การปรับโครงการสิทธิประโยชน์ยาอาจช่วยผู้ป่วยประหยัดทั้งเงินและเวลา

Medicine pills

Source: AAP

ในเร็วๆ นี้ ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังจะสามารถซื้อยาตามใบสั่งยาจากแพทย์ได้ในปริมาณสำหรับใช้ 60 วัน ในราคาค่ายาสำหรับ 1 เดือน


ในเร็วๆ นี้ ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังจะสามารถซื้อยาตามใบสั่งยาจากแพทย์ได้ในปริมาณสำหรับใช้ 60 วัน ในราคาค่ายาสำหรับ 1 เดือน

นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโครงการสิทธิประโยชน์ทางเภสัชกรรม หรือพีบีเอส (PBS) ซึ่งจะรวมอยู่ในร่างงบประมาณของรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่จะมีการแถลงในเดือนหน้า

แต่เจ้าของร้านขายยาบางรายไม่เห็นด้วยกับแผนดังกล่าว โดยกล่าวว่าอาจนำไปสู่การขาดแคลนยา

คุณเอมิลี ยูนิตี มีความจำเป็นต้องใช้ยาตามใบสั่งยาจากแพทย์ เพื่อรักษาอาการด้านสุขภาพจิต ซึ่งทำให้เธอต้องไปพบแพทย์จีพีเป็นประจำ

“มันลำบากมากที่จะต้องกลับไปหาหมอ และต้องไปแสดงเหตุผลกับหมอทุกเดือนเกี่ยวกับอาการของเราหรือความเจ็บป่วยของเรา ดังนั้นการลดจำนวนครั้งที่ต้องทำเช่นนี้ลงครึ่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก” คุณเอมิลี กล่าว

นอกจากต้องพบแพทย์บ่อยครั้งเพื่อขอใบสั่งยาแล้ว เรื่องค่ายายังเป็นอีกภาระหนึ่งที่ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังต้องเผชิญ

“มันพอกพูนขึ้น ซึ่งมันอาจดูเหมือนเป็นเงินไม่มากสำหรับบางคน 180 ดอลลาร์ต่อปีอาจดูเหมือนไม่มาก แต่สำหรับฉันที่ใช้ยามากมายซึ่งต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ และต้องทดลองยาที่แตกต่างกันด้วย รวมทั้งการดูแลอาการป่วยที่มีไปพร้อมๆ กัน ค่ายามันจึงพอกพูนขึ้น และมันเป็นเงินที่จริงๆ แล้วฉันอาจสามารถใช้เป็นค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร หรือค่าเล่าเรียน หรือใช้เพื่อไปทำงาน” คุณเอมิลี กล่าว
180 ดอลลาร์ต่อปีอาจดูเหมือนไม่มาก แต่สำหรับฉันที่ใช้ยามากมายซึ่งต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์ ค่ายามันจึงพอกพูนขึ้น
เอมิลี ยูนิตี
แต่นี่กำลังจะเปลี่ยนไป จากข่าวดีที่รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของสหพันธรัฐแถลงออกมา ก่อนการแถลงร่างงบประมาณของรัฐบาลกลาง

ในไม่ช้า ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงยาตามใบสั่งยาจากแพทย์ ในปริมาณยาสำหรับใช้ 2 เดือน ด้วยราคาค่ายาเพียง 1 เดือน ภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์ด้านเภสัชกรรม หรือพีบีเอส (PBS)

นาย มาร์ก บัตเลอร์ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ รัฐบาลชุดที่แล้วได้รับคำแนะนำในปี 2018 ให้ดำเนินการ

“ผู้ป่วยที่อาการทรงตัวอย่างมากและใช้ยาเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว จะสามารถรับยาได้ด้วยการไปพบแพทย์จีพี เพียงครั้งเดียวแทนที่จะเป็น 2 ครั้ง และไปพบเภสัชกร 6 ครั้งแทนที่จะเป็น 12 ครั้ง ซึ่งว่าจะลดความไม่สะดวกลงอย่างเห็นได้ชัดสำหรับผู้ป่วย และจะช่วยลดความกดดันอย่างมากต่อแพทย์พีจีด้วย” นายบัตเลอร์ กล่าว
ผู้ป่วยที่อาการทรงตัวอย่างมากและใช้ยาเหล่านี้มาระยะหนึ่งแล้ว จะสามารถรับยาได้ด้วยการไปพบแพทย์จีพี เพียงครั้งเดียวแทนที่จะเป็น 2 ครั้ง และไปพบเภสัชกร 6 ครั้งแทนที่จะเป็น 12 ครั้ง
มาร์ก บัตเลอร์ รัฐมนตรีสาธารณสุข
รัฐบาลคาดการณ์ว่า ประชาชนราว 6 ล้านคนจะมีค่ายาลดลงครึ่งหนึ่ง

