Masterchef ปีนี้สะเทือนอารมณ์อย่างไม่คาดคิด

ฉันไม่เคยคิดว่าจะร้องไห้ขณะชมรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับการทำอาหาร แต่ปีนี้ รายการเข้าถึงบางสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจของลูกหลานของผู้อพยพย้ายถิ่นชาวเอเชียทั่วออสเตรเลีย

MasterChef

MasterChef Australia is delivering on the representation, writes Anna Nguyen Source: Instagram

ท่ามกลางการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนาที่เกิดขึ้นทั่วโลกครั้งนี้ สิ่งที่เป็นแสงทองส่องฟ้าที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีใครคาดคิดคือ รายการโทรทัศน์ มาสเตอร์เชฟ 2020 (Masterchef 2020) ผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่หลากหลาย ซึ่งมักก้าวข้ามเรื่องอายุ เพศสภาพ และชาติพันธุ์ เป็นภาคตัดขวางอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งสะท้อนภาพชุมชนอันหลากหลายของออสเตรเลีย โดยนำทุกคนมารวมกันด้วยความรักในการทำอาหาร ที่เป็นความรู้สึกสากลร่วมกันทั่วโลก แต่ในปีนี้ มีบางอย่างที่สะเทือนอารมณ์อย่างมากเกี่ยวกับเรื่องราวที่มาสเตอร์เชฟกำลังบอกเล่า รายการในคืนวันพุธ ที่ 27 พฤษภาคม ซึ่งเผยชีวิตวัยเด็กของผู้เข้าแข่งขัน ได้ล้วงลึกถึงบางสิ่งที่ฝังอยู่ในใจของลูกหลานผู้อพยพย้ายถิ่นชาวเอเชียทั่วออสเตรเลีย และทำให้พวกเรารู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ท่ามกลางความเป็นปรปักษ์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

การระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19 เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัวจากมุมมองด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม มันเป็นครั้งแรกในชีวิต ที่ฉันรู้สึกหวาดผวาเกี่ยวกับผลกระทบจากรูปลักษณ์ที่เป็นชาวเอเชียของฉัน และอะไรจะเกิดขึ้นเมื่อฝุ่นจางลง และความสนใจเปลี่ยนไปเป็นการมองหาว่าจะโทษใครดี

การเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลียเป็นสิ่งที่เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร มันแพร่หลายในสังคมของเรา และแฝงตัวอยู่เหมือนคลื่นใต้น้ำ ที่พร้อมจะแผลงฤทธิ์ทันทีที่สภาพแวดล้อมเหมาะสม สำหรับชาวออสเตรเลียจำนวนมาก ที่อายุไม่มากนักอย่างฉัน ซึ่งยังเป็นเด็กอยู่ในยุคของพอลลีน แฮนสัน ฉันมักไม่ยี่หระเมื่อคนรุ่นก่อนๆ พูดถึงการเหยียดเชื้อชาติในออสเตรเลีย ตอนนั้น ฉันยังเด็กเกินไปที่จะเล็งเห็นว่า นั่นเป็นประสบการณ์ที่เคยประสบมาเองของผู้คนที่ได้เดินทางมาที่นี่ พร้อมอุปสรรคทางภาษาที่ใหญ่หลวง และมาถึงทันทีหลังการยกเลิกนโยบายออสเตรเลียสำหรับคนขาว (White Australia) จากทัศนคติที่ไร้เดียงสาอย่างผู้ที่มีโอกาสมากกว่าใครของฉันในเรื่องการเหยียดเชื้อชาติคือ มันเป็นสิ่งที่เกิดกับคนอื่น ไม่ได้เกิดกับฉัน ฉันทำงานมาอย่างหนักจนได้งานที่ผู้คนนับหน้าถือตาในสังคม และแน่นอนทีเดียวว่า ฉันจึง “สมควร” จะมีที่ยืนในออสเตรเลีย
แต่กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจากผลของการระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัสโคโรนา กระทุ้งข้อสันนิษฐานของฉันเรื่องการเหยียดเชื้อชาติให้แตกเป็นเสี่ยงๆ เห็นได้ชัดว่าสำหรับบางคนแล้ว ความหวาดกลัวสิ่งที่ไม่รู้ ความโกรธ และความจนตรอกจนต้องการโทษใครสักคน ได้สร้างความปั่นป่วนภายในจนตะกอนของความเกลียดชังทางเชื้อชาติผุดขึ้นมาสู่ผิวน้ำ และปรากฎตัวขึ้นในรูปแบบที่รุนแรงและน่าขยะแขยงเป็นที่สุด แค่ดูจากเหตุการณ์ที่ถูกรายงานเป็นข่าวในซิดนีย์และเมลเบิร์น ก็จะเห็นได้ว่าการระบาดใหญ่ของเชื้อโรคครั้งนี้ ได้นำความเลวร้ายที่สุดบางอย่างของผู้คนออกมา

