"อาการอ่อนล้าเรื้อรัง" โรคอธิบายยากกระทบนับแสนคนในออสฯ

Young Woman Suffering Headache In Bed

Chronic Fatigue Syndrome affects over 250,000 Australians Source: Getty Images

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง (MECFS) ความเจ็บป่วยที่ส่งผลกระทบต่อชาวออสเตรเลียมากกว่า 250,000 คน งานวิจัยเผยผู้ที่ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมดเป็นผู้หญิง ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญชีวิตยากลำบากในการอธิบายความต่างจากความเหนื่อยล้าทั่วไป


กด ▶ เพื่อฟังรายงาน
LISTEN TO
Chronic Fatigue Syndrome affects over 250,000 Australians image

"อาการอ่อนล้าเรื้อรัง" โรคอธิบายยากกระทบนับแสนคนในออสฯ

SBS Thai

14/03/202208:01
ตั้งแต่ลุกจากเตียง ออกไปเดินข้างนอก หรือรับโทรศัพท์

สำหรับ แมดดี ชีลส์ (Maddie Shields) ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการปวดกล้ามเนื้อเหตุสมองและไขสันหลังอักเสบ (Myalgic encephalomyelitis หรือ ME) กิจกรรมธรรมดาในชีวิตประจำวันทั้งหมดของเธอคือความเหนื่อยล้าอย่างยิ่ง

“มันบีบให้ฉันต้องเลิกทำบางอย่างที่ฉันชอบทำจริง ๆ เพียงเพราะฉันเหนื่อยและอ่อนล้ามากหลังจากผ่านมาทั้งวัน ถ้าพูดก็อย่างเช่นวันหนึ่ง ฉันชอบไปตั้งแคมป์และเดินป่า พอหมดวันแล้วฉันเหนื่อยมาก ฉันปวดหัว” คุณชีลส์ กล่าว

“ถ้าวันไหนฉันยุ่งหรือเครียด ฉันก็จะกลับบ้านมาด้วยความเหนื่อยมากจนรู้สึกอารมณ์บูดเล็กน้อยและฉุนเฉียวใส่คนอื่น และนั่นก็สร้างปัญหาเล็กน้อยในความสัมพันธ์ของฉัน”

อาการ ME หรือที่รู้จักโดยทั่วไปว่ากลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง  (Chronic Fatigue Syndrome หรือ CFS) คือความผิดปกติที่ซับซ้อนที่มีลักษณะเฉพาะคือ ความเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงที่กินเวลาอย่างน้อย 6 เดือน และไม่สามารถอธิบายได้อย่างเต็มที่ด้วยภาวะอาการแทรกซ้อนทางการแพทย์

อาการเหนื่อยล้าของผู้ป่วยในกลุ่มอาการนี้จะแย่ลง หากทำกิจกรรมทางร่างกายและจิตใจ และอาการเหนื่อยล้าจะไม่ดีขึ้นด้วยการพัก

คุณชีลส์ ได้รับการวินิจฉัยว่ามีกลุ่มอาการดังกล่าวในปี 2007 หลังได้รับเชื้อจนป่วยเป็นโรคโมโนนิวคลีโอซิส เธอกล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า บ่อยครั้งมันเป็นเรื่องยากในการอธิบายภาวะอาการของเธอให้กับคนรอบตัว

“มันเป็นเรื่องน่าหงุดหงิดในการพยายามและอธิบายกับคนอื่นว่า โอ้ ฉันทำไม่ได้วันนี้เพราะความเหนื่อยล้าของฉันหรือ วันนี้ฉันรู้สึกเหนื่อยจริง ๆและบางครั้งผู้คนก็อาจมีความคิดในทำนองว่า ทุกคนก็เหนื่อยเหมือนกัน รับกับมันให้ได้สิ” คุณชีลส์ กล่าว

“และมันก็เป็นเรื่องน่าหงุดหงิด เพราะมันไม่ใช่ว่าฉันอยากจะพลาดอะไรไป มันไม่ใช่ว่าฉันอยากจะนอนบนเตียงแล้วรู้สึกอะไรก็ได้อย่างที่ฉันอยากเป็น”
อีเมิร์จ ออสเตรเลีย (Emerge Australia) คือองค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งเป็นกระบอกเสียงระดับชาติของชาวออสเตรเลียมากกว่า 250,000 คนที่เผชิญกับกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง (MECFS)

นพ.ริชาร์ด ชเลอฟ์เฟล (Dr Richard Schloeffel) ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ขององค์กรดังกล่าว ซึ่งได้รับเหรียญเกียรติยศ Order of Australia (OAM) จากงานของเขาเกี่ยวกับกลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรัง กล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า กลุ่มอาการอ่อนล้าเรื้อรังมักเกิดเป็นความเจ็บป่วยหลังติดเชื้อไวรัส