ซึ่งจะช่วยประหยัดเงินได้ 1.6 พันล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า ซึ่งรัฐบาลกล่าวว่าจะใช้เงินเหล่านั้นไปกลับลงทุนสำหรับร้านขายยาต่างๆ ในชุมชน

ผู้ป่วยโดยทั่วไปจะสามารถประหยัดเงินได้ 180 ดอลลาร์ต่อปี สำหรับยาหนึ่งตัว

ในขณะที่ผู้ถือบัตรลดหย่อน (concession card holders) จะประหยัดเงินได้อีกเกือบ 44 ดอลลาร์
คุณเอลิซาเบธ เดเวนี จาก สภาผู้บริโภคด้านสุขภาพแห่งออสเตรเลีย (Health Consumers Forum of Australia) กล่าวว่า นี่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

“จริงๆ แล้วเมื่อคุณดูรายการยา มาตรการนี้ถูกออกแบบมาสำหรับผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังและมีอาการทรงตัว นั่นคือใช้ยาเหมือนเดิมทุกปี ลองนึกภาพผู้ที่มีความดันโลหิตสูงและกินยาเม็ดเดียวกันทุกวันเป็นเวลา 10 ปี ตอนนี้นี่จะทำให้พวกเขาเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง สำหรับบางคน แน่นอนว่าไม่ใช่ยาหนึ่งเม็ด แต่ 5 เม็ดหรือแม้แต่ 15 เม็ด ดังนั้นพวกเขาจะได้รับประโยชน์อย่างมาก” คุณเดเวนี จากสภาผู้บริโภคด้านสุขภาพแห่งออสเตรเลีย แสดงความเห็น

แต่สมาคมเภสัชกรรมได้วิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยกล่าวว่าอาจทำให้ร้านขายยาอิสระได้รับความเสียหายถึง 170,000 ดอลลาร์ต่อปี และนำไปสู่การขาดแคลนยา

ศาสตราจารย์ เทรนต์ ทูมี ประธานสมาคม กล่าวเรื่องนี้ว่า

“เราต้องการให้รัฐบาลอัลบานีซีปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้เมื่อขอให้ชาวออสเตรเลียลงคะแนนเสียงให้รัฐบาลอัลบานีซีเมื่อปีที่แล้ว นั่นคือทำให้ยามีราคาถูกลง แต่ต้องทำในลักษณะที่ไม่ส่งผลเสียต่อความสามารถในการอยู่รอดของร้านขายยาชุมชน 6,000 แห่ง เราจะสามารถให้ยา 2 กล่องกับผู้ป่วยบางคนได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่สามารถแม้แต่จะให้ยา 1 กล่องสำหรับผู้ป่วยทุกคนได้” ศ.ทูมี ประธานสมาคมเภสัชกรรม กล่าว
แต่ นพ.บรูซ วิลเลตต์ รองประธาน ราชวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแห่งออสเตรเลีย (Royal Australian College of General Practitioners) ได้แสดงความข้องใจเกี่ยวกับข้ออ้างเรื่องการขาดแคลนยา เขากล่าวว่า

“แน่นอนว่าข้ออ้างนี้ไร้สาระ ผู้คนจะรับประทานยาในปริมาณที่เท่ากันไม่ว่าจะได้รับการจ่ายยาให้ครั้งละกี่เม็ดก็ตาม มันจะไม่ทำให้ผู้คนเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็นสองเท่า มันเหมือนกับการบอกว่าคุณไม่ควรบรรจุนมลงในภาชนะขนาด 2 ลิตร เพราะวัวจะผลิตนมไม่ทันกับความต้องการ” นพ.วิลเลตต์ รองประธาน ราชวิทยาลัยแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปแห่งออสเตรเลีย กล่าว

ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน ยาราว 100 รายการ จากทั้งหมด 320 รายการ ภายใต้โครงการสิทธิประโยชน์ทางเภสัชกรรม หรือพีบีเอส (PBS) จะสามารถจ่ายให้แก่คนไข้ในปริมาณสำหรับใช้เป็นเวลา 2 เดือน

หลังจากนั้น จะค่อยๆ ขยายไปสู่ยาส่วนที่เหลือในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ออสเตรเลียทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ ที่เทียบเคียงได้ เช่น อังกฤษและนิวซีแลนด์


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share