ลูอิซาเพิ่งหายจากโควิดจึงยังฉีดวัคซีนไม่ได้ เธอต้องเผชิญกับตราบาปที่มาพร้อมกัน

ขณะที่ออสเตรเลียเริ่มเปิดเมืองและเปิดประเทศ ชาวออสเตรเลียที่ต้องรอก่อนจึงจะฉีดวัคซีนได้เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาติดโควิด กำลังเผชิญกับตราบาป (stigma) และความยากลำบากในการเข้าถึงเศรษฐกิจที่เปิดให้เฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนแล้วเท่านั้น

Australians are now required to show proof of double vaccination, or an exemption, to access certain services.

Australians are now required to show proof of double vaccination, or an exemption, to access certain services. Source: AAP

ลูอิซา* วัย 25 ปี ชาวซิดนีย์ เพิ่งหายจากโควิด-19 และได้รับอนุญาตให้สิ้นสุดการกักตัวที่บ้าน 14 วันจากสาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์ (NSW Health) เมื่อต้นเดือนนี้

แต่ถึงแม้จะได้รับการรับรองทุกอย่าง และรู้สึกว่าหายดีแล้วจากการป่วย แต่ผลสะท้อนที่ตามมาภายหลังของการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงอยู่
ผู้คนยังคงกลัวหรือตระหนกอยู่บ้างเมื่อคุณบอกพวกเขาว่าคุณเคยติดเชื้อโควิด
“สิ่งที่ทำให้ฉันประหลาดใจก็คือบางครั้งและในบางสถานการณ์ มันก็เป็นเรื่องตลก และคุณสามารถพูดเล่นในเรื่องนี้กับคนที่เป็นเพื่อนกันได้ อะไรทำนองนั้น แต่ในสถานการณ์อื่นๆ มันค่อนข้างน่าหงุดหงิด ฉันคิดว่าผู้คนยังคงกลัวหรือตระหนกอยู่บ้างเมื่อคุณบอกพวกเขาว่าคุณเคยติดเชื้อโควิด” ลูอิซา กล่าว

“พวกเขาคิดว่าคุณยังคงมีเชื้ออยู่ แม้ว่าคนที่มีความคิดปกติดีคงไม่มีใครที่จะออกไปข้างนอกขณะที่ยังคงสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้”

และผู้รอดชีวิตจากโควิด-19 ไม่ได้เพียงแค่เผชิญกับตราบาปที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสชนิดนี้เท่านั้น

พวกเขายังต้องฝ่าฟันอุปสรรคด้านกฎระเบียบและมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ เมื่อกลับเข้าสู่ 'เศรษฐกิจสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วเท่านั้น'
ตัวอย่างเช่น สาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์ ไม่แนะนำให้รับการตรวจเชื้อไวรัสเป็นประจำอย่างน้อย 6 เดือนหลังจากฟื้นตัวแล้ว เนื่องจากผู้คนยังคงสามารถพบผลการตรวจเชื้อเป็นบวกได้ แม้ว่าพวกเขาจะอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้แล้วก็ตาม

แต่ลูอิซาจำเป็นต้องตรวจเชื้อด้วยอุปกรณ์ตรวจเชื้อแบบทราบผลรวดเร็วทุกวันในที่ทำงานของเธอ และยังมีการขอให้เธอแสดงผลการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ ที่มีผลเป็นลบ จึงจะสามารถไปเข้าร่วมการนัดหมายอื่นๆ ได้

“การพยายามนัดเวลาเพื่อพบแพทย์หรือพยายามนัดเพื่อพบทันตแพทย์นั้น ไม่ใช่ว่าเราจะถูกปฏิเสธเสมอไป หรือไม่ใช่ว่าพวกเขาจะบอกว่า คุณไม่สามารถจองเวลานัดได้ แต่ทันทีที่พวกเขารู้ มันก็จะประมาณว่า ‘บางทีเราอาจจองนัดให้คุณได้ในอีกสองสัปดาห์ข้างหน้า'" ลูอิซา กล่าว

ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วในรัฐนิวเซาท์เวลส์และในรัฐและมณฑลอื่นๆ ทั่วประเทศจะต้องแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีน พร้อมเครื่องหมายถูกสีเขียวขนาดใหญ่ในใบรับรอง เพื่อจะสามารถเข้าถึงธุรกิจและบริการได้
Melburnians at Cafe Chez Mademoiselle in Prahran, October 22, 2021.
Melburnians at Cafe Chez Mademoiselle in Prahran, October 22, 2021. Source: AAP
แต่ลูอิซาไม่สามารถรับวัคซีนโดสที่สองของเธอได้เนื่องจากเพิ่งหายจากการติดเชื้อได้ไม่นานพอ เธอจึงได้รับเอกสารที่แตกต่างออกไป ซึ่งได้แก่ใบแจ้งการยกเว้นทางการแพทย์ (medical clearance notice) จากสาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์

เอกสารนี้ควรช่วยให้เธอเข้าถึงบริการและกิจกรรมต่างๆ ได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ธุรกิจและคลินิกหลายแห่งไม่คุ้นเคยกับเอกสารที่เธอแสดงให้พวกเขาดู

“ฉันเข้าใจดีว่าผู้คนต้องการอยู่อย่างปลอดภัย แต่ฉันก็ไม่ต้องการที่จะต้องอธิบายในทุกๆ สถานที่ที่ฉันไปว่าเหตุใดฉันจึงไม่สามารถรับการตรวจเชื้อได้ และเครื่องหมายถูกที่ฉันมีจึงดูแตกต่างไปของคนอื่น การที่ต้องอธิบายเรื่องนี้ให้ธุรกิจต่างๆ ฟังทุกครั้ง มันน่าหงุดหงิดใจอยู่บ้าง”

โฆษกของสาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์ บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ (SBS News) ว่ารัฐบาลได้ปรึกษากับชุมชนธุรกิจเกี่ยวกับประเภทของข้อยกเว้นที่ยอมรับได้ ซึ่งรวมถึงใบแจ้งการยกเว้นทางการแพทย์ (medical clearance notice)

สาธารณสุขนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า เพื่อช่วยเหลือธุรกิจและประชาชนทั่วไป

แต่คุณเอียน นีล ทนายความด้านการจ้างงาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎบังคับให้ฉีดวัคซีน เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมีการให้ความรู้ความเข้าใจกันมากขึ้น เนื่องจากโควิด-19 กำลังกลายเป็นโรคประจำถิ่น (endemic)

“ในตอนนี้ ทุกคนต่างมุ่งความสนใจไปที่คนที่ไม่เคยติดเชื้อไวรัสเพราะพวกเราส่วนใหญ่ไม่เคยติดเชื้อ แต่สถานการณ์นั้นกำลังจะเปลี่ยนไป ดังนั้นเราจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์นั้น” คุณนีล กล่าว

“มันเป็นปัญหาของเรื่องความรู้ความเข้าใจจริงๆ … ผมคิดว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ก้าวออกหน้าที่ในประเด็นนี้แล้ว และไม่ได้ให้ข้อมูลที่ผู้คนต้องการ”
A customer receives a hair cut at Jinas Hairdressing in Canberra, Friday, October 15, 2021.
A customer receives a hair cut at Jinas Hairdressing in Canberra, Friday, October 15, 2021. Source: AAP
พญ. เอลิซาเบธ โอลิเวอร์ เป็นแพทย์ทั่วไป (GP) ในซิดนีย์ กล่าวว่า คาดว่าจะมีความตระหนักรู้ในเรื่องนี้มากขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป เนื่องจากผู้คนจำนวนมากขึ้นที่หายป่วยจากเชื้อโควิด-19 จะกลับเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนอีกครั้ง

