สรุปการสำแดงสินค้าจากไทย: เลี่ยงค่าปรับนับแสนเหรียญหรือจำคุกถึงสิบปี

Image of fermented fish called "Pla Ra" in plastic bags

ปลาร้า "Pla Ra" or fermented fish Source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0

EXCLUSIVE: เรามีสรุปที่จะช่วยให้ท่านคลายความวิตกกังวลในทุกๆ ครั้งที่เดินทางจากประเทศไทยสู่ออสเตรเลีย เพราะกฎต่างๆ ของการผ่านเข้าประเทศออสเตรเลียนั้นเข้มงวดเป็นอย่างยิ่งในเรื่องการกักกันวัสดุซึ่งอาจมีเชื้อโรคหรือพาหะของโรคแอบแฝงอยู่


กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังการพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้อย่างสนุกสนานเป็นภาษาไทย (19 นาที)

เรื่องราวนี้ในฉบับภาษาอังกฤษ

‘Confiscated or destroyed’: Five things not to bring into Australia

สำหรับชาวไทย สินค้าไทยๆ นั้นช่างยั่วยวนใจให้ซื้อหา และก็น่านำติดตัวมาออสเตรเลียเป็นอย่างยิ่ง ทว่าการผ่านเข้าเมืองก็มีกฎที่เข้มงวดเป็นอย่างมากในเรื่องของการกักกันวัสดุต่างๆ ที่อาจมีเชื้อโรคหรือพาหะของโรคแอบแฝงอยู่

เอสบีเอส ไทย ได้จัดระเบียบหมวดหมู่สินค้าซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงของชาวไทย และนำไปสอบถามเป็นกรณีพิเศษกับหัวหน้าการปฏิบัติการเกี่ยวกับความปลอดภัยทางชีวภาพแห่งกระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำของสหพันธรัฐฯ คุณนิโค พาโดแวน (Nico Padovan, Head of Biosecurity Operations at the Department of Agriculture and Water Resources)  ว่าท่านจะต้องทำอย่างไรเกี่ยวกับสิ่งของอันเป็นที่โปรดปรานของชุมชนไทยแต่ละประเภท

คุณนิโคชี้แจงกับเอสบีเอส ไทย ว่าในแต่ละปีนั้นประเทศออสเตรเลียรองรับผู้โดยสารทางอากาศจำนวนกว่า 100,000 คนและพัสดุไปรษณีย์จำนวนกว่า 500,000  ชิ้นจากประเทศไทย และการฝ่าฝืนกฎการกักกันทางชีวภาพนั้นอาจทำให้ท่านมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $420 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์ หรือโทษจำคุกได้สูงสุดถึงสิบปี
“การฝ่าฝืนกฎการกักกันทางชีวภาพนั้นอาจทำให้ท่านมีโทษปรับเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ $420 ดอลลาร์ไปจนถึงหลายแสนดอลลาร์ หรือโทษจำคุกได้สูงสุดถึงสิบปี”
หากอ้างอิงจากเว็บไซต์ของกระทรวงเกษตรและทรัพยากรน้ำ ออสเตรเลียเป็นหนึ่งในประเทศเพียงไม่กี่ประเทศทั่วโลกในปัจจุบันซึ่งยังเข้าข่ายว่าปลอดจากสัตว์ไม่พึงประสงค์ตลอดจนโรคของพืชและสัตว์ที่รุนแรง เนื่องจากสภาพทางภูมิศาสตร์อันเป็นเกาะตั้งอยู่ห่างไกล โดยออสเตรเลียมีมูลค่าการส่งออกจากอุตสาหกรรมการเกษตรที่สูงถึง $32 พันล้านดอลลาร์ นอกจากนั้นแล้วสิ่งแวดล้อมของประเทศก็ยังมีลักษณะที่เฉพาะตัว ไม่ว่าจะในแง่ของสัตว์พื้นเมือง พืชพื้นเมือง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และวิถีชีวิตที่ไม่เหมือนใครของชาวออสเตรเลีย ทำให้ทางกระทรวงฯ นั้นมีความรับผิดชอบต่อชายแดนที่มีความยาวถึง 60,000 กิโลเมตร ซึ่งหากเทียบกันแล้ว ก็เป็นระยะทางที่มากกว่าเส้นรอบวงของโลกถึง 1.5 เท่า

สำหรับชาวไทย โดยส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเดินทางมาถึงออสเตรเลียที่สนามบินต่างๆ เรามาดูกันว่าคุณนิโค พาโดแวนมีคำแนะนำให้กับเอสบีเอส ไทยเป็นพิเศษ เกี่ยวกับสินค้ายอดนิยมต่างๆ ของคนไทยอย่างไร

