วิกฤติโคโรนาดันยอดขายออนไลน์ร้านอาหารไทยพุ่งพรวด

ในขณะที่นักท่องเที่ยวถูกจำกัดการเดินทางเข้าประเทศออสเตรเลีย และคนท้องถิ่นเองก็ไม่อยากออกไปทานอาหารนอกบ้านมากนัก บรรดาผู้ประกอบการร้านอาหารไทยต่างพากันปรับกลยุทธ์การขายไปที่ระบบการสั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น

พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรู

Source: AAP

วิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาที่ดำเนินมาตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบไปยังหลายธุรกิจ รวมไปถึงธุรกิจร้านอาหารไทย ที่ลูกค้าหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายร้านต้องปรับมาตรการเพื่อดึงความมั่นใจให้กับลูกค้าทั้งเรื่องความสะอาดและรวมไปถึงการดูแลสุขภาพของพนักงานเองด้วย นอกจากนี้หลายร้านยังปรับกลยุทธ์การขายไปเน้นที่ระบบการสั่งอาหารออนไลน์ ที่กำลังจะกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญในช่วงนี้
คุณดาเรศ กรายแก้ว หรือที่รู้จักกันในนามคุณเดียร์ เป็นเจ้าของร้านอาหาร ณ บางกอก ที่นครซิดนีย์ โดยเธอบอกว่าผลจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด 19 นั้นมีผลกระทบทุกธุรกิจ บรรยากาศโดยรวมในย่านไทยทาวน์ของนครซิดนีย์นั้นเงียบลงมาก ส่วนร้านอาหารของเธอเองก็ได้รับผลกระทบบ้าง

“ผลกระทบมีค่ะ ไม่ใช่ไม่มี คือลูกค้าเนี่ยมาน้อยลง แต่สิ่งที่เห็นมากขึ้นคือออเดอร์ที่มาทางโทรศัพท์เป็นเดลิเวอรีมากขึ้น ลูกค้าที่เข้ามานั่งทานในร้านเนี่ยตกลงแน่นอนอยู่แล้วเพราะว่าคนอาจจะมีความตื่นกลัวเรื่องที่จะออกมาข้างนอกหรือว่ามาใช้ที่สาธารณะ แต่ว่ายอดในการสั่ง Uber eats หรือว่ายอดในการสั่งเดลิเวอรีเนี่ยเพิ่มขึ้นเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์”

“โดยส่วนตัวแล้วเนี่ยนะคะ คือบรรยากาศโดยรวมของไทยทาวน์หรือไชนาทาวน์เนี่ยจะเงียบ จะดูแล้วแบบ ความคึกคักหายไปค่อนข้างเงียบไปเยอะเลยน่ะค่ะ”

เช่นเดียวกันกับ คุณไอซ์ ผู้จัดการและหุ้นส่วน ร้านอาหารกินไทย ที่นครบริสเบน บอกกับเอสบีเอสไทยว่า ตั้งแต่มีเรื่องเชื่อไวรัสโคโรนาเกิดขึ้นมาทำให้ยอดขายหายไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในทางกลับกันยอดขายออนไลน์กลับเพิ่มมากขึ้น

“ทุกวันนี้เงียบมากๆ เลยครับ แทบจะไม่ค่อยมีลูกค้า จากเดิมที่ลูกค้านี่แน่นทุกวันเลยครับ ตอนนี้แทบจะเหลือแค่ครึ่งร้านได้เลยครับ”

“ผมเชื่อว่าตอนนี้ลูกค้าส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ที่บ้านเป็นหลัก ไม่ค่อยได้ออกมาทาน ผมก็เลยอัพเซลส์เกี่ยวกับเรื่อง Uber eats ให้ส่วนลดโฮมเดลิเวอรีของแอปพลิเคชันต่างๆ เพราะว่าช่วงนี้ออเดอร์ออนไลน์จะค่อนข้างจะเยอะ แต่ลูกค้าที่ทานในร้านจะค่อนข้างจะน้อย เราก็เลยจะไปอัพเซลส์ในส่วนของพวกนั้นแทน”

ด้านคุณแน็ต ผู้จัดการร้าน Bangkok terrace, Nara Thai street food และ Isarn soul ที่นครเมลเบิร์น บอกว่าลูกค้าที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหายไปหมด

“คนตอนนี้ก็คือ ยอดออกมาทานข้าวนอกบ้านเค้าลดลงน่ะค่ะ เราก็ต้องเน้นไปที่เดลิเวอรีมากขึ้น ยอดการสั่งกลับบ้านและเดลิเวอรีจะเพิ่มมากขึ้น ถ้าร้านอาหารในเมืองก็จะกระทบนิดนึงเพราะส่วนมากลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวผสมแบบครึ่งๆ กับคนที่นี่น่ะค่ะ ตอนนี้ทางด้านนักท่องเที่ยวก็คือหายไปเลย”

คุณชยากร หรือคุณป๊อป หนึ่งในหุ้นส่วนของร้านอาหาร Abb Air ที่นครซิดนีย์ บอกว่าร้านของเขานั้นมีผลกระทบเพียง 10 – 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

“ต้องบอกว่าอาจจะโชคดีน่ะครับ ด้วยร้านที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มันเป็นใจกลาง ทำให้ลูกค้าเข้ามาทานอาหารที่ร้านได้ง่าย แล้วอาหารที่เราขายก็เป็นอาหารที่ไม่แพง แล้วก็เป็นอาหารที่สามารถกินได้ทั้งวัน ทุกวันน่ะครับ”
Representative image of a chef in a restaurant.
Source: Pixabay
ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ร้านอาหารแต่ละร้านได้มีการปรับมาตรการในเรื่องของการรักษาความสะอาดและดูแลสุขภาพของพนักงานในร้านมากขึ้น