มาถึงรายการโทรทัศน์ มาสเตอร์เชฟ 2020 (Masterchef 2020) กันบ้าง รายการมุ่งเน้นอย่างมากเรื่องคณะกรรมการตัดสินชุดใหม่ แต่การเพิ่มกรรมการที่มีชีวิตชีวาอย่าง เมลิสซา เหลียง (Melissa Leong) กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการมีผู้คนเชื้อสายเอเชียในรายการโทรทัศน์ของออสเตรเลีย นอกเหนือไปจากผู้ร่วมการแข่งขันที่ยอดเยี่ยมแล้ว การรูปแบบของทดสอบต่างๆ ยังสะท้อนให้เห็นบรรดาวัตถุดิบ ที่คุ้นเคยกันดีในหมู่ของเด็กๆ ชาวออสเตรเลียเชื้อสายเอเชียเมื่อเติบโตขึ้น

การท้าทายให้ทำอาหารจากตีนไก่ของเมลิสซาทำให้อาหารพิเศษสุดพิสดารนี้ถูกกล่าวขานไปทั่วรายการโทรทัศน์ของออสเตรเลีย และทำให้เกิดการอภิปรายกันอย่างถึงพริกถึงขิงว่า ตีนไก่จะนำไปทำอาหารหวานได้หรือไม่ เช่นเดียวกันกับการท้าทายให้ทำอาหารจานพิเศษจากบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ได้นำความทรงจำของอาหารในวัยเด็กให้กลับมา ตอนนั้นพ่อแม่ที่ขาดทั้งเงินและขาดทั้งเวลาของคุณ ทำงานที่สองจนยุ่งแทบไม่มีเวลาหาอาหารมาวางบนโต๊ะให้ลูกๆ

ขณะที่การทดสอบให้ทำอาหารจากตีนไก่อาจทำให้หลายคนผวา แต่การที่มันปรากฎให้เห็นในรายการโทรทัศน์ทั่วไปและมีการพูดคุยอย่างใคร่รู้เกิดขึ้น ได้ส่งผลดีในการทำให้วัตถุดิบที่พวกเราเติบโตขึ้นมาพร้อมกับมัน (และบ่อยครั้งได้พูดตลกล้อเลียนเกี่ยวกับมัน) กลายเป็นเรื่องธรรมดาในจิตใจของคนทั่วประเทศ
ในรายการของคืนวันพุธ ที่ 27 พฤษภาคม ฉันไม่เคยคิดเลยว่ารายการแข่งขันทำอาหารอย่าง มาสเตอร์เชฟ จะทำให้ฉันน้ำตาไหลได้ แต่เรื่องราววัยเด็กของ คาน ฮอง (Khanh Hong) และเรย์โนลด์ โปเออร์โนโม (Reynold Poernomo) สะท้อนชีวิตฉันอย่างลึกซึ้ง และบอกเล่าประสบการณ์ของการเติบโตขึ้นมาอย่างลูกหลานของผู้อพยพย้ายถิ่น

คาน เล่าเรื่องราวของเขาด้วยน้ำตาคลอถึงการเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย และความซาบซึ้งในบุญคุณที่ครอบครัวของเขารู้สึก เมื่อได้รับอนุญาตให้เดินทางมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลียได้ ส่วนเรย์โนลด์ เป็นเรื่องราวของเขาเมื่อเป็นเด็ก ที่ไม่รู้จะทำอะไรอื่นดี นอกจากใช้เวลาแต่ละวันอยู่ที่ร้านอาหารของพ่อแม่ ขณะที่พ่อแม่ของเขาทำงาน และบ่อยครั้งเขาก็นอนหลับอยู่ที่นั่น จนกว่าพ่อแม่จะเสร็จงานที่ร้านอาหารในยามดึก
ฉันเองที่เป็นลูกของผู้อพยพย้ายถิ่นชาวเวียดนาม ฉันใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ในร้านโชห่วย หรือร้านขายของชำเบ็ดเตล็ด (milk bar) ของพ่อแม่ ฉันเคยนั่งกินลูกอมและเล่นซนอยู่ตามทางเดินระหว่างชั้นวางสินค้าอาหารต่างๆ ในร้าน เมื่อโตขึ้นมาหน่อย ช่วงวันหยุดปิดภาคเรียนของฉันคือการทำงานให้พ่อแม่ และได้สัมผัสเสี้ยวหนึ่งของจริยธรรมการทำงานอย่างหนักและการเสียสละเพื่อหาอาหารมาวางบนโต๊ะ


 

การบอกเล่าเรื่องราวอย่างนี้นี่แหละ ที่หวังว่าจะช่วยขจัดความอับอายขายหน้าจากการเติบโตขึ้นมาอย่างลูกหลานของผู้อพยพย้ายถิ่นได้


 

ขณะที่เติบโตขึ้นมา สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์ที่พบได้ทั่วไปในหมู่เด็กๆ ลูกหลานชาวเวียดนานคนอื่นๆ มันเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะช่วยแม่เย็บผ้าที่แม่รับมาจากโรงงานใช้แรงงานราคาถูก หรือช่วยเสิร์ฟอาหารและล้างจานในร้านอาหารของพ่อแม่ เมื่อตอนเป็นเด็ก ฉันเคยเกลียดประสบการณ์เหล่านี้ และรู้สึกอับอายที่จะบอกใครว่าฉันใช้เวลาแต่ละวันอย่างไร โดยที่แอบสงสัยในใจว่า ทำไมพ่อแม่ถึงไม่สามารถมีชีวิตอย่างครอบครัวชนชั้นกลาง ‘ปกติ’ ทั่วไปอย่างที่เราเห็นในโทรทัศน์ได้

แต่เมื่อได้เห็นประสบการณ์จากชีวิตจริงเหล่านี้ ปรากฎอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์ทั้งรายการที่คนทั่วไปดูกันทั้งประเทศ เช่นมาสเตอร์เชฟนี้ และกระบวนการทำให้ประสบการณ์ของผู้อพยพย้ายถิ่นชาวเอเชียเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป ได้ทำให้รายการมาสเตอร์เชฟปีนี้พิเศษอย่างยิ่ง

สำหรับคนรุ่นต่อไปที่เติบโตขึ้นมานั้น การบอกเล่าเรื่องราวอย่างนี้นี่แหละ ที่หวังว่าจะช่วยขจัดความอับอายขายหน้าจากการเติบโตขึ้นมาอย่างลูกหลานของผู้อพยพย้ายถิ่นได้ มันเป็นโอกาสที่ในที่สุด จะได้เห็นคนหน้าตาเหมือนพวกเขาตามรายการโทรทัศน์ช่วงไพรม์ไทม์ช่วงที่มีผู้คนชมกันมากที่สุด

ขณะที่มาสเตอร์เชฟ จะไม่สามารถขจัดการเหยียดเชื้อชาติหลังโควิด-19 ซาที่เรากำลังหวาดหวั่น ให้หมดไปได้ แต่มันเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการมีภาพตัวแทน ซึ่งเป็นการใช้อำนาจละมุน (soft power) อย่างแฝงเร้น ในการปั้นแต่งหัวจิตและหัวใจของชาวออสเตรเลีย เพื่อที่จะได้บอกให้รู้ว่า พวกเราอยู่ตรงนี้ พวกเราไม่ได้เป็นปีศาจไร้ตัวตนที่แพร่เชื้อไวรัส เพื่อที่จะบอกให้รู้ว่า พวกเราก็เช่นกัน ที่เป็นส่วนสำคัญของเส้นใยซึ่งถักทอเป็นสังคมยุคใหม่ของออสเตรเลีย

อ่านเรื่องราวนี้เป็นภาษาอังกฤษได้

You can read the original article in English

คุณสามารถอ่านข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เป็นภาษาไทยได้

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 2 June 2020 2:44pm
Updated 2 June 2020 3:16pm
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS Voices

Share this with family and friends