กว่า 40% ของชาวออสซีที่ขอความช่วยเหลือฉุกเฉินต้องอดมื้อกินมื้อ

จำนวนของผู้คนที่ขอความช่วยเหลือจากซัลเวชัน อาร์มี เพิ่มขึ้น 6 เท่าในช่วงกลายปีที่แล้วถึงต้นปีนี้

New modelling has warned about the impact of changes to the JobSeeker payment.

Meanwhile the number of people seeking assistance from the Salvation Army increased six-fold between November 2020 and January this year. Source: AAP

กว่าร้อยละ 40 ของผู้คนในออสเตรเลียที่ได้รับความช่วยเหลือฉุกเฉินจากองค์กรการกุศล ซัลเวชัน อาร์มี (Salvation Army) ต้องอดมื้อกินมื้อในช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อให้มีเงินพอกับค่าใช้จ่าย รายงานฉบับหนึ่งขององค์กรเผย

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้คนที่ขอความช่วยเหลือจากซัลเวชัน อาร์มี ได้เพิ่มขึ้น 6 เท่าระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2020-มกราคม 2021 จากผลการสำรวจที่ซัลเวชัน อาร์มี ได้เผยแพร่ในวันพุธ ที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา

องค์กรการกุศลดังกล่าว ซึ่งให้ความช่วยเหลือผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจนทั่วออสเตรเลีย ยังพบว่า ร้อยละ 53 ของผู้ตอบแบบสำรวจ ไม่มีหนทางที่จะหาเงินมาจ่ายบริการด้านการแพทย์หรือบริการทันตกรรม ขณะที่เกือบร้อยละ 30 ไม่สามารถมีเงินพอจะจ่ายค่ายาตามที่แพทย์สั่งยาให้ได้

นอกจากนี้ ผู้รับความช่วยเหลือยังประสบความเครียดในระดับสูงเกี่ยวกับที่พักอาศัย โดย 955 คนของผู้ตอบแบบสำรวจหรือร้อยละ 93 กำลังเครียดหนัก โดยระบุว่าค่าที่พักอาศัยที่พวกเขากำลังจ่ายอยู่นั้นเกินร้อยละ 30 ของรายได้
ผู้ตอบแบบสอบถามที่กำลังได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลรายงานว่า พวกเขามีเงินเหลือเพียง 11 ดอลลาร์ต่อวัน หลังจากจ่ายค่าที่พักอาศัยแล้ว ซัลเวชัน อาร์มี ระบุ

จากรายงานก่อนหน้านี้ที่เปิดเผยโดยแองกลิแคร์ (Anglicare) พบว่า ที่พักอาศัยให้เช่าทั่วประเทศเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้นที่มีราคาที่เอื้อมถึงสำหรับคนโสดที่มีรายได้ตามอัตราขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด

“ปีที่ผ่านมาแสดงให้เราเห็นว่า ไม่ว่าใครก็สามารถตกอยู่ในภาวะวิกฤตได้ และนี่อาจส่งผลให้ซัลโวส์ (ซัลเวชัน อาร์มี) กำลังเห็นผู้คนที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนมาขอรับความช่วยเหลือจากเรา” พันตรี เบรนเดน นอตเทิล จากซัลเวชัน อาร์มี กล่าว

จำนวนผู้คนที่กำลังพบความยากลำบากในการหาเงินมาจ่ายค่าที่พักอาศัย ค่าอาหาร ค่าน้ำค่าไฟ และค่าบริการทางการแพทย์ พุ่งสูงขึ้นร้อยละ 87 ระหว่างการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทั่วประเทศ ก่อนจะลดลงเหลือร้อยละ 73
“ในประเทศที่โชคดีอย่างประเทศเรา มันน่าตกใจที่เห็นผู้คนเกือบร้อยละ 50 (ของผู้ที่มาขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉิน) ต้องอดมื้อกินมื้อและจำนวนมากกว่านั้นที่ไม่มีเงินพอจ่ายค่ายา เราจำเป็นต้องทำได้ดีกว่านี้” พันตรี นอตเทิล กล่าว

รัฐบาลได้เพิ่มอัตราเงินช่วยเหลือผู้ว่างงานจ๊อบซีกเกอร์ ให้มากขึ้นอีก 50 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์ตั้งแต่ต้นปีนี้

แต่เมื่อเงินช่วยเหลือพิเศษช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (coronavirus supplement) สิ้นสุดลงในวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เงินสวัสดิการลดลง 100 ดอลลาร์ต่อสองสัปดาห์

จากแบบจำลองสถานการณ์จากต้นปีนี้คาดการณ์ว่า การสูญเสียเงินช่วยเหลือพิเศษช่วงสถานการณ์ไวรัสโคโรนา (coronavirus supplement) จะส่งผลให้ชาวออสเตรเลียราว 155,000 คนต้องเผชิญภาวะยากจน นี่จะรวมทั้งเด็กๆ ราว 18,000 คนด้วย สถาบันออสเตรเลีย (Australian Institute) องค์กรวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล ระบุ

สถาบันยังคาดว่า ได้มีผู้คนมากขึ้นราว 580,000 คนดำรงชีวิตอยู่อย่างยากจนในช่วงต้นปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด-19

การสำรวจของซัลเวชัน อาร์มี เกิดขึ้นระหว่างเดือนตุลาคมปีที่แล้วถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ และเป็นการสอบถามประชาชน ที่ได้รับบริการด้านความช่วยเหลือฉุกเฉินจากองค์กร ให้ร่วมตอบแบบสำรวจตามความสมัครใจ
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  

Share
Published 28 May 2021 2:07pm
Updated 28 May 2021 3:26pm
By Maani Truu
Presented by Parisuth Sodsai


Share this with family and friends