Silhouette of a woman standing against orange sky during sunset.
Silhouette of a woman standing against orange sky during sunset.
This article is more than 1 year old

ข้อเสนอใหม่ที่มุ่งเสริมพลังให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นที่ถูกเอาเปรียบ

เลย์กำลังติดตามเอาค่าจ้างหลายพันดอลลาร์ที่ค้างจ่ายคืนจากนายจ้างเก่า นักวิจัยและผู้เป็นกระบอกเสียงต่างกล่าวว่า การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก จึงมีข้อเสนอใหม่ที่มุ่งเสริมพลังให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นเช่นเลย์

Published 6 March 2023 11:46am
By Jessica Bahr
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS
Image: A new proposal is calling for whistleblower protections for migrant workers. (Getty / Fabio Zignego/ EyeEm)
ประเด็นสำคัญ
  • มีข้อเสนอใหม่เรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเรื่องแรงงานข้ามชาติที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ
  • ข้อเสนอที่ใช้ชื่อว่า Breaking the Silence เรียกร้องให้มีการคุ้มครอง เพื่อให้ผู้ย้ายถิ่นฐานที่ถูกเอารัดเอาเปรียบสามารถดำเนินการเอาผิดกับนายจ้างได้
  • จากข้อมูลของสถาบันความยุติธรรมเพื่อผู้ย้ายถิ่น (Migrant Justice Institute) ชี้ว่า 3 ใน 4 ของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานมีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ
เลย์* เดินทางมาที่ออสเตรเลียจากไต้หวันด้วยความฝันที่จะปรับปรุงทักษะภาษาอังกฤษ ได้ปริญญา และพัฒนาทักษะเพื่อเปิดกิจการของเธอเอง

แต่เธอบอกว่า เธอกลับถูกนายจ้างเก่าเอาเปรียบและต้องใช้เวลาหลายปีในการติดตามเงินหลายพันดอลลาร์ที่นายจ้างเก่าค้างจ่ายเธออยู่

เลย์กำลังศึกษาในมหาวิทยาลัยเมื่อเธอเริ่มทำงานเป็นพนักงานแคชวลที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในปี 2019 โดยได้รับค่าจ้าง 13-15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงเป็นเวลา 6 เดือน จนกระทั่งวันหนึ่งเธอได้รับบาดเจ็บระหว่างที่ทำงาน

เธอบอกว่า จากนั้นเธอก็ถูกลบออกจากกลุ่มวีแชต (WeChat) ของร้าน เธอไม่สามารถเข้าถึงรายละเอียดกะการทำงานทางออนไลน์ได้อีกต่อไป และไม่สามารถกลับไปทำงานได้
เลย์บอกกับเอสบีเอส นิวส์ ว่า ขณะที่เธอกำลังหาข้อมูลออนไลน์เรื่องค่าจ้างที่ควรได้รับ เธอจึงเพิ่งตระหนักว่า เธอได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ เธอได้คำนวณออกมาว่านายจ้างเก่าติดหนี้เธออยู่มากกว่า 9,000 ดอลลาร์

“มันเป็นหยาดเหงื่อแรงงานของฉัน ฉันก็สมควรได้รับเงินจำนวนนี้” เลย์ กล่าว

“ฉันใช้ทนายความเพื่อเจรจาและนายจ้างก็ตกลงที่จะจ่ายเงิน แต่โชคร้ายที่ฉันกลับไปไต้หวันในช่วงตรุษจีนปี 2020 และติดอยู่ที่นั่นเพราะโควิด-19”
Barista making a coffee
เลย์ (ชื่อสมมุติ) กล่าวว่า เธอได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในออสเตรเลีย Source: Getty
เมื่อเธอกลับมายังออสเตรเลีย เธอก็พบว่าธุรกิจดังกล่าวได้เลิกกิจการไปแล้ว

สองปีต่อมา ด้วยการสนับสนุนของบริการทางกฎหมายด้านสิทธิการจ้างงาน (Employment Rights Legal Service) เธอยังคงพยายามติดตามเงินคืน และเชื่อว่าคนอื่นๆ ก็ตกอยู่ในสถานการณ์คล้ายๆ กัน แต่อาจไม่กล้าพูดออกมา

“พนักงานทั้งหมดที่ทำงานที่นั่นเป็นนักศึกษาต่างชาติ … พนักงานหลายคนถูกบีบให้ต้องทำงานนานหลายชั่วโมงและทำงานล่วงเวลา และหากพวกเขาไม่เห็นด้วย พวกเขาก็จะถูกเลิกจ้าง” เลย์กล่าว

"ในตอนนั้น ฉันมีความกังวลเรื่องนี้ ... ชั่วโมงการทำงานของฉันมากกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขวีซ่าของฉัน แต่รู้สึกว่าฉันไม่สามารถร้องเรียนได้และรู้สึกกดดันอย่างมาก ... มันไม่ง่ายเลยที่จะได้งาน แต่ถ้าฉันไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงินเรียนที่นี่”

เลย์ไม่ได้เป็นคนเดียวที่พบสถานการณ์เช่นนี้

ข้อเสนอการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส

ค่าจ้างต่ำ สภาพแวดล้อมการทำงานที่ยากลำบาก และชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน

สำหรับผู้ที่ประสบกับสภาพการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น การดำเนินการกับนายจ้างอาจเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่นเดียวกับเลย์ หลายคนไม่กล้าร้องเรียนเพราะกลัวตกงานหรือกลัวว่าจะส่งผลเสียต่อวีซ่า แต่มีข้อเสนอใหม่ที่พยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้
ข้อเสนอที่ใช้ชื่อว่า Breaking the Silence (ทลายความเงียบงัน) นำโดยสถาบันความยุติธรรมเพื่อผู้ย้ายถิ่น (Migrant Justice Institute) และศูนย์กฎหมายด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Law Centre) กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลกลางให้การคุ้มครองแก่ผู้แจ้งเบาะแสเพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นแจ้งกรณีการถูกเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงาน

ข้อเสนอดังกล่าวซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มพันธมิตรกว่า 40 องค์กร กำลังเรียกร้องให้มีการคุ้มครองโดยไม่ยกเลิกวีซ่าของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งดำเนินการเอาผิดกับนายจ้าง

นอกจากนี้ยังรวมถึงวีซ่าระยะสั้น เพื่อให้ผู้ย้ายถิ่นสามารถอยู่ในออสเตรเลียและดำเนินการทางกฎหมายในกรณีที่เชื่อว่าพวกเขาถูกละเมิดสิทธิ

การเอารัดเอาเปรียบลูกจ้างเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน?

สถาบันความยุติธรรมเพื่อผู้ย้ายถิ่น (Migrant Justice Institute) ได้ทำการสำรวจลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นจำนวน 15,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และพบว่าลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น 3 ใน 4 มีรายได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำทั่วไปในออสเตรเลีย 1 ใน 4 มีรายได้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ

ลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ 9 ใน 10 คนไม่ดำเนินการใด ๆ เนื่องลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นเกรงว่าอาจส่งผลเสียต่อวีซ่า หากพวกเขาแจ้งร้องเรียนนายจ้าง หรือดำเนินการทางกฎหมาย

คุณแมตต์ คันเคล ผู้บริหารของศูนย์ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐาน (Migrant Workers Center) กล่าวว่า การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสจะเสริมพลังให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นกล้าแจ้งร้องเรียนหากนายจ้างเอาเปรียบพวกเขา เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องกลัวว่าจะถูกยกเลิกวีซ่า

“ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานส่วนใหญ่ในออสเตรเลียประสบกับการถูกนายจ้างขโมยค่าจ้าง (wage theft) บางคนเผชิญกับการเอารัดเอาเปรียบในรูปแบบที่แย่กว่านั้นจากน้ำมือของนายจ้าง ซึ่งมักจะยึดหนังสือเดินทางของพวกเขาไว้” คุณคันเคล กล่าว

"การปกป้องผู้แจ้งเบาะแสเป็นสิ่งสำคัญ หากเราจะจริงจังกับการปราบปรามการเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงาน"
คุณคันเคลกล่าวว่า ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานจำนวนมากเผชิญกับ "สถานการณ์ที่ไม่มีทางเลือก" และถูก "บังคับให้ต้องเลือก" ระหว่างการจะมีงานที่มั่นคงและอยู่ต่อไปในออสเตรเลียได้ หรือจะเลือกดำเนินการกับนายจ้าง

“เป็นเรื่องไร้สามัญสำนึกที่ระบบวีซ่าของเราบังคับให้คนงานจำนวนมากต้องเลือกระหว่างการจะได้อยู่อาศัยที่นี่ต่อไป หรือจะเลือกเอาสิทธิในที่ทำงาน” คุณคันเคล กล่าว

"การคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเหล่านี้จะช่วยเสริมพลังให้ลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นฐานสามารถแสวงหาการจ้างงานที่เป็นธรรมและได้รับการปฏิบัติอย่างสมาชิกที่เท่าเทียมในชุมชนของเรา ลูกจ้างทุกคนจะได้รับประโยชน์"

การสำรวจของสถาบันความยุติธรรมเพื่อผู้ย้ายถิ่น (Migrant Justice Institute) ไม่ใช่การสำรวจแรกที่ชี้ให้เห็นปัญหาเรื่องนายจ้างขโมยค่าจ้างของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่น ในเดือนธันวาคม ที่แสดงให้เห็นว่ากว่าร้อยละ 60 ของโฆษณางานที่สหภาพตรวจสอบในอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 อันดับแรกของประเทศ เสนอให้อัตราค่าจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

โฆษณางานส่วนใหญ่กว่า 7,000 รายการที่สหภาพตรวจสอบเป็นโฆษณาภาษาต่างประเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่าลูกจ้างจำนวนมากถูกเอาเปรียบจากผู้ที่อยู่ในชุมชนภาษาของตนในออสเตรเลีย

มากกว่า 1 ใน 3 ของลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นที่ตอบแบบสำรวจรายงานว่า พวกเขาได้รับค่าจ้างหรือได้รับการเสนอเงินเดือนที่ต่ำกว่าลูกจ้างทั่วไปเนื่องจากวีซ่าของพวกเขา และมากกว่า 1 ใน 4 กล่าวว่าพวกเขาได้รับเงินเดือนที่น้อยกว่าเนื่องจากสัญชาติของพวกเขา
ในปี 2017 รัฐบาลสหพันธรัฐชุดก่อนได้เริ่มใช้มาตรการให้ความมั่นใจ (Assurance Protocol) เพื่อปกป้องลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นที่ละเมิดเงื่อนไขวีซ่าอันเนื่องมาจากการถูกเอารัดเอาเปรียบในที่ทำงาน โดยพวกเขาจะไม่ถูกยกเลิกวีซ่า หากพวกเขาแจ้งเรื่องการถูกนายจ้างเอาเปรียบไปยัง Fair Work Ombudsman (ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม) และลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นผู้นั้นช่วยให้ข้อมูลในการตรวจสอบ

แต่ข้อเสนอ Breaking the Silence ระบุว่า มาตรการดังกล่าว "ไม่ได้ผล" เนื่องจากมีลูกจ้างผู้ย้ายถิ่นราว 15 คนที่ใช้มาตรการคุ้มครอง Assurance Protocol นี้ในแต่ละปี

ทั้งนี้ เอสบีเอส นิวส์ ได้ติดต่อกระทรวงกิจการภายในเพื่อขอความเห็น

* ชื่อสมมุติ

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share