“เรามีผู้คนจำนวนมากที่ออกมาจากการกักตัว และเราในฐานะชุมชนที่กำลังปรับตัวเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่มันกำลังเกิดขึ้นตอนนั้นเลย ดังนั้นผู้คนจึงอาจไม่ทราบว่าเราจะปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด" พญ. โอลิเวอร์ กล่าว

“พวกเขาควรได้รับการฉีดวัคซีนหลังหายป่วยแล้วเร็วแค่ไหน? พวกเขามีแอนติบอดีเพียงพอที่จะปกป้องตนเองหรือไม่? สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้รู้กันอย่างกว้างขวางในหมู่ชุมชน”

คุณเดวิด แอนเดอร์สัน นักไวรัสวิทยาและเป็นรองผู้อำนวยการสถาบันเบอร์เนต (Burnet) ซึ่งจัดทำแบบจำลองสถานการณ์ให้กับรัฐบาลของรัฐและมณฑลต่างๆ เกี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 กล่าวว่า สถานการณ์เช่นที่เกิดขึ้นกับลูอิซานั้นเป็นความโชคร้าย

“นับเป็นโชคร้ายที่ผู้คนบังเอิญไปตกอยู่ในพื้นที่สีเทา (สถานการณ์ที่มีความซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา) เช่นนั้น และไม่ใช่ความผิดของพวกเขาที่พวกเขาติดโควิด พวกเขาได้ทำสิ่งที่ถูกต้องและกักตัวจนกระทั่งพวกเขาได้รับแจ้งว่าสามารถกลับเข้าไปในชุมชนได้” คุณแอนเดอร์สัน กล่าว

“แต่ตอนนี้ กฎที่ผู้คนกำหนดขึ้นเพื่อปกป้องสถานที่ทำงานและชุมชนของพวกเขา ยังตามความเป็นจริงไม่ทัน จึงทำให้ขณะนี้มีผู้คนหลายพันคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ของลูอิซา”
เขากล่าวว่าผู้คนจะต้องอดทนรอต่อไปสักนิด เนื่องจากกฎและข้อบังคับที่แตกต่างกันนั้นจะได้รับการปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป

“ผมมีเห็นใจต่อสาธารณสุขในแต่ละรัฐเป็นอย่างมาก ที่ต้องพยายามระบุรายละเอียดของสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา ประชาชนจึงต้องพยายามเข้าใจว่า ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ เพราะในขณะที่เรากำลังพยายามในส่วนของเราอย่างดีที่สุด แต่สิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว”

ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ จะไม่ต้องแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีนอีกต่อไปเมื่อรัฐมีอัตราประชากรร้อยละ 95 ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้ว หรือในวันที่ 15 ธันวาคม 2021 แล้วแต่ว่าจากทั้งสองอย่างนี้ อะไรจะเกิดขึ้นก่อน
ตอนนี้เราอาจจำเป็นต้องพูดถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังติดโควิดแล้ว
ลูอิซากล่าวว่า เธอตั้งตารอที่จะได้รับวัคซีนโดสที่สอง ซึ่งมีคำแนะนำให้ฉีดได้หลังหายป่วยแล้วอย่างน้อย 6 สัปดาห์ เแต่เธอก็ยังต้องการเห็นการที่ชุมชนมีความตระหนักรู้มากขึ้นเกี่ยวกับชีวิตหลังติดโควิด-19

“เช่นเดียวกับที่เรามีการสื่อสารเกี่ยวกับการเรียนรู้ถึงอาการและเรียนรู้สิ่งที่ควรทำเพื่อไม่ให้ติดโควิด แต่ฉันคิดว่าตอนนี้เราอาจจำเป็นต้องพูดถึงว่า จะเกิดอะไรขึ้นหลังติดโควิดแล้ว” ลูอิซา กล่าวทิ้งท้าย

*ไม่ใช่ชื่อจริงของเธอ


คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

ติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 16 November 2021 11:31am
Updated 16 November 2021 1:18pm
By Claire Slattery
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends