ออสฯ ปิดประเทศต่อถึงกลางปีหน้า ผู้อพยพแห่กลับบ้าน

overseas travellers

Avustralya yüzde 80 çift doz seviyesine ulaşınca güvenli balon sisteminin uygulandığı ülkelerle seyahate ve TGA tarafından onaylı çift doz aşı olmuş Avustralyal Source: Getty

การปิดพรมแดนระหว่างประเทศของออสเตรเลียจนกลางปี 2022 กลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายสำหรับผู้อพยพย้ายถิ่นที่ต้องการกลับไปพบหน้ากับสมาชิกครอบครัว หลายคนถอดใจเลือกเดินทางกลับบ้านเกิด คาดอาจกระทบเศรษฐกิจประเทศ


LISTEN TO
Migrants exit Australia over border rules image

ออสฯ ปิดประเทศต่อถึงกลางปีหน้า ผู้อพยพแห่กลับบ้าน

SBS Thai

17/06/202107:20
คุณเวนดี กัตเตอร์ริจ (Wendy  Gutteridge) วัย  45 ปี ย้ายมาอาศัยอยู่ในออสเตรเลียจากประเทศอังกฤษเมื่อปี 2015 เธอทำงานเป็นเจ้าหน้าที่องค์กรพิทักษ์สัตว์  RSPCA ในรัฐวิกตอเรีย และเพิ่งจะได้รับสัญชาติออสเตรเลียเมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

เธอคิดมาตลอดว่าไม่เคยอยากออกไปจากที่นี่ แต่หลังจากที่ออสเตรเลียปิดพรมแดนระหว่างประเทศ เพื่อตอบโต้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดินแดนที่เธอเรียกว่า “บ้าน” กลับกลายเป็นเหมือนสถานจองจำ

"ฉันรู้สึกแปลกแยก และมันเป็นเรื่องที่ยากลำบากเหมือนกัน ฉันสงสัยว่าสภาพจิตใจของผู้คนจะเป็นอย่างไรในระยะยาว และหากใครคิดจะย้ายประเทศ พวกเขาจะทบทวนดูอีกครั้งหรือเปล่า โดยเฉพาะการย้ายมาออสเตรเลียอย่างถาวร และกลับต้องถูกจองจำ นั่นเป็นสิ่งที่ฉันรู้สึก และมันเริ่มเหมือนกับว่าฉันกำลังติดอยู่ที่นี่" คุณเวนดี กล่าว

การจำกัดห้ามการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้เธอไม่สามารถไปเยี่ยมมารดาของเธอ ซึ่งเป็นหม้ายอยู่ในประเทศอังกฤษ และถึงแม้ว่าเธอจะเป็นพลเมืองออสเตรเลียแล้วในตอนนี้ แต่ก็กลับต้องทิ้งความฝันของเธอไว้ในออสเตรเลีย

"ในตอนนั้น ฉันเดินทางกลับอังกฤษเมื่อต้นเดือนมกราคม ที่นี่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละกว่า 70,000 คน มีผู้เสียชีวิตวันละ 1,000 คน ซึ่งก็พอจะทำให้เห็นภาพว่า ผู้คนอยากกลับมาพบครอบครัวมากขนาดไหน" คุณเวนดี กล่าว

เธอกล่าวว่า การรับมือของรัฐบาลออสเตรเลียในการจำกัดห้ามการเดินทางนั้น ส่งผลต่อประสบการณ์ของเธอในออสเตรเลีย และถึงแม้ว่าเธอจะเป็นพลเมืองที่นี่ แต่คุณเวนดีก็ยังคงไม่ต้องการที่จะกลับมาออสเตรเลียในเร็ว ๆ นี้

"ฉันก็คงจะสรรเสริญออสเตรเลียกับใครต่อใครว่า ประเทศนี้น่าอยู่ และมีรัฐบาลที่ดี แต่มันน่าผิดหวังที่ฉันต้องคิดใหม่ว่า นั่นคงไม่จริงหรอก เพราะไม่มีใครรับรู้เลยว่า ผู้คนต้องการพบหน้าครอบครัวมากขนาดไหน ขณะที่เลื่อนวันเปิดพรมแดนออกไปเรื่อย ๆ" คุณเวนดี กล่าว
สำหรับคุณแอนเนเลียส คาแวน (Annelies Kavan) แล้ว การไม่ได้พบกับครอบครัวในแคนาดา หลังคลอดบุตรคนแรกเมื่อปีที่แล้ว ได้สร้างความลำบากใจให้กับเธออย่างมาก

"มันเป็นเรื่องยากจริง ๆ ฉันมีปัญหาสุขภาพที่รุนแรงตอนที่คลอดแมกซ์ออกมา การไม่มีคนในครอบครัวอยู่กันอย่างพร้อมหน้าอย่างที่ตั้งใจไว้ มันเกือบทำให้ทุกอย่างเป็นไปไม่ได้เลย" คุณแอนเนเลียส กล่าว 

