เรารู้อะไรบ้างกับไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2?

a health worker wearing gloves holding a test sample tubes labeled 'COVID-19 Omicron variant'

เจ้าหน้าที่สาธารณสุขใส่ถุงมือถือหลอดตัวอย่างเชื้อโอมิครอน Source: Moment RF

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

แม้ว่าคลื่นการระบาดของไวรัสโอมิครอนจะเริ่มลดลงในหลายๆ รัฐของออสเตรเลียและในหลายประเทศทั่วโลก การเกิดไวรัสสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ในออสเตรเลียสร้างความตื่นตัวให้สาธารณสุขอีกครั้ง ไวรัสสายพันธุ์บีเอทู (BA.2) เป็นสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์โอมิครอน และนักวิทยาศาสตร์กำลังเร่งประเมินระดับความเสี่ยงของไวรัสตัวนี้


กดฟังสัมภาษณ์
LISTEN TO
what-do-we-know-about-omicron-subvariant-ba2 image

เรารู้อะไรบ้างกับไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2?

SBS Thai

07/02/202212:05
หนึ่งในเคสไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อยตัวใหม่ บีเอทู (BA.2) ถูกพบครั้งแรกในออสเตรเลียเมื่อเดือนธันวาคมในปีที่แล้ว จากกลุ่มผู้ป่วยในรัฐควีนส์แลนด์

ไวรัสสายพันธุ์ย่อยตัวใหม่นี้ไม่นับว่าเป็นสายพันธุ์ใหม่ แต่นับว่าอยู่ในตระกูลเดียวกันกับไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน ที่เรียกว่า บีเอวัน (BA.1) 

นักวิทยาศาสตร์เรียกสายพันธุ์ บีเอทู ว่าเป็นสายพันธุ์ย่อย ชื่ออื่นๆ ที่ใช้เรียกสายพันธุ์นี้ได้แก่ สายพันธุ์น้องหรือ “ลูกชายของโอมิครอน (Son of Omicron)”

สายพันธุ์ย่อยบีเอทูถูกค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ประมาณหนึ่งสัปดาห์หลังจากค้นพบสายพันธุ์ย่อยบีเอวัน ที่ถูกพบครั้งแรกที่นั่นเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์หลายหมื่นคนกำลังวิเคราะห์ข้อมูลการสืบเชื้อจีโนม (Genome Sequencing) ที่อัปโหลดไว้ในฐานข้อมูลจิสเอด (GISAID) จากทั่วโลก

รองศาสตราจารย์สจ๊วต เทอร์วิลล์ (Stuart Turville) จากสถาบันเคอร์บี (Kirby Institute) แห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) เป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ที่พยายามทำความเข้าใจกับข้อมูลเหล่านั้น

“เราทราบว่ามีสายพันธุ์ตัวหนึ่งในตระกูลเดียวกับโอมิครอนที่อยู่ในชุมชนและกำลังระบาด ผมคิดว่าคำถามคือสายพันธุ์ย่อยเกิดขึ้นเมื่อไหร่ มันเหมือนเรากำลังเฝ้าดูอยู่ในทุ่ง ในป่าและขึ้นอยู่กับว่ามันต้องการอะไร สิ่งแรกที่เราทำคือดูว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์ย่อยนี้เร็วขนาดไหน และมันไวกว่าสายพันธุ์ย่อยตัวเดิม บีเอวัน ซึ่งคือสายพันธุ์โอมิครอนที่เรารู้จัก และสิ่งต่อมาคือเมื่อนักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงลำดับจีโนมกับผู้ป่วย พวกเขาจะพิจารณาถึงความรุนแรงได้ แต่ในตอนนี้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังต่ำมากจริงๆ”
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา สายพันธุ์บีเอวันยังคงเป็นสายพันธุ์หลักของการแพร่เชื้อทั่วโลก นับเป็นร้อยละ 98.8 ของเคส ด้วยจำนวน 20-30 รายจากสายพันธุ์บีเอทูในออสเตรเลีย นับเป็นสัดส่วนที่ยังต่ำ จากเคสผู้ติดเชื้อทั้งหมดในประเทศ เพียง 0.3 เปอร์เซ็นต์

ศาสตราจารย์เสชาดรี วสันต์ (Seshadri Vasan) จากองค์กรวิจัยวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมในเครือจักรภพ (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organisation - CSIRO) กล่าวว่าจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นกว่าที่ฐานข้อมูลจิสเอดบันทึกไว้ จากเวลาที่ล่าช้าเมื่อข้อมูลถูกอัปโหลด และจากความจริงที่ว่ามีเคสติดเชื้อโควิดเพียงบางส่วนที่ถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการ (Lab) เพื่อสืบเชื้อจีโนม นับเป็นประมาณ 1 ใน 50

ศาสตราจารย์ วสันต์กล่าวว่าตัวเลขมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