“มันดูเหมือนจะเริ่มในกลุ่มผู้ที่อาจเคยติดเชื้อ หรือเกิดความบอบช้ำบางอย่างทางสุขภาพ ณ จุดหนึ่ง และพัฒนาเป็นอาการเจ็บป่วย จากนั้นพัฒนากลายเป็นกลุ่มอาการเหนื่อยล้า ความผิดปกติด้านความจำ อาการปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย การนอนที่ถูกรบกวน และอาการทางร่างกายต่าง ๆ ที่ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไม่หายดี และไม่พบสาเหตุอื่นใดสำหรับอาการที่สร้างความทุพพลภาพเหล่านี้ มันคือการวินิจฉัยโดยคัดออก” นพ.ชเลอฟ์เฟล กล่าว

แอน วิลสัน (Anne Wilson) ประธานบริหารของ Emerge Australia กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่อยู่กับอาการเจ็บป่วยดังกล่าว คือการไปรับการวินิจฉัยอย่างเที่ยงตรงตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งเธอกล่าวกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่าเป็นเรื่องยากมาก

“เราไม่มีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพสำหรับการวินิจฉัย ไม่มีการทดสอบที่บอกคุณได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ว่าคุณมีกลุ่มอาการ MECFS หรือไม่ และโชคไม่ดีที่ไม่มีทางรักษา” นางวิลสัน กล่าว

“ดังนั้น เมื่อมีอาการป่วยหนัก สิ่งที่ดีที่สุดที่เราแนะนำ นั่นก็คือการเก็บแรงเอาไว้ให้มากที่สุดเท่าที่คุณทำได้ เพราะกลุ่มอาการ MECFS มีความซับซ้อนมาก และมันคือโรคทางระบบประสาทที่มีความพิการซึ่งส่งผลกับอวัยวะหลายส่วนในร่างกาย โดยรวมไปถึงสมอง กล้ามเนื้อ ระบบย่อยอาหาร ภูมิคุ้มกัน และระบบหัวใจ”

การวิจัยล่าสุดโดย อิเมิร์จ ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ประมาณร้อยละ 75 ของผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีกลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (MECFS) เป็นผู้หญิง

นอกจากนี้ การวิจัยดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่า ร้อยละ 25 ของผู้ที่มีภาวะอาการดังกล่าวได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องอยู่แต่ในบ้าน หรือเป็นผู้ป่วยติดเตียง

และโชคไม่ดีที่ภาวะอาการเหล่านี้ มักถูกมองข้ามในระบบสาธารณสุข

“มันน่าเศร้าที่ผู้หญิงหลายคนถูกทำให้รู้สึกว่า มันเป็นเรื่องที่พวกเธอคิดไปเองและไม่มีอยู่จริง และส่วนมากก็เพราะว่าผู้คนไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แทนที่เราจะเก็บเรื่องนี้เอาไว้โดยไม่ทำอะไรเพราะมันยากเกิน อันที่จริงมันเรื่องที่จะต้องมีการลงทุน” นางวิลสัน กล่าว

สำหรับคุณชิลส์ ซึ่งเป็นครูในระดับชั้นประถมศึกษา เธอกล่าวว่า บ่อยครั้งที่เธอต้องทำงานหนักกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เป็นเท่าตัว เพื่อให้ทันกับภาระงานที่มี

เธอหวังว่าจะมีความตระหนักรู้มากขึ้นต่ออาการเจ็บป่วยนี้ ขณะที่บ่อยครั้ง ผู้บังคับบัญชาในงานของเธอก็อาจไม่เข้าใจว่าเธอกำลังพบเจอกับอะไรอยู่

“คุณอาจรู้สึกผิดอย่างมาก กับการที่ไม่ได้ทำในสิ่งที่ควรทำในตำแหน่งงานของคุณ และฉันเดาว่า บางครั้งหัวหน้างานหรือผู้คนรอบตัวอาจจะทำให้คุณรู้สึกว่าคุณทำงานไม่พอ” คุณชิลส์ กล่าว

“การขจัดมลทินที่ว่านั่นนออกไปและบอกว่าเราไม่ได้เกียจคร้าน จึงเป็นเรื่องที่เรากำลังดิ้นรนอยู่จริง ๆ”

ด้าน นพ.ริชาร์ด ชเลอฟ์เฟล กล่าวว่า ความก้าวหน้าอันดับหนึ่งในการรักษากลุ่มอาการ MECFS คือการรับรู้ถึงความเจ็บป่วย

“มันสำคัญอย่างยิ่งที่แพทย์ทุกคนในออสเตรเลียจะรับรู้ถึงภาวะอาการ MECFS มันไม่ใช่ความผิดปกติทางจิตหรือโรคจิตเภท มันไม่ใช่ความผิดปกติในการตัดสินใจเลือก และมีหลายสิ่งที่เราทำได้ในการวินิจฉัยและเข้าใจมัน ซึ่งแน่นอนว่าด้วยวิทยาศาสตร์ที่เรากำลังพัฒนา อาจจะนำไปสู่การรักษาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งสำคัญมากกับผู้คนเหล่านี้” นพ.ชเลอฟ์เฟล กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด

หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share