กลุ่มที่ 1 อาหารทะเลต่างๆ: ปลาและผลิตภัณฑ์จากปลา รวมถึงเนื้อปลา ปลาหมึก กุ้ง ไม่ว่าจะสด หรือแห้ง (มักจะบรรจุพลาสติก)ผลิตภัณฑ์จากการหมักเช่นปลาร้า น้ำปลาหรือกะปิ

ต้องสำแดงในทุกกรณี ทั้งนี้หากเป็นสินค้าที่ผ่านกระบวนการและบรรจุเพื่อการค้าก็จะมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่า ในการผ่านพรมแดน

“ตัวอย่างของปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเช่นเมื่อไม่นานมานี้ มีการระบาดของไวรัสจุดขาวในกุ้ง (White Spot Virus) ในบริเวณพื้นที่รอบๆ แม่น้ำโลแกนของรัฐควีนส์แลนด์ ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับฟาร์มเลี้ยงกุ้งในพื้นที่ดังกล่าว” คุณนิโค พาโดแวนเล่า
Image of fermented fish
ปลาร้า (Image source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0) Source: Image source: Heinrich Damm via Wikimedia Commons/CC BY 2.0
กลุ่มที่ 2 เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์:รวมถึงเนื้อสัตว์แห้ง หรือฝอย

ต้องสำแดงในทุกกรณี โดยจะขึ้นอยู่กับว่าเนื้อสัตว์เช่นเนื้อหมูหรือเนื้อวัวนั้น ได้ผ่านกระบวนการเช่นไรมาแล้วบ้าง หากผ่านกระบวนการที่เหมาะสมแล้วก็อาจผ่านเข้าประเทศได้ และเชื้อโรคซึ่งแฝงมากับเนื้อสัตว์ต่างๆ นั้น ถึงแม้ว่าจะรับประทานไปแล้ว เศษอาหารที่ทิ้งเป็นขยะ ก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อโรค และอาจติดต่อไปยังวัวหรือหมูในประเทศออสเตรเลียได้ในที่สุด
Image of fragrant pork floss
หมูหยอง (Image source: Eddie Khoo via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0) Source: Eddie Khoo via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0
กลุ่มที่ 3 พืช:เมล็ดพันธุ์พืช หน่อ ต้นอ่อน กิ่งก้าน ใบ หรือราก รวมถึงเมล็ดข้าวหรือธัญพืช

คุณนิโคย้ำว่าต้องสำแดง ในทุกกรณี เนื่องจากเป็นกลุ่มซี่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคอันไม่พึงประสงค์ซึ่งอาจไม่สามารถผ่านเข้าเมืองได้ในหลายๆ กรณี โดยเมื่อเร็วๆ นี้มีการระบาดของแมลงวันผลไม้ไปยังหลายพื้นที่ของประเทศซึ่งไม่เคยพบแมลงวันผลไม้มาก่อน และยกตัวอย่างว่าเพียงแค่อุตสาหกรรมการปลูกแอปเปิลของประเทศออสเตรเลียนั้นก็มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี
“แค่อุตสาหกรรมการปลูกแอปเปิลของประเทศออสเตรเลียนั้นก็มีมูลค่าสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี” คุณนิโค พาโดแวนกล่าวกับ เอสบีเอส ไทย"
สำหรับเมล็ดพันธุ์พืชนั้น ท่านไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ด้วยตนเอง เนื่องจากมีขั้นตอนพิเศษในการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชโดยผ่านทางสถานที่กักกันพิเศษที่นครเมลเบิร์น (Post Entry Quarantine Facilities) เพื่อเป็นการป้องกันเชื้อโรค และการนำเข้าจะต้องทำอย่างเป็นกิจจะลักษณะทางการค้าเท่านั้น ตัวอย่างของโรคซึ่งแฝงมากับเมล็ดพันธุ์พืชหรือเมล็ดธัญพืชที่สร้างความเสียหายได้ร้ายแรงเป็นวงกว้างได้แก่โรคคาร์นัล บันต์ (Karnal bunt) ซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง (Tilletia indica)
Image of bamboo shoots
หน่อไม้ (Image source: Pixabay) Source: Pixabay
“หากไม่แน่ใจให้ตรวจสอบที่เว็บไซต์ของกระทรวงฯ หรือ โทร. ถาม ที่หมายเลข 1800 900 090 ก่อน”
กลุ่มที่ 4 ผลไม้: ผลไม้สด แห้ง มะขาม น้ำมะขาม มะขามสกัด ผลไม้ดอง ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม ผลไม้อัดแผ่น อัดแท่งหรือผลไม้กวน

