมีคะแนนอยู่ระหว่างหกถึงเจ็ด แต่รัฐบาลจะออกวีซ่านักเรียนให้ได้ตั้งแต่คะแนน 4.5 - ซึ่งจัดว่าเป็นความรู้เข้าใจภาษาอังกฤษที่จำกัด หรือขั้นต่ำ - ถ้าหากว่านักเรียนนั้นลงทะเบียนหลักสูตรเรียนภาษาอังกฤษอย่างเข้มข้น 20 สัปดาห์

ซึ่งนักเรียนก็จำเป็นจะต้องผ่านหลักสูตรดังกล่าว แต่ก็ไม่จำเห็นที่จะต้องทำการสอบภาษาอังกฤษอีกครั้ง

รักษาการรัฐมนตรีการศึกษาระดับสูงรัฐวิกตอเรีย นายเจมส์ เมอร์ลิโน เผยแพร่แถลงการณ์ซึ่งกล่าวว่า (ทักษะภาษาอังกฤษที่ไม่เพียงพอ) จะบั่นทอนความสามารถในการเรียนที่ประเทศออสเตรเลียของนักเรียนนานาชาติ

“นักเรียนนานาชาตินั้นเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบการศึกษารัฐวิกตอเรีย แต่มันน่าเป็นห่วงที่นักเรียนบางคนลงทะเบียนเรียนหลักสูตรต่างๆ โดยไม่มีทักษะภาษาอังกฤษเพียงพอที่จะเรียนได้จนจบ” เขากล่าว

“เรื่องนี้ไม่ยุติธรรมต่อทั้งนักเรียนเองและพนักงานผู้ฝึกสอน จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพิจารณาเพื่อเสนอเรื่องนี้ขึ้นไปยังระดับสหพันธรัฐ”
Tertiary students at the University of Melbourne in Melbourne
International students at Melbourne University in Melbourne Source: AAP
แต่รัฐมนตรีการศึกษาของสหพันธรัฐก็ได้ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับของเขาเอง

โดยในแถลงการณ์ เขากล่าวว่า มันเป็นความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยในการพยายามเพื่อให้แน่ใจว่านักเรียนของพวกเขานั้นมีทักษะทางภาษาที่เพียงพอ

“คุณสามารถตัดสินคุณภาพของภาคส่วนดังกล่าวของประเทศออสเตรเลียได้จากจำนวนนักเรียนนานาชาติที่เราดึงดูดมาได้ โดยศูนย์สำหรับการศึกษาต่อระดับสูงที่ประเทศอังกฤษได้พยากรณ์ว่าออสเตรเลียจะก้าวกระโดด แซงสหราชอาณาจักรขึ้นไปเป็นที่หมายยอดนิยมอันดับสองของโลกสำหรับนักเรียนนานาชาติในปีนี้” เขากล่าว

“มหาวิทยาลัยมีความรับผิดชอบในการพยายามให้แน่ใจว่านักเรียนที่ลงทะเบียนกับพวกเขานั้นมีทักษะทางภาษา(เพียงพอ)ที่จะมีส่วนร่วมต่อการศึกษาได้อย่างเต็มที่ และผ่านเกณฑ์มาตรฐานของ Higher Education Standards Framework 2015”

ประธานระดับชาติของงสหภาพการศึกษาระดับตติยภูมิแห่งชาติ ดร. อลิสัน บาร์นส์ กล่าวว่า การตัดเงินทุนช่วยเหลือโดยรัฐบาลสหพันธรัฐต่อภาคส่วนมหาวิทยาลัยนั้นไม่ได้ช่วยสถานการณ์ดังกล่าว โดยมีพนักงานจำนวนน้อยลงที่จะให้ความช่วยเหลือกับนักเรียน

แต่เธอก็เห็นด้วยว่าความรับผิดชอบนั้นเป็นของมหาวิทยาลัย

“มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียนั้นบริหารงานด้วยตัวเอง โดยเป็นสถาบันซึ่งรับรองคุณภาพตัวเอง และพวกเขาก็มีความรับผิดชอบต่อการตั้งมาตรฐานต่างๆ ของพวกเขาเอง” เธอกล่าว “ดังนั้น เราขอเรียกร้องต่อมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบในเรื่องการรับนักเรียนเพื่อลงทะเบียน”
แต่ผู้บริหารสูงสุดของ สมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย (International Education Association of Australia) นายฟิล ฮันนีย์วูด กล่าวว่า มหาวิทยาลัยต่างๆ นั้นได้ตั้งมาตรฐานภาษาอังกฤษไว้สูงอยู่แล้วสำหรับนักเรียนนานาชาติ