คุณคาแวน เป็นนักเขียนบทละครโทรทัศน์อิสระ และคุณแดเนียล คาแวน (Daniel  Kavan) สามีของเธอ เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทด้านกฎหมายเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง ทั้งสองอาศัยอยู่ในนครโกลด์โคสท์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2017 และได้วางแผนที่จะโบกมือลาออสเตรเลียในเร็ว ๆ นี้

"พรมแดนออสเตรเลียจะไม่เปิดจนกระทั่งกลางปี 2022 ผมรู้สึกว่าเรารอนานขนาดนั้นไม่ได้ และเรามองว่าจะย้ายไปอยู่แคนาดา ไม่ต้นปีหน้าก็ช่วงปลายปีนี้ เราตัดสินใจมาออสเตรเลียก็เพราะเราคิดว่าเป็นสถานที่ ๆ ดีที่สุดในการสร้างครอบครัว

"แต่ถ้าเราไปหาครอบครัวเราไม่ได้ และเดินทางไปมาหาสู่กันไม่ได้ มันก็ถือว่าหมดคุณค่าในการเป็นประเทศที่เหมาะสมในการมีครอบครัว" คุณแดเนียล กล่าว

ข้อมูลจากหน่วยงานพิทักษ์พรมแดนออสเตรเลีย ( ABF) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา มีพลเมืองสัญชาติออสเตรเลีย และผู้อยู่อาศัยถาวรในออสเตรเลียมากกว่า 150,000 คน ได้รับการยกเว้นให้เดินทางออกจากประเทศ 

ขณะที่สำนักงานสถิติแห่งออสเตรเลีย เปิดเผยว่า เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาเพียงเดือนเดียว มีผู้เดินทางออกจากออสเตรเลียถึง 65,100 คน ซึ่งเป็นสถิติรายเดือนที่สูงที่สุด นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มต้น

โดยในบรรดาผู้ที่เดินทางออกจากออสเตรเลียไปนั้น เป็นแรงงานอพยพย้ายถิ่นที่อาศัยอยู่ในระยะยาว ซึ่ง นายเบรนแดน โคทส์ (Brendan  Coates) จากสถาบันแกรทแทน (Grattan Institute) กล่าวว่า เป็นสิ่งมีคุณค่าที่ออสเตรเลียไม่ควรเสียไป

"หากคุณทำให้ผู้อพยพย้ายถิ่นที่ต้องเดินทางออกไปจากออสเตรเลีย และนำทักษะอันมีค่าติดตัวไปด้วย มันจะเป็นเรื่องยากที่จะหาคนที่มีทักษะเหล่านั้นมาทดแทนในระยะสั้น ขณะที่พรมแดนออสเตรเลียก็ยังคงปิดอยู่"

"ดังนั้น หากพวกเขามีทักษะที่มีคุณค่า และเราไม่สามารถหาอะไรมาทดแทนได้ง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางการอพยพย้ายถิ่น หรือการฝึกทักษะซึ่งต้องใช้เวลาก็ตาม มันจะมีทักษะอาชีพที่หายไปจากระบบเศรษรกิจของออสเตรเลียเป็นระยะเวลาหนึ่ง" นายโคทส์ กล่าว

ขณะที่การพาชาวออสเตรเลียราว 40,000 คน ที่ยังคงติดค้างอยู่ในต่างประเทศกลับบ้าน ยังคงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสหพันธรัฐยังคงให้ความสำคัญในอันดับต้น ๆ แต่ก็มีแรงกดดันที่มากขึ้นเพื่อให้รัฐบาลทำอะไรให้มากกว่านี้ เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือญาติมิตรที่ยังคงติดอยู่ในต่างแดน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 2016 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของชาวออสเตรเลีย เป็นผู้ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในต่างแดน หรืออย่างน้อยก็มีบิดามารดาคนใดคนหนึ่งเกิดในต่างประเทศ

โดยในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการเสนอรายชื่อมากกว่า 70,000 รายชื่อ ไปยังรัฐบาลสหพันธรัฐโดย นายนิก แม็กคิม (Nick McKim) วุฒิสมาชิกจากพรรคกรีนส์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นให้บิดามารดาของผู้อาศัยอยู่ในออสเตรเลียสามารถเดินทางเข้ามาได้

"ในตอนนี้เราเข้าสู่เดือนที่ 15 ของวิกฤตการแพร่ระบาดโควิด โดยไม่มีวี่แววว่าจะมีจุดจบ มันเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องพิจาณาการควบคุมพรมแดนทั้งหมด เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะไม่เลือกปฏิบัติต่อพลเมืองชาวออสเตรเลีย" นายแม็กคิม กล่าว

หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้อพยพย้ายถิ่นจำนวนมาก อาจเดินทางออกจากออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องในอนาคต


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

ออสฯ เล็งคลอดวีซ่าการเกษตรแบบใหม่ มุ่ง 10 ประเทศอาเซียน


Share