โควิด-19 ครบ 1 ปีในออสเตรเลีย: ประสบการณ์รับมือตั้งแต่วันแรกของประธาน จนท.สาธารณสุข

Australia's chief medical officer, Professor Paul Kelly.

Australia's chief medical officer, Professor Paul Kelly. Source: Ben Patrick/SBS News

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

วันที่ 25 ม.ค. ครอบรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ออสเตรเลียพบผู้ป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนารายแรก ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลียได้เปิดเผยประสบการณ์ในการรับมือต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาตลอดช่วงเวลา 1 ปีเต็ม


LISTEN TO
Australia's Chief Medical Officer reflects on a year fighting COVID-19 image

โควิด-19 ครบ 1 ปีในออสเตรเลีย: ประสบการณ์รับมือตั้งแต่วันแรกของประธาน จนท.สาธารณสุข

SBS Thai

25/01/202107:06
ในวันสุดท้ายของปี 2019 ที่ห้องประสานงานอุบัติภัยแห่งชาติ ศาสตราจารย์พอล เคลลี (Paul Kelly) ประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของออสเตรเลีย เล่าว่า เขายังจำได้อย่างชัดเจนถึงครั้งแรกที่เขาได้ทราบเกี่ยวกับไวรัสโคโรนา ท่ามกลางสถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุไฟป่าที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ

“ในวันส่งท้ายปีเก่า ขณะที่เรากำลังจดจ้องไปที่กระดานไวท์บอร์ดใหญ่ในห้อง ที่เต็มไปด้วยทุกสิ่งที่เราต้องทำเกี่ยวกับไฟป่า มีอีกจุดหนึ่งบนกระดานที่เขียนว่า ‘เกิดการระบาดของโรคปอดบวมที่ผิดธรรมดาในเมืองอู่ฮั่นของจีน’” ศาสตราจารย์เคลลี เล่า

“เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงเดือนมกราคม เราก็เริ่มพบเห็นมัน  ผู้คนเริ่มจดจำภาพสะเทือนใจของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น และบริการสุขภาพที่เต็มไปด้วยผู้ป่วยในเมืองอู่ฮั่น นั่นคือเหตุผลที่เราเริ่มดำเนินการอย่างรวดเร็วในช่วงกลางจนถึงปลายเดือนมกราคม”  

ในช่วงที่การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาเริ่มต้น ศาสตราจารย์เคลลี ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในขณะนั้น

ในฐานะนักระบาดวิทยา และนักสาธารณสุข เส้นทางอาชีพส่วนใหญ่ของศาสตราจารย์เคลลี คือการมุ่งเน้นไปที่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ของโรคที่อุบัติขึ้น แต่สำหรับสถานการณ์ไวรัสโคโรนานั้น เขาไม่สามารถจินตนาการได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นเช่นใด

“ผมไม่เคยคิดเลยว่ามันจะเกิดขึ้นจริง ๆ แต่แน่นอนว่า มันอยู่ในความคิดของเราไปแล้ว เส้นทางอาชีพทั้งหมดของผมอยู่กับการมุ่งเน้นว่า จะเกิดอะไรขึ้นหากเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ และหวังว่าเราไม่ต้องพบเจอกับมัน แต่ตอนนี้เราเจอกับมันแล้ว” ศาสตราจารย์เคลลี กล่าว

แม้ว่าออสเตรเลียจะควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาได้แล้วจนถึงขณะนี้ แต่ศาสตราจารย์เคลลี ยอมรับว่า มีความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หนึ่งในความท้าทายที่ใหญ่ที่สุด คือการให้ข้อมูลและให้ความรู้กับชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมอย่างถูกต้อง มีการพบความผิดพลาดในการแปลภาษาในเอกสารด้านสุขภาพเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาของรัฐบาลสหพันธรัฐและรัฐบาลในรัฐและมณฑลต่าง ๆ

“ตลอดการตอบสนองต่อสถานการณ์ไวรัส มีสิ่งที่ต้องแลกมาระหว่างความเร็วและความถูกต้อง และเอสบีเอสได้ช่วยเหลือเราอย่างดีเยี่ยมในการแปลสารจากรัฐบาลเป็นภาษาต่าง ๆ 63 ภาษา และนั่นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราจะนำสิ่งนี้ไปเป็นบทเรียนเมื่อวัคซีนได้รับการอนุมัติแล้ว” ศาสตราจารย์เคลลี กล่าว