“ออสเตรเลียมีเกณฑ์ภาษาอังกฤษเพื่อการรับเข้าเรียนที่เข้าข่ายเคร่งครัดที่สุดในโลกสำหรับการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา” เขากล่าว

“กฎเกณฑ์ต่างๆ ของเราซึ่งเคร่งครัดในเรื่องนี้เป็นที่อิจฉาของหลายๆ ประเทศเช่น แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ซึ่งพวกเราแข่งขันด้วยโดยตรง”

สภานักเรียนนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (The Council of International Students Australia) กล่าวว่า ยินดีต่อการพิจารณาระดับภาษาอังกฤษในการรับเข้าศึกษาสำหรับวีซ่านักเรียน

แต่โฆษกของสภาฯ นายแมนเฟร็ด มเล็ตซิน กล่าวว่ามหาวิทยาลัยก็จำเป็นจะต้องมีบทบาท

“พวกเขาจำเป็นต้องทำงานร่วมกันในเรื่องนี้อย่างแน่นอน” เขากล่าว “มันไม่ใช่แต่เพียงทางมหาวิทยาลัยหรือทางรัฐบาล เพราะมันชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยนั้นพยายามมองหานักเรียนเพิ่มเติม แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็จำเป็นจะต้องรักษาคุณภาพการศึกษาให้อยู่ในระดับที่สูง”

“เช่นเดียวกันกับรัฐบาล ซึ่งก็ชัดเจนว่ารัฐบาลนั้นต้องการบัณฑิตที่ประสบความสำเร็จ”
international students
มีการโต้แย้งว่ามหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาคของออสเตรเลียนั้นยังไม่พร้อมที่จะรับนักเรียนนานาชาติเป็นจำนวนมาก (Source: AAP) Source: AAP
นายมเล็ตซินขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ที่นครดาร์วิน หลังย้ายมาจากประเทศเอสโตเนีย

เขาเติบโตขึ้นมาโดยเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนประถมฯ และมัธยมฯ เขาจึงกล่าวว่า ทักษะทางภาษาของเขาไม่ได้เป็นตัวถ่วงต่อการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของเขา

แต่เขาก็กล่าวว่า สำหรับนักเรียนนานาชาติซึ่งไม่เก่งภาษาอังกฤษ เรื่องนี้ก็อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตของพวกเขา

“มีนักเรียนจำนวนหนึ่งซึ่งประสบความทุกข์ยากจากภาวะวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า และถึงผมนั้นไม่ใช่นักจิตวิทยา แต่ผมรู้สึกได้เมื่ออยู่ท่ามกลางนักเรียนเหล่านั้น” เขากล่าว

“และยังมีปัญหาเมื่อนักเรียนประสบความยากลำบากในชั้นเรียนหรือเมื่อมีส่วนร่วมในการทำงานกลุ่ม และหลายๆ คนก็ประสบกับความยากลำบากในการทำงานที่ได้รับมอบหมาย บ่อยครั้งก็ทำหนักเป็นสองเท่าของที่ควร”

นายฟิล ฮันนีย์วูด จากสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งออสเตรเลีย กล่าวว่า ตัวของนักเรียนนานาชาติเองนั้นก็มีบทบาท

“พวกเขามักจะทำผิดพลาดด้วยการพักอาศัยร่วมกับนักเรียนชาติเดียวกัน และดังนั้นก็พูดภาษาเดียวกันซึ่งไม่ใช่ภาษาอังกฤษ ในบ้านที่แชร์กัน” เขากล่าว

“ดังนั้นมันก็มีองค์ประกอบด้านความรับผิดชอบส่วนบุคคลด้วย โดยทางสถาบันผู้ให้การศึกษานั้นมีความรับผิดชอบเป็นหลัก ในเรื่องของการพยายามให้แน่ใจว่านักเรียนของพวกเขานั้นมีมาตรฐานตามที่ออสเตรเลียได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด”

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 January 2019 1:20pm
Updated 24 January 2019 1:23pm
By Tara Cosoleto
Presented by Tanu Attajarusit
Source: SBS News, AAP, Reuters


Share this with family and friends