คุก 2 สามีภรรยาหลอกใช้ผู้อพยพ สะท้อนภาพแรงงานทาสยุคใหม่ในออสฯ

Joshua McAleer ignored reporters' questions

Joshua McAleer ignored reporters' questions Source: SBS

ศาลได้ตัดสินจำคุกคู่สามีภรรยาชาวซิดนีย์คู่หนึ่ง ในข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวหญิงชาวฟิลิปปินส์ไว้เป็นแรงงานทาสที่บ้านและกิจการของพวกเขานานกว่า 3 ปี โดยคดีดังกล่าวได้เน้นย้ำถึงปัญหาแรงงานทาสยุคใหม่ในออสเตรเลียที่ยังไม่หมดไป ตำรวจเผยทุกคนในชุมชนมีส่วนในการหยุดยั้งปัญหานี้


LISTEN TO
Sentencing for Sydney couple who admitted to slavery-like offences image

คุก 2 สามีภรรยาหลอกใช้ผู้อพยพ สะท้อนภาพแรงงานทาสยุคใหม่ในออสฯ

SBS Thai

29/06/202106:49
นายโจชัวร์ แม็กอลีเออร์ (Joshua McAleer) พร้อม นางชีลา แม็กอลีเออร์ (Shiela McAleer) ผู้เป็นภรรยา จากเมืองร็อกเดล (Rockdale) ในนครซิดนีย์ ถูกศาลตัดสินจำคุกวันนี้ ในความผิดเข้าข่ายมีทาสในครอบครอง หลังล่อลวงหญิงชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่ง และบังคับให้เธอทำงานเป็นคนรับใช้ภายในบ้านและกิจการของพวกเขาในนครซิดนีย์ทั้งวันทั้งคืน ซึ่งรวมถึงร้านขายของชำคาพามิลยา (Kapamilya grocery) และกิจการร้านอาหารต่าง ๆ ของพวกเขาทั่วนครซิดนีย์   

นางแม็กอลีเออร์ ซึ่งเป็นมารดาลูก 3 ที่มีความสุขกับการจับจ่ายซื้อของในร้านแฟชั่นบูติกหรูหรา จะต้องรับโทษจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 3 เดือน โดยศาลกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำห้ามปล่อยตัวเป็นเวลา 14 เดือน

ส่วนนายแม็กอลีเออร์ ได้รับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน แต่ศาลให้ประกันตัว จนกว่าผู้พิพากษาจะมีคำตัดสินว่า เขาจะสามารถรับโทษในชุมชนได้หรือไม่

นอกจากนี้ ศาลยังมีคำสั่งให้ทั้งสองต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับเหยื่อเป็นจำนวน $70,000 ดอลลาร์

เหยื่อรายดังกล่าว ซึ่งไม่สามารถระบุตัวตนได้ ทำงานเป็นแม่บ้านและพี่เลี้ยงเด็กที่บ้านของครอบครัวแม็กอลีเออร์ในนครซิดนีย์ ต่อมาได้ทำงานที่ร้านขายของชำ และร้านอาหารของพวกเขาในเมืองร็อกเดล (Rockdale)

เธอถูกล่อลวง ถูกจำกัดการเคลื่อนไหว และต้องพึ่งพาปัจจัยทางการเงินจากสามีภรรยาคู่นี้ โดยถูกข่มขู่ว่าจะโดนทำร้ายหากเธอพยายามที่จะหลบหนี

ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า พวกเขาบังคับให้เธอทำงานเป็นคนดูแลบ้าน และเป็นพี่เลี้ยงให้กับบุตรทั้ง 3 ของครอบครัวแม็กอลีเออร์ ทั้งวันทั้งคืนไม่หยุดหย่อน เธอไม่ได้รับอิสระในการออกจากบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต และถูกบังคับให้ใช้ชื่อปลอมเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ  

เหยื่อรายนี้เดินทางมายังออสเตรเลียในปี 2013 หลังจากที่นางแม็กอลีเออร์ได้ออกค่าใช้จ่ายในการทำพาสปอร์ต และวีซ่าท่องเที่ยวระยะเวลา 3 เดือนให้กับเธอ ซึ่งวีซ่าดังกล่าวจำกัดไม่ให้เธอสามารถทำงานในออสเตรเลียได้ 

