คนไทยในไมโครซอฟต์แนะวิธีได้งานกับบริษัทเทคฯ ชั้นนำของโลก

Peachy Google_Cloud_Woolworths.jpg

คุณอภิชนา หงษ์สุวงศ์ หรือพีช คนไทยในซิดนีย์ ผ่านงานมาแล้วทั้งที่ กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และขณะนี้ทำงานที่ไมโครซอฟต์ (Microsoft) Source: Supplied / Apichana Hongsuwong

คุณอภิชนา หงษ์สุวงศ์ หรือพีช สาวไทยในซิดนีย์ที่ผ่านงานมาแล้วทั้งที่ กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) เผยเคล็ดไม่ลับสัมภาษณ์งานกับบริษัทเทคฯ ชั้นนำของโลกเหล่านี้อย่างไรให้ได้งาน บรรยากาศการทำงานในบริษัทเหล่านี้เครียดหรือสนุกสนานแค่ไหน พร้อมคำแนะนำก้าวแรกสำหรับคนไทยในออสเตรเลียที่อยากก้าวเข้ามาทำงานสายเทคฯ ที่นี่


คุณอภิชนา หงษ์สุวงศ์ (Apichana Hongsuwong) หรือพีช ปัจจุบันทำงานตำแหน่ง Pre Sales Technical Consultant ด้าน Cloud Computing บริษัทไมโครซอฟ (Microsoft) ที่ซิดนีย์

เธอกล่าวนำว่า เธอไม่ได้เรียนมาด้านไอทีหรือเทคโนโลยี แต่เรียนจบปริญญาตรีและโทด้านธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ และก้าวเข้ามาทำงานในบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเหล่านี้เพราะความอยากลอง

“ตอนแรก พีชไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากูเกิล (Google) เป็นบริษัทที่มีคนทำงาน คิดว่าเป็นเว็บไซต์เฉยๆ” คุณพีชกล่าวพร้อมกับหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“บังเอิญได้เจอว่ากูเกิลรับคนทำงานด้วย ก็เลยลองดู แล้วตอนนั้น ก็ยังไม่มีประสบการณ์ทำงานอะไรมาก ก็เลยสัมภาษณ์ไม่ผ่าน เพราะตอนนั้นตื่นเต้นมาก สั่นมาก เลยไม่ได้ไปไหนเลยค่ะ”
Peachy 1.jfif
คุณพีชได้ผ่านงานมาแล้วทั้งที่ กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) Source: Supplied / Apichana Hongsuwong
“หลังจากนั้นลืมไปเลยว่าได้ไปสัมภาษณ์ เราก็ทำงานของเราไปเรื่อย ไม่ได้เกี่ยวกับด้านเทคฯ แต่ที่กูเกิลเรียกไปสัมภาษณ์อีกรอบหนึ่ง เพราะเขาพยายามที่จะเปิดตลาดไทย แล้วก็หาพนักงานขายคนไทยที่พูดภาษาไทยได้และภาษาอังกฤษได้ เพราะต้องประจำอยู่ที่ซิดนีย์” คุณพีช เล่า

เมื่อเอสบีเอส ไทย ถามว่า อะไรที่ทำให้คุณพีชได้งานที่กูเกิล เธอตอบอย่างมั่นใจถึงความสามารถที่บางครั้งคนไทยและคนที่มีภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรมในออสเตรเลียอาจไม่ได้มองว่าเป็นข้อได้เปรียบ

“พีชคิดว่าเหตุผลที่เขาสนใจในตัวพีช ที่อยากสัมภาษณ์เรา เพราะเรามีสองภาษา พีชจึงอยากให้รู้ว่าคนส่วนใหญ่สมัยนี้เนี่ย เขาให้ความสำคัญกับหลายภาษามาก เพราะฉะนั้นแล้วเราเก่งทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษดีที่สุดค่ะ”
เหตุผลที่เขาสนใจในตัวพีช ที่อยากสัมภาษณ์เรา เพราะเรามีสองภาษา
“อย่างที่สองก็คือ story (เรื่องราว) ของตัวเรา กูเกิลเขาสนใจว่าเราคิดยังไง และประสบการณ์ของเราในชีวิต อย่าง story ของพีชคือ คุณพ่อคุณแม่เรามีธุรกิจของตัวเอง เราขายของมาตั้งแต่เด็ก เราคิดอย่างที่ไม่เหมือนกับชาวบ้านเขา story ของเราแตกต่างจากชาวบ้านเขา กูเกิลก็จะเห็นความสำคัญว่าเราไม่ได้คิดเหมือนคนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับบริษัทกูเกิล เป็น identity (อัตลักษณ์) ของตัวเอง เป็นประสบการณ์ของเราเอง ที่เราควรจะดึงออกมาให้เขาเห็น”
กูเกิลจะเห็นความสำคัญว่าเราไม่ได้คิดเหมือนคนทั่วไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับกูเกิล เป็น identity (อัตลักษณ์) ของตัวเอง เป็นประสบการณ์ของเราเอง
Peachy 5.jpg
คุณพีชกับเพื่อนๆ ที่บริษัทกูเกิล Source: Supplied / Apichana Hongsuwong
จากการที่คุณพีชได้ผ่านการทำงานมาแล้วกับทั้ง กูเกิล (Google) แอมะซอน (Amazon) และไมโครซอฟต์ (Microsoft) และเคยได้สมัครงานในตำแหน่งที่แตกต่างออกไปจากเดิมภายในบริษัทด้วย เธอจึงมีความเข้าใจและมีประสบการณ์โชกโชนเกี่ยวกับการสัมภาษณ์กับบริษัทเหล่านี้ ซึ่งเธอกล่าวว่า แต่ละบริษัทจะมีแนวการสัมภาษณ์ที่แตกต่างกันไป

