Bush Tucker อาหารป่าพื้นเมืองอะบอริจินที่เชฟไทยนำมาฟิวชันให้แซ่บนัว

maing kum.jpeg

finger lime ใช้เป็นส่วนประกอบของเมี่ยงคำ Credit: Supplied

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

เชฟ ธนาวุฒิ (เต้ย) อินทรกำแหง หัวหน้าเชฟและเจ้าของร้านอาหารไทยในนครอดิเลท ผู้ที่มีประสบการณ์ในใช้ bush food มาอย่างยาวนาน อธิบายวิธีใช้ bush food มาทำอาหารไทยแบบแซ่บๆ ได้อย่างไร คุณ เดล แชปแมน ชาวพื้นเมือง Yuwaalaraay and Kooma สมาชิกสภาชาวพื้นเมืองของรัฐควีนสแลนด์ เชฟ และนักเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหาร อธิบายว่าอาหารพื้นเมืองของชาวออสเตรเลียคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรกับชุมชนชาวพื้นเมือง


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน


Bush tucker หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า bush food หรืออาหารป่า ซึ่งเป็นคำเรียกของอาหารที่ชาวพื้นเมืองออสเตรเลียหาได้จากธรรมชาติรอบๆ ตัว ซึ่งความรู้นี้ได้ตกทอดกันมากหลายชั่วอายุคน

ซึ่งมีจุดประสงค์ที่ใช้เป็นอาหารและยา อาหารของชาวพื้นเมือง และมีจุดเด่นคือเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง มีกากใยสูง และมีวิตามินแร่ธาตุหลากหลายชนิด และยังมีระดับน้ำตาลต่ำ ปัจจุบันอาหารป่าของชาวพื้นเมืองยังคงหาได้ทั่วไปและยังคงรับประทานกันอยู่จนปัจจุบัน

ปัจจุบันมีการใช้อาหารพื้นเมืองนี้อย่างไรในวงการอาหารสมัยใหม่ของออสเตรเลีย โดยเฉพาะถ้าจะใช้ bush food มาประยุกต์กับอาหารไทย จะทำได้หรือไม่ ใช้ส่วนประกอบของพืชผัก หรือ เนื้อสัตว์อะไร และรสชาติจะเป็นอย่างไร

ณัฐวุฒิ อินทรกำแหง หรือ เชฟเต้ย เล่าว่าเขามีความผูกพันกับการทำอาหารมานาน โดยมีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากครอบครัว และเมื่อได้มาเป็นไกด์ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาหารมากขึ้นจากชนเผ่าต่างๆ ในประเทศไทย เขาจึงเริ่มความสนใจความสัมพันธ์ของอาหารกับสิ่งแวดล้อม เขาเล่าว่า

“ที่บ้านมีธุรกิจอาหารก็มีประสบการณ์จากที่บ้านมาบ้าง และบวกกับความทรงจำยาวนานมาจากการเป็นไกด์และมีความสัมพันธ์อันดีกับชนเผ่าต่างๆ จนกลายมาเป็นครอบครัว”

“ผมคิดว่าอาหารชนเผ่าในเมืองไทย ทุกกลุ่มวัฒนธรรมมีความหมายเป็นของตนเอง คุณต้องเข้าใจว่าอาหารเหล่านี้มาจากไหน ผักนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ใช้เวลาแค่ไหนที่จะ regenerate ซึ่งจะทำให้อาหารคุณค่า และสดใหม่ อยู่เสมอ”

นอกจากสำเร็จการศึกษาด้าน Environmental management จาก university of South Australia แล้ว เขาได้มีโอกาส ได้รับการถ่ายทอดความรู้และการใช้ bush food มาจาก เชฟออสเตรเลียและเชฟชาวพื้นเมืองที่มีความเข้าใจในอาหารชนพื้นเมืองเป็นอย่างดี