“เรายังได้ตั้งกลุ่มให้คำปรึกษาสำหรับชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรม เพื่อทำให้แน่ใจว่า เราไม่ได้ส่งสารที่ถูกต้องออกไปเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เราทำให้แน่ใจว่า สารที่ส่งออกไปนั้นถูกออกแบบให้มีความเหมาะสมกับชุมชนต่าง ๆ ด้วย” 

เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 มกราคม หน่วยงานกำกับดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพของออสเตรเลีย (TGA) ได้อนุมัติการใช้วัคซีนต้านไวรัสโคโรนาจากบริษัทไฟเซอร์ภายในประเทศ สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป

นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวว่า การอนุมัติวัคซีนดังกล่าวนั้น เป็นก้าวสำคัญในการต่อสู้กับไวรัสโคโรนา เขากล่าวอีกว่า บริษัทไฟเซอร์กำลังทำการจัดส่งวัคซีน ซึ่งจะทันกรอบเวลาเริ่มต้นโครงการฉีดวัคซีนระดับชาติ ที่มีกำหนดเริ่มต้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ 

ด้านศาสตราจารย์เคลลี มีสารที่ต้องการกล่าวไปยังผู้ที่ยังมีความกังวลในการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรนา 

“ความปลอดภัยนั้นคือความสำคัญอันดับแรก หากมันไม่ปลอดภัย เราก็จะไม่อนุญาตให้ใช้ได้ในออสเตรเลีย เรายังได้ทราบว่าวัคซีนชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูง และได้ผลเป็นอย่างดี ผมคิดว่าทุ  กคนควรอยู่กับความเป็นจริงในแง่ของวัคซีน และไม่ใช่ว่าเมื่อวัคซีนมาถึงแล้วทุกอย่างจะจบลง” ศาสตราจารย์เคลลี กล่าว

“มันยังคงมีการเปลี่ยนผ่านภายในปี 2021 ไวรัสโคโรนาจากส่วนใดก็ตามในโลก จะสามารถส่งผลกระทบต่อพื้นที่ส่วนอื่น ๆ ของโลกได้ และเราควรมีแนวทางในระดับโลก เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ในระดับโลกนี้” 

ยังมีความหวังว่า สถานการณ์ไวรัสโคโรนาจะดีขึ้นภายในปี 2021 แต่ศาสตราจารย์เคลลีกล่าวว่า แม้จะมีวัคซีนแล้ว แต่ไวรัสโคโรนาก็จะยังคงอยู่กับเราต่อไป 

“ผมคิดว่า ปีนี้เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดีกว่าเมื่อปีก่อน โดยมีวัคซีนต้านไวรัสโคโรนาเป็นส่วนสำคัญ แต่เรากำลังต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับไวรัสนี้ ผมไม่คิดว่ามันจะถูกกำจัดไปแบบถอนรากในเร็ววัน” ศาสตราจารย์เคลลี กล่าว

“ผมคาดหวังว่า เราจะสามารถร่วมกลุ่ม และมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้อีกครั้งอย่างที่เราเคยทำมา เพราะนั่นถือเป็นส่วนสำคัญในความเป็นมนุษย์ของเรา”


ประชาชนในออสเตรเลียต้องอยู่ห่างกับผู้อื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร คุณสามารถตรวจดูว่ามีข้อจำกัดใดบ้างที่บังคับใช้อยู่ในรัฐและมณฑลของคุณ 

หากคุณมีอาการของไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้อยู่บ้านและติดต่อขอรับการตรวจเชื้อได้ด้วยการโทรศัพท์ไปยังแพทย์ประจำตัวของคุณ หรือโทรศัพท์ติดต่อสายด่วนให้ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับเชื้อไวรัสโคโรนา (Coronavirus Health Information Hotline) ที่หมายเลข 1800 020 080

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ออสเตรเลียอนุมัติวัคซีนโควิดของไฟเซอร์แล้ว


Share