ระบบเอจแคร์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหลากวัฒนธรรมได้ดีแค่ไหน

Is our Aged Care system fit for purpose?

Is our Aged Care system fit for purpose? Source: Getty

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

นอกจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ภาคงานดูแลผู้สูงอายุ หรือ เอจแคร์ ในออสเตรเลียยังเผชิญกับหลายปัญหาสำคัญทั้งด้านโครงสร้างและคุณภาพ รวมถึงประเด็นสำคัญที่มักถูกมองข้าม นั่นคือผู้สูงอายุที่มาจากพื้นเพภาษาและวัฒนธรรมหลากหลาย


ฟังรายงาน
LISTEN TO
Are our culturally diverse communities well served by the Aged Care system? image

ระบบเอจแคร์ดูแลผู้สูงอายุในชุมชนหลากวัฒนธรรมได้ดีแค่ไหน

SBS Thai

28/02/202209:51
คุณไลเนลล์ บริกส์ (Lynelle Briggs) จากคณะกรรมาธิการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของการดูแลผู้สูงอายุของออสเตรเลีย (Royal Commission into Aged Care Quality and Safety) วางวิสัยทัศน์ของภาคการดูแลผู้สูงอายุไว้ว่า

"คุณลักษณะหลักข้อหนึ่งของภารกิจของเราคือ มุ่งเน้นอนาคต และสิ่งที่ระบบดูแลผู้สูงอายุของออสเตรเลียควรเป็น นั่นคือ ระบบการดูแลมาตรฐานระดับโลกที่ทั้งผู้รับบริการและคนที่พวกเขาห่วงใยมั่นใจได้"

ทว่า วิสัยทัศน์นี้กลับถูกบดบังด้วยสถานการณ์โควิด-19 กล่าวคือ ผลกระทบของโรคระบาดต่อผู้อาศัยและผู้ปฏิบัติงานในภาคการดูแลผู้สูงอายุ

คุณริค มอร์ตัน (Rick Morton) เป็นนักข่าวที่ร่วมจัดทำรายงานประเด็นนี้กับคุณทริช เพรนทิซ (Trish Prentice) จากสถาบันวิจัยมูลนิธิสแกนลอน (Scanlon Foundation Research Institute)

คุณมอร์ตันกล่าวว่า คณะกรรมาธิการได้ดำเนินงานชิ้นสำคัญที่หยิบยกปัญหาเชิงระบบที่เรื้อรังมายาวนานในภาคการดูแลผู้สูงอายุ แต่ยังคงมองข้ามสิ่งสำคัญข้อหนึ่ง นั่นคือ ช่องว่างทางวัฒนธรรมในภาคส่วนนี้

"นี่เป็นประเด็นหนึ่งที่หยิบยกขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ในข้อเสนอแนะฉบับสมบูรณ์ เหมือนพวกเขาจะโบกมือแล้วบอกว่า ถ้าเราหาวิธีให้ผู้รับบริการดูแลผู้สูงอายุบริหารควบคุมและมีตัวเลือกเฉพาะเจาะจงให้แต่ละคนได้ ก็จะแก้ปัญหาช่องว่างทางวัฒนธรรมไปด้วยโดยอัตโนมัติ ซึ่งที่จริงควรตรงข้ามกันเลย" คุณมอร์ตันกล่าว

จากข้อมูลของศูนย์เพื่อความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาควัยชรา (Centre for Cultural Diversity in Ageing) พบว่า 1 ใน 3 ของผู้รับบริการดูแลผู้สูงอายุเกิดในต่างประเทศ และคาดว่าตัวเลขนี้จะเติบโตขึ้นอีก

คุณมอร์ตันกล่าวว่า ความคาดหวังของแต่ละวัฒนธรรมต่อครอบครัวและวัยชรามีส่วนกำหนดวิถีชีวิตของผู้สูงอายุในชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐาน
1 July 2022 changes to Social and Community Services Award
Source: Getty Images
ทั้งนี้ ออสเตรเลียในภาพรวมนั้นสูญเสียศักยภาพที่จะดูแลผู้สูงวัยในชุมชนของเราไม่ต่างกับชาติตะวันตกอื่นๆ