ซึ่งไม่เพียงแต่ได้ความรู้กี่ยวกับอาหารพื้นเมืองประเภทต่างๆ แต่เขายังได้เรียนรู้เกี่ยวกับแหล่งผลิตและความสัมพันธ์ของอาหารพื้นถิ่นกับชาวพื้นเมืองอีกด้วย เชฟเต้ย เล่าประสบการณ์ของเขาว่า
Terry 1.jpeg
เชฟ ธนาวุฒิ (เต้ย) อินทรกำแหงหัวหน้าเชฟและเจ้าของร้านอาหารไทยในนครอดิเลท Credit: Supplied/Tanawut Indarakamhang
“ตอนแรกก็ทำงานร้านอาหารเป็นพาร์ทไทม์ เพราะอยากเรียนมากกว่า แต่พอคิดถึงบ้านก็เริ่มทำอาหารกินเอง จนไปสมัครทำงานร้านอาหาร จากร้านเล็กๆ แล้วก็เปลี่ยนมาร้านใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ"
จนมีโอกาสได้มาทำงานที่ Orana และ Street ADL ซึ่งมีหัวหน้าเชฟที่มีความสนใจอย่างมากในเรื่อง seasonal local และ Indigenous ingredients เลยได้มีโอกาสเรียนรู้ตรงนั้น
เชฟ ธนาวุฒิ อินทรกำแหง
ยิ่งไปกว่านั้นเชฟเต้ยยังผนวกความรู้ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนที่เคยเรียนมา นำมาใช้ในการคัดสรรวัตุดิบที่ใช้ประกอบอาหารจากแหล่งท้องถิ่น เชฟเต้ยอธิบายให้ฟังถึงความสำคัญของอาหารท้องถิ่นที่มีตามฤดูกาล

“การเข้าใจผลิตภัณฑ์ (วัตถุดิบ) ทำให้เราได้ผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ใชช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลิตภัณฑ์นั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูก การเก็บ การเข้าใจวัฎจักรของพืช ซึ่งทำให้เราจะได้กินอาหารที่อร่อย คุณภาพดีที่สุดและมี nutrients (คุณค่าอาหาร) ดีที่สุด”

ส่วนการใช้ bush food มาประกอบในการทำอาหารไทยนั้น เชฟเต้ยเล่าว่า พืชพันธ์ุหลายๆ อย่างของ อาหารพื้นเมืองออสเตรเลียในบางพื้นที่โดยเฉพาะในเขตร้อน ซึ่งมีรสชาติ ผิวสัมผัสใกล้เคียงกับพืชพันธุ์ที่นำมาทำอาหารในเมืองไทย

ซึ่งตรงนี้เอง เชฟเต้ยจึงเกิดแรงบันดาลใจที่ลองนำอาหารพื้นเมืองออสเตรเลียมาประยุกต์ใช้กับอาหารไทย เขาเล่าว่า

“ของหลายๆ อย่าง มีรสชาติคล้ายๆ อาหารไทย คือ ออสเตรเลียมีภูมิอากาศหลักๆ 2 ส่วน คือพื้นที่ที่อากาศใกล้ขั้วโลกใต้ ที่มีอากาศหนาว ส่วนอีกพื้นที่หนึ่งมีภูมิอากาศใกล้ tropic line คือเขตร้อนมีอากาศคล้ายแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือพืชพันธุ์บางอย่างที่มีรสชาติใกล้เคียงกับไทย”
larb kangaroo.jpeg
ลาบเนื้อจิงโจ้ Credit: Supplied/Tanawut Indarakamhang
“มีส่วนต่างๆ ของ indigenous food ที่เอามาใช้ทำอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็น fruits ตัวผลไม้ เมล็ด ใบ รวมถึง เนื้อสัตว์พื้นเมือง ไม่ว่าจะเป็นจิงโจ้ จระเข้ มดเขียว ผึ้งที่ไม่มีไร”
ผักต่างๆ ที่เอามาใช้ (ในการทำอาหารไทย)เช่น lemon myrtle มาใช้แทนใบแมงลักเอามาทำแกงอ่อม Ice plant ใช้เป็นผักเหนียง pigface เอามาทำสลัด wild rosella คล้ายกระเจี๊ยบบ้านเรา เอามาทำยำ น้ำจิ้ม
เชฟ ธนาวุฒิ อินทรกำแหง
นอกจากนี้ อาหารถือว่าเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้เชื่อมต่อและเรียนรู้ระหว่างวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เชฟเต้ยเล่าว่า การเดินทาง และความผูกพันกับอาหารชาวพื้นเมืองทำให้เขาได้สานสัมพันธ์กับชนพื้นเมืองไปด้วย เขาเปิดเผยว่า