คุณพรทิวา กวีวัชรนนท์ ผู้จัดการร้านอาหารถนนข้าวสาร ที่นครซิดนีย์ บอกว่าในช่วงนี้ที่ร้านจะเน้นเรื่องความสะอาดเป็นหลัก

“เราก็จะมีเจลล้างมือให้น่ะค่ะ ตั้งแต่ก้าวเข้ามาน่ะค่ะ ตั้งไว้ที่หน้าร้านเลย เพื่อลูกค้าจะได้ใช้ แล้วออกจากร้านเราก็มีให้ใช้อีก แล้วในแง่ของการทำความสะอาดโต๊ะด้วยค่ะ เราก็ต้องทำความสะอาดถี่ขึ้น รวมทั้งเมนู โต๊ะ เก้าอี้ ห้องน้ำ เราก็มีการทำความสะอาดบ่อยขึ้น”

โดยคุณดาเรศ กรายแก้ว ร้านอาหาร ณ บางกอก บอกว่า ที่ร้านจะมีน้ำยาแอลกอฮอล์ตั้งใว้ตามจุดต่างๆ เช่นกัน เพื่อให้พนักงานใช้ทำความสะอาดได้อย่างสะดวก ส่วนพนักงานที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากเมืองไทย จะต้องมีระยะเวลาเฝ้าระวัง 14 วันก่อนกลับมาทำงาน

“ใครที่เดินทางไปเมืองไทยหรือไปที่อื่นมา เราก็จะยังไม่ให้เขากลับมาทำงาน ขอให้อยู่บ้านก่อน 14 วัน เพราะเราก็ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย เพราะลูกค้าให้ความไว้วางใจมาทานที่ร้าน เราก็ต้องดูแลในส่วนนี้ด้วยค่ะ”

ด้านคุณชยากร จากร้าน Abb Air บอกว่า ร้านอยู่ใน World Square Shopping Centre ซึ่งทางศูนย์การค้ามีมาตรการที่คอยควบคุมความปลอดภัยและความสะอาดของร้านต่างๆ ภายในศูนย์การค้าอยู่แล้ว แต่ทางร้านเองก็มีมาตรการอื่นๆ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้ลูกค้าเช่นเดียวกัน

“พนักงานของเราก็จะมีการหมั่นล้างมือมากขึ้น รักษาสุขอนามัยในร้านมากขึ้น เรามีเจลก็เอามาวางไว้ข้างหน้าร้าน เพื่อที่ลูกค้าสามารถที่จะใช้ได้เต็มที่”

“ส่วนในการปรุงอาหารเนี่ย เรามีการตรวจสอบแล้วก็เช็คให้มากกว่าเดิม อย่างเช่น ในการเสิร์ฟอาหารลูกค้าอย่างเนี้ย เราก็ต้องมีทำความสะอาดให้มากขึ้น ในส่วนให้บริการลูกค้า ตำแหน่งที่มีการจับบ่อย อย่างเช่นตรงเมนูอย่างเนี้ย เราก็จะมีการทำความสะอาดให้มากขึ้น”

คุณไอซ์ ผู้จัดการและหุ้นส่วน ร้านอาหารกินไทย ที่นครบริสเบน บอกว่าที่ร้านก็เน้นเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยต่อตัวพนักงานเช่นกัน

“ตอนนี้หลังจากที่น้องกลับจากไทยทุกคนต้องกักตัว 14 วันก่อนที่จะเริ่มงาน เพื่อดูระยะการฟักตัวของไข้หวัด แล้วหลังจากผ่าน 14 วันเนี้ย คุณต้องไปหาหมอแล้วเอาใบรับรองการทำงานกลับมาให้ผม ถ้าคนไหนที่หมอยืนยันแล้วว่าไม่ติดเชื้อโรค หรือว่าไม่มีปัญหาอะไร ผมก็จะให้กลับเข้ามาทำงาน”

“ช่วงนี้ผมจะกำชับน้อง (พนักงาน) เสมอว่า อาจจะต้องใส่ถุงมือในการเก็บโต๊ะ เพื่อหลีกเลี่ยงลูกค้าบางคน สัมผัสทิชชู ว่าไอจามใส่ทิชชูแล้วเราสัมผัสทิชชูของเขา มันอาจจะทำให้เกิดการติดโรค”
คุณดาเรศ จากร้านอาหาร ณ บางกอก ยังทิ้งท้ายถึงรัฐบาลว่าอยากให้เข้ามาช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กบ้าง

“ภาคเอกชนที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กเนี่ยค่อนข้างจะได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ซึ่งถ้ารัฐไม่ช่วยเลยเนี่ย เราอยู่ยากจริงๆ แทบจะต้องบอกว่าบางคนอาจจะต้องม้วนเสื่อด้วยซ้ำปีนี้ เราก็คาดหวังจริงๆ ว่ารัฐบาลจะเข้ามาดูตรงนี้ โดยเฉพาะเรื่องภาษี ให้ลดหย่อนผ่อนให้เรา หรือว่าทำอย่างไรให้สถานการณ์มันทุเลาลงในด้านการเงินบ้าง เพราะไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ยากน่ะค่ะ”

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 18 March 2020 3:16pm
Updated 18 March 2020 3:18pm
By Narissara Kaewvilai

Share this with family and friends