"สถานการณ์โดยทั่วไปมักกลับกันจากนี้ในชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐานที่ชุมชนสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น บางครั้งคนหลายรุ่นอาศัยรวมในบ้านเดียวกัน ทุกคนทำงานด้วยกัน ทั้งหมู่บ้านช่วยกันเลี้ยงเด็กคนเดียว และทั้งหมู่บ้านก็ช่วยกันดูแลผู้สูงอายุคนเดียว" คุณมอร์ตันกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์รูปแบบนี้ไม่อาจรักษาไว้ได้เสมอไปในออสเตรเลีย

คุณแพทริเซีย ลารันเจรา (Patricia Laranjeira) ผู้ประสานงานโครงการอาวุโสของสภาชุมชนพหุวัฒนธรรมแห่งอิลลาวอร์รา (Multicultural Communities Council of the Illawarra) บนชายฝั่งทางใต้ของรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่า หากมองว่าบริการดูแลผู้สูงอายุเป็นสิ่งจำเป็นเพราะบุตรหลานไม่สามารถดูแลญาติผู้ใหญ่เองได้ ก็ชัดเจนว่าชุมชนต้องการบริการดูแลถึงบ้านมากกว่าสถานดูแลผู้สูงอายุ

"แม้แต่แนวคิดให้คนมาบริการถึงบ้านก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไรนัก อย่างเช่นว่า คนที่จะมาเป็นใคร พวกเขามาบ้านฉันแล้วจะเกิดอะไรขึ้น สุดท้ายแล้วคนพวกนี้จะแย่งบ้านไปแล้วไล่ฉันออกจากที่นี่หรือเปล่า" คุณลารันเจรากล่าว

คุณอลิซาเบธ ดรอซด์ (Elizabeth Drozd) อดีตกรรมาธิการตรวจสอบกิจการพหุวัฒนธรรม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารองค์กรบริการชุมชนพหุวัฒนธรรรมออสเตรเลีย (Australian Multicultural Community Services) กล่าวว่า ความทะนงตนเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้สูงอายุจนขอรับบริการดูแลล่าช้า
สิ่งที่เราพบคือ ในหมู่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มรั้งรอไม่ขอความช่วยเหลือจนถึงนาทีสุดท้าย นี่เป็นความทะนงตนของกลุ่มชาติพันธุ์ คือข้อเท็จจริงที่ว่า ปกติแล้วผู้สูงวัยส่วนใหญ่มีแนวโน้มเลือกใช้ชีวิตพึ่งพาตัวเองและไม่ขอความช่วยเหลือ ไม่อยากเป็นภาระของรัฐหากไม่จำเป็น คุณดรอซด์กล่าว
เมื่อตัดสินใจเข้ารับบริการดูแล ผู้สูงอายุจากชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐานก็ยังคงต้องเผชิญกับนโยบายที่ซับซ้อน อันดับแรก ผู้ผ่านการประเมินเข้ารับบริการจะถูกบรรจุรายชื่อไว้ในรายชื่อผู้รอรับบริการ (waiting list) เนื่องจากความต้องการบริการดูแลถึงบ้านมีสูงกว่ากำลังการให้บริการมาก

คณะกรรมมาธิการพบว่า มีผู้สูงอายุเกือบ 103,000 คนยังอยู่ในรายชื่อรอรับบริการแพ็กเกจดูแลถึงบ้านเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 และคาดว่าตัวเลขนี้จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังออสเตรเลีย ประกาศงบประมาณแผ่นดินล่าสุดทุ่มงบเพิ่มเติมในภาคส่วนนี้ แต่ยังคงไม่พอสะสางปัญหาที่คั่งค้าง