“ผมได้มีโอกาสรู้จักกับ Joe Willmot หนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิ ORANA foundation ซึ่งเป็นชาวอะบอริจินแล้วเค้าชอบอาหารไทยมาก เคยถามเค้าว่าการเอา Australian native food มาใช้จะเป็นการลบหลู่ไหม เค้าบอกว่ามันเป็นการดีที่ประเทศอื่นจะได้รับรู้ว่าเรามีอะไร ถ้าเราเคารพซึ่งกันและกันมันก็ถือเป็นการอยู่ร่วมกันที่ดี”
kang omm.jpeg
แกงอ่อมใส่เลมอน เมอร์เทิล Credit: Supplied
เมื่อถามว่าในวงการอาหารมองอย่างไรกับอาหารในอนาคตและเราจะสามารถรักษาแหล่งอาหารและทำให้มีทางใดที่สามารถส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหารของมุษยชาติได้

เชฟเต้ยชี้ว่า การรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม ใช้อาหารจากท้องถิ่นและอาหารตามฤดูกาล รวมถึงการใช้อาหารอย่างคุ้มค่าลดปริมาณขยะจากอาหารให้น้อยลง รวมทั้งให้การศึกษาเกี่ยวกับอาหารและสิ่งแวดล้อมกับคนรุ่นใหม่ อาจจะส่งเสริมความยั่งยืนของอาหารไม่มากก็น้อย

“เราต้องคำนึงว่าเราconsume เพื่ออะไร ในระดับที่เหมาะสม ทำยังไงให้มี minimal waste การลดการรับประทานเนื้อสัตว์มันก็เกี่ยวข้องกับวงจรทางเศรษฐกิจ ทางที่ดีที่สุดคือการให้การศึกษาอย่างเหมาะสมเกี่ยวกับ ความเข้าใจทางชีวภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่เด็กจนโต”

เสียงของชาวพื้นเมืองกับการใช้ bush food

การพูดถึงวัตถุดิบพื้นเมืองเป็นวิธีระลึกถึงชนพื้นเมืองออสเตรเลียอย่างหนึ่ง เอสบีเอสไทยได้พูดคุยกับ คุณ เดล แชปแมน ซึ่งเป็นชาว Yuwaalaraay and Kooma และยังเชฟ นักเขียนหนังสือเกี่ยวกับอาหาร

นอกจากนั้น คุณเดล ยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและสมาชิกสภาชาวพื้นเมืองของรัฐควีนส์แลนด์อีกด้วย

คุณเดล อธิบายว่า อาหารพื้นเมืองของชาวออสเตรเลียคืออะไรและมีความสำคัญกับชุมชนชาวพื้นเมืองอย่างไร

"วัตถุดิบพื้นเมืองของออสเตรเลียคืออาหารป่า นอกจากจะเป็นอาหารประจำถิ่นในออสเตรเลียแล้ว อาหารนี้ยังมีความสำคัญต่อชาวอะบอริจิน เพราะได้เป็นแหล่งอาหารที่เลี้ยงดูบรรพบุรุษของเรา รวมถึงตัวฉันเองมาหลายแสนปี"
มันเป็นความผูกพันระหว่างผืนแผ่นดินกับอาหาร และยังมีบทบาทสำคัญยิ่งกับวัฒนธรรม ประเพณีของชาวอะบอริจิน
คุณ เดล แชปแมน ชาวพื้นเมืองผู้เชี่ยวชาญการใช้ bush food
คุณเดลชี้ว่า ชุมชนชาวพื้นเมืองในปัจจุบันยังรับประทานอาหารพื้นเมืองอยู่ และเป็นเรื่องที่ดีที่ในปัจจุบันมีเทรนด์การใช้อาหารป่ามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในชุมชนชาวพื้นเมืองและอุตสาหกรรมอาหารในออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี

“คิดว่าปัจจุบันมีการบริโภคอาหารป่า หรือ อาหารของชนพื้นเมืองเพิ่มขึ้น คนพื้นเมืองทุกคนต่างรับประทานกันมาก่อนที่คนที่ไม่ใช่คนพื้นเมืองจะเข้ามากันทั้งนั้น" คุณเดล อธิบาย

