ช่องว่างความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นในออสเตรเลีย

Chris Sprake stands in front of the drop-in zone where food is distributed to those in need.

ผู้จัดการฟูด แบงก์กล่าวว่าผู้คนมาขอรับบริจาคอาหารเพิ่มมากขึ้นใน 18 เดือนที่ผ่านมา Source: SBS

ผลการวิจัยล่าสุดเผยคนรวยออสซี 10 เปอร์เซ็นต์ถือครองทรัพย์สินเกินครึ่งของทั้งประเทศ ชี้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

ภาพคิวต่อแถวเป็นทางยาวหน้าฟูด แบงก์ (food bank) ที่เมลเบิร์นก่อนที่ประตูจะเปิด

ขณะนี้อาหารสดหมดไปอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

คุณแนนซี เฉิน (Nancy Chen) เป็นหนึ่งในคนที่ดิ้นรนหาอาหารประทังชีวิต

“มันยากที่จะซื้อของในบางครั้ง แต่ที่นี่ช่วยคนได้หลายคน ฉันชอบที่นี่ ฉันมาหลายครั้งแล้ว”
คุณคริส สปราค (Chris Sprake) ผู้จัดการฟูด แบงก์กล่าวว่าเขาบริจาคอาหารให้ประมาณ 40 คนต่อสัปดาห์ แต่ขณะนี้จำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 500 คนต่อสัปดาห์แล้ว

คนเหล่านี้เคยมีฐานะทางการเงินเพียงพอต่อการจับจ่ายใช้สอย แต่ปัจจุบันเจอปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

“จำนวนคนที่มารับบริจาคอาหารเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เราให้บริการด้านการดูแลสุขภาพออนไลน์ฟรีด้วย และก็เต็มเช่นกัน ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา หลายคนที่เคยอยู่ในระดับชนชั้นกลางเข้าขอรับบริจาค"
พวกเขากล่าวว่าต้องเลือกระหว่างจ่ายค่าเช่ากับค่าอาหาร และพวกเขาเลือกมาขอรับบริจาคอาหารจากเรา
ผู้จัดการฟูด แบงก์ที่เมลเบิร์นกล่าว
รายงานล่าสุดจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) และสมาพันธ์การบริการสังคมแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Social Service) พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวที่จัดอยู่ในกลุ่มมั่งคั่งมีการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 84 เปอร์เซ็นต์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

แต่การเติบโตของความมั่งคั่งในกลุ่มที่มีฐานะปานกลางถึงต่ำ (60 เปอร์เซ็นต์จากครัวเรือนทั้งหมด) มีเพียง 55 เปอร์เซ็นต์ ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเกิดจากอัตราว่างงานที่อยู่ในจุดที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

โดยกลุ่มที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวและผู้อพยพที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักมักถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความมั่งคั่งต่ำ

คุณคาสซานดรา โกลดี (Cassandra Goldie) ผู้อำนวยการของสมาพันธ์การบริการสังคมแห่งออสเตรเลียกล่าวว่า

“นี่ไม่ใช่สถานการณ์ปกติ สิ่งที่เรากำลังเผชิญคือความเหลื่อมล้ำในชุมชนออสเตรเลียที่เพิ่มมากขึ้น และจะสร้างความเสียหายต่อสังคม เศรษฐกิจ และสถานะของประชาธิปไตยของเรา”
People holding a miniature wooden house
บ้านไม้จำลอง Credit: Pexels/Kindel Media
ความเหลื่อมล้ำทางการเงินที่เพิ่มขึ้นนี้กำลังสร้างปัญหาด้านจริยธรรมด้วย

“นี่เป็นคำถามทางจริยธรรมอันล้ำลึกที่เราต้องเผชิญ ในฐานะที่เราจัดว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวย"
เราควรตระหนกว่าเรามีกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ ที่ต้องอดอาหารบ่อยๆ ใช้ชีวิตด้วยความกลัวว่าจะเป็นคนไร้บ้าน ในขณะที่เรามีกลุ่มคนที่ร่ำรวยที่รวยมากกว่าเดิมมาก
ผู้อำนวยการของสมาพันธ์การบริการสังคมแห่งออสเตรเลียกล่าว
หลายคนกล่าวว่าช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้นเพราะราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

การวิเคราะห์ล่าสุดโดยสถาบันอสังหาริมทรัพย์แห่งออสเตรเลีย (Real Estate Institute of Australia) ระบุว่าราคาอสังหาริมทรัพย์มีราคาแพงเกินความจริง 29 เปอร์เซ็นต์ คุณโจอี โมโลนี (Joey Moloney) จากสถาบันกรัททัน (Grattan Institute) กล่าวว่าราคาอสังหาริมทรัพย์ที่สูงขึ้นนี้ส่งผลให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนออสเตรเลียไม่กี่คน

“การถือครองอสังหาริมทรัพย์นับเป็น 2 ใน 3 ของความมั่งคั่งในครัวเรือนที่ออสเตรเลีย และสิ่งที่เราเห็นในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมาคือราคาที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก มากเกินอัตราการเติบโตของค่าแรง รวมถึงอัตราการถือครองบ้านที่ลดลง สิ่งนี้หมายความว่ามีคนไม่กี่คนที่สามารถถือครองบ้านในราคาที่แพงขึ้นได้ ชัดเจนว่าช่องว่างของความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาวคือการแก้ปัญหาตลาดอสังหาริมทรัพย์ การเพิ่มจำนวนบ้าน การลดหยอนภาษีเพื่อชะลอการเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดความไม่เท่าเทียม”

การให้ความช่วยเหลือด้านรายได้ การลดหย่อนภาษี และการปฏิรูปที่อยู่อาศัยเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อลดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำแก่รัฐบาลสหพันธรัฐ ก่อนจะแถลงงบประมาณในเดือนพฤษภาคมนี้


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share