ผู้พิพากษาได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีของครอบครัวแม็กอลีเออร์ เป็นตัวอย่างที่หาได้ยากของการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมในข้อหาบังคับใช้แรงงาน และการปิดบังซ่อนเร้นผู้ไม่ใช่พลเมืองออสเตรเลียอย่างผิดกฎหมาย โดยจนถึงปัจจุบัน ออสเตรเลียมีการดำเนินคดีในลักษณะนี้เพียง 2 ครั้ง ซึ่งรวมถึงคดีดังกล่าว

นางพอลลา ฮัดสัน (Paula Hudson) ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการพิเศษด้านการค้ามนุษย์ กรมตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (AFP) กล่าวว่า ยังมีคดีอื่น ๆ ในลักษณะนี้อยู่อีกมากที่เราอาจมองข้ามไป
ดิฉันบอกตามตรงว่า คดีเหล่านี้ ซึ่งรวมถึงคดีในวันนี้ เป็นเรื่องน่าตกใจและชวนหัวใจสลายที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ผู้คนและชุมชนอาจคิดว่า การค้ามนุษย์และการใช้แรงงานทาสนั้นไม่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย แต่นั่นไม่จริงเลย มันกำลังเกิดขึ้น และมันกำลังเกิดขึ้นที่นี่ ในชุมชน และในบ้านเรา ผู้กำกับการฮัดสัน กล่าว
กรมตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย ระบุว่า คดีเหล่านี้เป็นเรื่องที่สะเทือนใจอย่างมากสำหรับผู้ตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์และแรงงานทาส โดยได้ส่งสารไปยังผู้ที่กำลังตกเป็นเหยื่อว่า มีความช่วยเหลือที่พวกเขาเข้าถึงได้ และมีทางออกสำหรับสถานการณ์ที่น่าสะเทือนใจนี้

บ่อยครั้ง สิ่งที่เกิดขึ้น คือ อิสระในการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะถูกจำกัด พวกเขาจะถูกบังคับให้อยู่ในเงื่อนไขที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าหนีไปไม่ได้ บ่อยครั้งพวกเขาอาจถูกยึดเอกสารระบุตัวตน หรือถูกตัดขาดจากการสื่อสาร เพื่อที่จะทำให้พวกเขาหนีไปไม่ได้ 

"และในบางครั้ง พวกเขาอาจถูกทำให้รู้สึกว่า ตนเองกำลังทำผิดอาญา และมีความผิด และถูกข่มขู่ให้จำยอมอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น มันจึงเป็นคดีอาชญากรรมที่เป็นเรื่องยากที่ผู้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจะแจ้งกับเจ้าหน้าที่" ผู้กำกับการฮัดสัน กล่าว

"แต่สารของเรา AFP ที่ต้องการจะสื่อไปยังผู้ที่อาจกำลังตกเป็นเหยื่อ นั่นก็คือ มันมีทางออกสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายเหล่านี้ เรามีความพร้อมและความสามารถที่จะช่วยเหลือคุณได้" ผู้กำกับการฮัดสัน กล่าว

เมื่อปีที่ผ่านมา กรมตำรวจสหพันธรัฐออสเตรเลีย (AFP) ได้รับรายงานเหตุการค้ามนุษย์และแรงงานทาสจำนวน 223 ครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่า ตัวเลขที่แท้จริงนั้นอาจสูงกว่านี้ เนื่องจากจำนวนการรายงานเหตุในความเป็นจริงนั้นไม่เพียงพอ

"เมื่อปีการเงินที่ผ่านมา เราได้รับรายงานการค้ามนุษย์และแรงงานทาส 223 ครั้งเข้ามายัง AFP ในปีการเงินนี้ เราคาดว่าจะมีการรายงานในแนวโน้มเดียวกันหรืออาจมากขึ้น" ผู้กำกับการฮัดสัน กล่าว

"อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2019 สถาบันอาชญาวิทยาออสเตรเลีย ได้เปิดเผยการศึกษาวิจัยในบริบทของออสเตรเลีย ซึ่งเปิดเผยว่า ทุก 1 ครั้งที่มีการรายงานเหตุจากผู้ตกเป็นเหยื่อ จะพบว่ามีผู้ตกเป็นเหยื่อ 4 คนที่ไม่ได้รายงาน"  

"ดังนั้น ความเป็นจริงของสถานการณ์นี้ในออสเตรเลียก็คือ มีเหตุเกิดขึ้นมากกว่าที่ได้มีการรายงานมายัง AFP และเราได้ตระหนักในเรื่องนั้นเป็นอย่างมาก"


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share