“สำหรับกูเกิลสิ่งที่เขาหาคือ เขาหาว่าเรามีความ unique (ความแตกต่างอย่างไม่เหมือนใคร) ยังไง เขาจะดูว่าถ้ามีปัญหาตรงนี้ คุณมีความคิดที่จะแก้ไขยังไง process (กระบวนการ) ในการคิดของเราเป็นยังไง ไม่ได้เกี่ยวกับ outcome (ผลลัพธ์) สักเท่าไร” คุณพีช เผย
Peachy 2.jpg
"พีชคิดว่าเหตุผลที่เขาสนใจในตัวพีช ที่อยากสัมภาษณ์เรา เพราะเรามีสองภาษา" คุณพีช กล่าว Source: Supplied / Apichana Hongsuwong
“ส่วนแอมะซอน (Amazon หรือ AWS) จะแปลกแหวกแนวไปเลย จำได้ว่าสัมภาษณ์ของแอมะซอนนี่เหนื่อยมาก 5 ชั่วโมงไม่หยุดเลย สิ่งที่เขาหาไม่ใช่ uniqueness (ความแตกต่างอย่างไม่เหมือนใคร) ของเรา แต่เขาต้องการประสบการณ์ของเรา เขาจะถามเรื่องประสบการณ์ของเราแบบเจาะจุดมาก คำแนะนำที่พีชให้ได้คือควรตอบคำถามตาม format (รูปแบบการตอบคำถาม) ที่เรียกว่า S.T.A.R”

ขณะเดียวกัน บริษัทเหล่านี้ก็มองหาบุคคลากรที่มีคุณสมบัตินอกเหนือไปจากแค่ความสามารถด้านเนื้องานอย่างเดียว

“ไมโครซอฟต์เขาจะมุ่งเน้นเกี่ยวกับเรื่อง culture (วัฒนธรรมองค์กร) ของบริษัท ซึ่งคล้ายๆ กับกูเกิล แต่ก่อนกูเกิลเขาจะมีการสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง “Googliness” How googliness are you? คือถ้าพูดง่ายๆ คือเขาจะดูว่าเราเป็นคนดีหรือไม่ดี ซึ่งเขาจะมีแนวสัมภาษณ์แบบนี้ ส่วนไมโครซอฟต์ก็จะมีแนวสัมภาษณ์คล้ายๆ กันคือเขาจะดูว่า Are you a good person? Are you fit to our team? เพราะเขาเชื่อมั่นว่าถ้าคุณเหมาะกับทีมของเรา คุณช่วยเหลือคนอื่น หรือมี growth mindset ถึงแม้คุณจะไม่ดีสมบูรณ์แบบ แต่ถ้าคุณเข้ามาแล้วคุณอยากที่จะเรียนรู้และอยากทำตัวเองให้ดีขึ้น เขาก็จะให้โอกาสตรงนี้กับคุณ”
แต่ก่อนกูเกิลเขาจะมีการสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่อง “Googliness” How googliness are you?
Peachy 4.jpg
ห้องซ้อมดนตรี ที่มีไว้ให้พนักงานใช้ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ในสำนักงานของกูเกิล ในซิดนีย์ Source: Supplied / Apichana Hongsuwong
คุณพีชกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าขณะนี้ในอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีจะมีการเลิกจ้างพนักงานเกิดขึ้นจำนวนหนึ่ง แต่เธอย้ำว่างานด้านนี้จะเติบโตต่อเนื่อง

“พีชเชื่อว่า ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอะไรในโลก ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ ด้านงานรัฐบาล ด้านขายปลีก ด้านธุรกิจให้บริการต้อนรับ ในอนาคตซอฟแวร์กับเทคโนโลยีจะเป็น base (ฐาน) ซึ่งจะซึมเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมพวกนี้ เพราะฉะนั้นแล้ว ซอฟท์แวร์กับเทคโนโลยีจะไม่ไปไหน จะอยู่และจะเติบโตไปเรื่อยๆ แต่ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่เขาปรับตัว”
Peachy 6.jpg
คุณพีชกับบทบาทการทำงานในปัจจุบันที่ไมโครซอฟต์ Source: Supplied / Apichana Hongsuwong
คุณพีชฝากถึงคนไทยที่สนใจอยากทำงานในบริษัทด้านเทคฯ ชั้นนำของโลกอย่างเธอบ้าง ว่าอุปสรรคที่แท้จริงอาจมาจากความไม่เชื่อมั่นในใจของเราเอง

“ไม่ต้องไปกลัวค่ะ เราก้าวเข้าไปเลยและก้าวเข้าไปด้วยความมั่นใจ ถ้าไม่ได้ก็ค่อยมาว่ากันอีกทีว่าคราวหน้าจะทำอย่างไร แต่สิ่งแรกคือไม่ต้องกลัว”
ไม่ต้องไปกลัวค่ะ เราก้าวเข้าไปเลยและก้าวเข้าไปด้วยความมั่นใจ
กดฟังสัมภาษณ์เต็มๆ ที่คุณพีชเล่าถึงบรรยากาศการทำงานในบริษัทเทคฯ ชั้นนำของโลกเหล่านี้เครียดหรือสนุกสนานแค่ไหน งานไอทีจะเฟื่องฟูต่อไปหรือไม่ในอนาคตท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในตอนนี้ พร้อมคำแนะนำสำหรับคนไทยในออสเตรเลียจะก้าวเข้าไปในสายเทคฯ ที่นี่ได้อย่างไร
LISTEN TO
thai_160323_Peachy IT Jobs.mp3 image

คนไทยในไมโครซอฟต์แนะวิธีได้งานกับบริษัทเทคฯ ชั้นนำของโลก

SBS Thai

16/03/202335:46
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share