"เราจะให้งบแพ็กเกจดูแลถึงบ้านเพิ่มเติม 80,000 แพ็กเกจ รวมแพ็กเกจดูแลถึงบ้านที่มีให้บริการทั้งหมด  275,000  แพ็กเกจ... เรามุ่งมั่นฟื้นคืนความเชื่อมั่นในระบบ เพื่อให้ชาวออสเตรเลียเข้าสู่วัยชราด้วยศักดิ์ศรีและความเคารพ" นายฟรายเดนเบิร์กกล่าว
Treasurer Josh Frydenberg.
Treasurer Josh Frydenberg. Source: AAP
ปัญหาด้านงบประมาณไม่ได้ทำให้ความนิยมแพ็กเกจดูแลถึงบ้านลดน้อยถอยลง แต่สำหรับคุณอลิซาเบธ ดรอซด์ แม้จะมีงบประมาณอุดหนุนแพ็กเกจเพียงพอ แต่ก็ไม่มีความหมายมากนักหากปราศจากคนทำงานที่มีทักษะภาษาและเต็มใจดูแลผู้สูงอายุ 

"เราแค่มีคนไม่พอ คนที่มีคุณวุฒิด้านนี้ คนที่ต้องการทำงานในสายงานนี้ จึงนับว่าน่าเสียดาย ถ้าเราจ้างพนักงานที่พูดภาษากรีกกับอิตาเลียนได้สัก 50 ตอนนี้เลยเราคงทำไปแล้ว พวกเขาคือคนที่จะช่วยเราดูแลผู้สูงอายุจากชุมชนชาติพันธุ์เหล่านั้นได้" คุณดรอซด์กล่าว

ผลลัพธ์อีกอย่างที่อาจเกิดขึ้นหากผู้สูงอายุเข้าถึงและรับบริการดูแลล่าช้าเกินไปคือ กว่าจะถึงคิวรับบริการ ผู้สูงอายุคนนั้นอาจมีสุขภาพทรุดโทรมลงมากแล้ว

ศาตราจารย์ไอรีน แบล็กเบอร์รี (Irene Blackberry) หัวหน้าศูนย์วิจัยการดูแลผู้สูงอายุจอห์น ริชาร์ดส์ (John Richards Centre for Aged Care Research) มหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe University) กล่าวว่า ความล่าช้าเช่นนี้เพิ่มแรงกดดันต่อส่วนอื่น ๆ ในระบบดูแลสุขภาพ ทั้งยังกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

"ทุกอย่างอาจเกิดขึ้นรวดเร็วมาก หากคุณมาเริ่มเอาตอนถึงจุดวิกฤต นั่นไม่ใช่ขั้นป้องกันแล้ว บางครั้งก็แทบไม่เหลือทางเลือกอะไรอีก นี่คืออีกสาเหตุที่ทำให้คนต้องไปโรงพยาบาลหรือเข้าระบบดูแลผู้ป่วยระยะเฉียบพลัน เพราะในชุมชนชนบทและพื้นที่ห่างไกลไม่มีทางเลือกสำหรับพวกเขาแล้ว" ศาตราจารย์แบล็กเบอร์รีกล่าว

รายงานโดยสถาบันสแกนลอนเสนอแนะว่า จำเป็นต้องยกเครื่องปรับปรุงระบบการดูแลผู้สูงอายุเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้

คุณริค มอร์ตัน ย้ำว่าไม่ใช่ว่าต้องเปลี่ยนความคาดหวังทางวัฒนธรรมของชุมชนผู้ย้ายถิ่นฐานให้เข้ากับระบบที่มี แต่ที่ต้องปรับเปลี่ยนคือมุมมองของออสเตรเลียต่อการเข้าสู่วัยชรา

"ประการแรกสุดที่เราต้องแก้ไขคือ... เราไม่เห็นคุณค่าของผู้สูงอายุ เราคิดว่าพวกเขาเป็นภาระ เราถกกันถึงแนวคิดวิธีแก้ปัญหาวัยชราในออสเตรเลีย แต่เรากลับไม่พูดถึงค่านิยมของคนในสังคม" คุณมอร์ตันกล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share