"แต่ในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมาน่าจะมีการใช้อาหารป่าออสเตรเลียเพิ่มมากขึ้นในชุมชนชาวอะบอริจิน พวกเขาออกไปหาอาหาร เก็บอาหาร พวกเขาร้อยเรียงเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่เล่าขานกันมาผ่านรุ่นสู่รุ่น มันเป็นการรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่"
มันเป็นเรื่องดีมากๆ ที่ได้เห็นคนพื้นเมืองรับประทานอาหารของตนมากขึ้น อุตสาหกรรมอาหารของออสเตรเลียและทั่วโลกมีความต้องการผลิตภัณฑ์พื้นเมืองอย่างล้นหลาม เพราะมันเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
คุณ เดล แชปแมน ชาวพื้นเมืองอะบอริจินและเจ้าของธุรกิจ bush food
คุณเดล ยกตัวอย่าง อาหารของชาวพื้นเมืองยอดนิยม 5 อย่าง ซึ่งใช้ทั้งในอาหารคาว หวาน เครื่องดื่ม และบางอย่างยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย ซึ่ง ได้แก่

“ที่เป็นที่นิยมมากที่สุดน่าจะเป็น เลมอนเมอร์เทิล มันมีรสชาติคล้ายผลไม้ตระกูลมะนาว และมีกลิ่นอาจจะคล้ายๆ ตะไคร้ ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ใช้ในหลายๆ วัฒนธรรม ดังนั้นเลมอนเมอร์เทิลจึงเป็นที่นิยม หรือ พลัมคาคาดู ซึ่งมีวิตามินซีสูง พลัมเดวิดสันซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง"

"เรามีพริกไทยป่าที่รัฐแทสเมเนีย มีลิลลี่ พิลลี bush salts หรือเกลือป่า หรือ wattle seeds ซึ่งมีคุณประโยชน์ในด้านโภชนาการและยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เรามีอาหารพื้นเมืองเยอะแยะมาก ซึ่งฉันยกตัวอย่างมาบางอย่างเท่านั้น”
Aunty Dale Bunya Nut and Wild Salt and Pepper.jpg
คุณ เดล แชปแมน สาธิตการใช้ bush food เช่น Banya Nut และ Wild salt มาทำเป็นของทานเล่น
วัฎจักรของ bush food หรือ bush tucker มีความสำคัญอย่างมาก เพราะการทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม ช่วงเวลาที่อาหารแต่ละประเภทจะผลิดอก ออกใบ จนสามารถเก็บเกี่ยวได้ จะทำให้เราสามารถมีอาหารรับประทานตลอดปี

ซึ่งไม่เพียงแต่เราจะได้รับโภชนาการที่เต็มที่ แล้ว ยังเป็นการทำความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและผืนแผ่นดิน ซึ่งในกลุ่มชนพื้นเมืองออสเตรเลียความรู้ ความเข้าใจดังกล่าว เป็นภูมิปัญญาที่สามารถส่งต่อให้กับคนรุ่นหลัง และมันเป็นวิธีที่เยี่ยมยอดในการรักษาและส่งต่อวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย คุณเดล อธิบายว่า

“อาหารพื้นเมือง อาหารป่า ก็เหมือนกับผลผลิตตามฤดูกาล ลองคิดดูว่าไม่มีอะไรที่สามารถผลิตได้ตลอดเวลา ตลอดทั้งปี ซึ่งตามธรรมชาติแล้ว พืชพันธุ์ออกดอกผลตามฤดูกาล ซึ่งอะไรที่ออกตามฤดูกาลมันเป็นผลิตผลตามธรรมชาติ ในแต่ละดินแดนก็มีผลผลิตต่างชนิดกันไป"
ภูมิปัญญาเกี่ยวกับอาหารนี้ มันสามารถส่งต่อผ่านคนรุ่นหลัง และเป็นการรักษาและส่งต่อวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย
คุณ เดล แชปแมน ชาวพื้นเมืองอะบอริจินและผู้เชี่ยวชาญ bush food
LISTEN TO
Bush tucker with thai twist image

Bush Tucker อาหารป่าพื้นเมืองอะบอริจินที่เชฟไทยนำมาฟิวชันให้แซ่บนัว

SBS Thai

06/07/202421:15
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่  

Share