คุณนิโคกล่าวว่าต้องสำแดงทุกกรณีเช่นเดียวกัน เนื่องจากผลไม้นั้นมีสัตว์หรือโรคที่ไม่พึงประสงค์แฝงอยู่ และอาจแพร่ออกสู่พื้นที่การปลูกพืชไม่ว่าจะในครัวเรือนหรือทางการค้าได้โดยตรงและง่ายดายเป็นอย่างมาก ตัวอย่างเช่นการระบาดของโรคแคงเกอร์ในพืชตระกูลส้มที่ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ ที่ทำให้สูญสิ้นทรัพยากร และแรงงานในการควบคุมโรคซึ่งเป็นไปอย่างยากลำบาก
Image of a durian
ทุเรียน (Image source: Pixabay) Source: Pixabay
กลุ่ม 5 แมลง:แมลงทอด หนอนทอด ไข่มดแดงหรือตัวอ่อนของมดแดงไม่ว่าจะสดหรือบรรจุกระป๋อง

ต้องสำแดง แต่หากผ่านกระบวนการปรุงที่เหมาะสมแล้วก็อาจสามารถนำเข้าได้ โดยเฉพาะเมื่อผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมมาแล้ว

คุณนิโคอธิบายว่าขณะนี้ประเทศออสเตรเลียเผชิญกับมดแดงไฟต่างถิ่น (Red imported fire ants ) ที่เข้ามาตั้งรกรากและแพร่พันธุ์ โดยต้องใช้เงินในการกำจัดเป็นจำนวนหลายร้อยล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังมีปัญหากับมดเหลือง (Yellow ants) และมดไฟฟ้า (Electric ants) ในพื้นที่ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย
Image of fried insects
แมลงทอด (Image source: Vijinathkv via Wikimedia Commons/CC BY-SA 3.0) Source: Vijinathkv via Wikimedia Commons CC BY-SA 3.0
กลุ่ม 6 เครื่องปรุงต่างๆ: พริกป่น น้ำพริก ส่วนผผสมจากสมุนไพร น้ำมันต่างๆ ส่วนผสมจากสัตว์ (เช่น หมู ปลา หรือกุ้ง) ผงปรุงรสต่างๆ

ต้องสำแดง โดยกลุ่มนี้มักเป็นปัญหาเนื่องจากไม่สามารถทำการพิสูจน์ทราบได้เลยว่า จริงๆ แล้วส่วนผสมของเครื่องปรุงต่างๆ นั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง อาจจะฟังดูแล้วน่าเสียดาย แต่คุณนิโคเน้นย้ำว่า “เครื่องปรุงซึ่งทำเองที่บ้านนั้นจะมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกห้ามนำเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับเครื่องปรุงที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม” หากเครื่องปรุงมีฉลากทางการค้าซึ่งระบุส่วนประกอบโดยละเอียด การจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าก็จะขึ้นอยู่กับส่วนผสมของเครื่องปรุงนั้นๆ
“เครื่องปรุงซึ่งทำเองที่บ้านนั้นจะมีความเสี่ยงสูงกว่าที่จะถูกห้ามเข้าประเทศ เมื่อเทียบกับเครื่องปรุงที่ผ่านกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรม”
กลุ่ม 7 เครื่องครัว: ครกและสาก เครื่องจักสานต่างๆ กระติ๊บ หวดนึ่งข้าวเหนียว

ต้องสำแดง เนื่องจากอาจมีสัตว์ไม่พึงประสงค์ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า บางกรณีผู้เข้าเมืองสามารถเลือกที่จะใช้บริการเอกชนเพื่อกำจัดสัตว์ไม่พึงประสงค์ได้ แต่กระบวนการดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่หลักหลายร้อยดอลลาร์ และวัสดุที่ผ่านกระบวนการแล้วก็อาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงในบางกรณี นอกจากนั้นท่านก็จะไม่สามารถนำวัสดุต่างๆ ติดตัวออกออกจากสนามบินไปกับท่านได้โดยทันที
Image of traditional Southeast-Asian rice steamers
หวดนึ่งข้าวเหนียว (Image source: Feral Arts via Wikimedia Commons/CC BY 2.0) Source: Feral Arts via Wikimedia Commons/CC BY 2.0
ตรวจสอบการนำสิ่งต่างๆ เข้าประเทศออสเตรเลียที่เว็บไซต์  หรือโทร 1800 900 090

หากท่านต้องการใช้บริการล่ามแปลภาษา ให้โทรไปที่หมายเลข 13 14 50 แล้วค่อยให้ล่ามต่อสายของท่านไปยังหมายเลขของหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (1800 900 090)

กดปุ่ม (▶) ด้านบนเพื่อฟังการพูดคุยรายละเอียดเรื่องนี้อย่างสนุกสนานเป็นภาษาไทย (19 นาที)

ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share