“เรามีลำดับจีโนมของสายพันธุ์บีเอทูประมาณ 18,750 ลำดับ จาก 55 ประเทศ และออสเตรเลียประมาณ 22 ลำดับ และลำดับจีโนมส่วนใหญ่ ร้อยละ 90 มาจากเพียง 3 ประเทศ แค่เดนมาร์กเพียงประเทศเดียวมีประมาณ 14,370 สหราชอาณาจักรและอินเดียประมาณ ประเทศละ 1,300”

Coronavirus dashboard with map and statistic
กระดานแสดงแผนที่และสถิติของไวรัสโคโรนา Source: Pexels/Atypeek


โควิดสายพันธุ์ใหม่แต่ละตัวดูเหมือนจะแพร่ไปทั่วโลกด้วยความเร็วที่เร็วขึ้นเรื่อยๆ สายพันธุ์โควิดดั้งเดิมที่พบในหวู่ฮั่น (Wuhan) ในเดือนธันวาคม 2019 ใช้เวลา 3 เดือนในการแพร่กระจายไปทั่วโลก สายพันธุ์โอมิครอนใช้เวลาเพียง 1 เดือนในการแพร่ไป 78 ประเทศ

ทำให้มันเป็น “ไวรัสที่แพร่กระจายได้รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์” จากประวัติศาสตร์ของการวิจัยในสาขาระบาดวิทยา นายแอนทอน เออโคเรกา (Anton Erkoreka) กล่าว

แม้ว่าสายพันธุ์บีเอทูจะยังแพร่ไปทั่วโลกไม่รวดเร็วเท่าสายพันธุ์บีเอวัน แต่หน่วยงานด้านโรคติดเชื้อชั้นนำของเดนมาร์กกล่าวว่า ข้อมูลเบื้องต้นเผยว่าสายพันธุ์บีเอทูอาจสามารถแพร่เชื้อได้ไวกว่า 1.5 เท่า

นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจสอบลำดับจีโนม โดยเฉพาะประมาณของโปรตีน เพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแพร่เชื้อและการดื้อต่อวัคซีน โดยรองศาสตราจารย์เทอร์วิลล์อธิบายว่า

“เดือยแหลม (Spike) ของมันมีรูปร่างคล้ายดอกไม้ มีสามกลีบ และยอดแหลมของมันนั้นเราเรียกว่า เอ็น-เทอร์มินอล โดเมน (N-Terminal Domain) และแอนติบอดีชอบจับบริเวณเหล่านั้น วัคซีนนั้นสร้างแอนตีบอดีและมันชอบจับที่ขอบเล็กๆ ของกลีบเหล่านั้น โอมิครอนตัวแรกก็มียอดเหล่านั้น และสิ่งที่เราเห็นในสายพันธุ์ย่อยคือยอดเหล่านั้นถูกตัดออก มันแสดงให้เห็นว่าไวรัสค่อยๆ ตัดยอดตัวมันเองออก เพื่อไม่ให้แอนตีบอดีจับยอดได้ ทำให้สามารถจับเซลส์ได้เหนียวขึ้น เราทราบดีว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการศึกษาสายพันธุ์ใหม่ที่เราเฝ้าดูในปี 2021” 
White Red and Blue Flower Petals
ยอดสีแดงและน้ำเงินของไวรัสโคโรนา Source: Pexels/CDC
ในขณะที่สายพันธุ์บีเอวันมีการกลายพันธุ์ประมาณ 60 ครั้ง สายพันธุ์บีเอทูมีการกลายพันธุ์ประมาณ 85 ครั้ง

หนึ่งในความแตกต่างระหว่างสายพันธุ์บีเอวันและสายพันธุ์บีเอทูคือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนส์สไปค์ (ยอดแหลม) ซึ่งหมายความว่าการตรวจเชื้อแบบพีซีอาร์ (PCR) ไม่สามารถตรวจพบได้เหมือนที่พบสายพันธุ์บีเอวัน และต้องส่งไปที่ห้องแลปตรวจลำดับจีโนมเพื่อยืนยัน

ศาสตราจารย์วสันต์กล่าวว่า มีหลักฐานเรื่องความรุนแรงของโรคและการติดเชื้อของสายพันธุ์บีเอทูที่พบโดยทางการจากเดนมาร์กและสหราชอาณาจักร

“มันยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสายพันธุ์บีเอทูจะสร้างปัญหามากกว่าหรือไม่ ในตอนนี้เราดูจากเดนมาร์กว่ามันไม่เป็นปัญหาในเรื่องการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือความรุนแรงของเคส ที่มากกว่าสายพันธุ์บีเอวัน อย่างไรก็ตามมันดูเหมือนจะแพร่เชื้อได้ไวกว่าสายพันธุ์บีเอวันเล็กน้อย” 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) กล่าวว่า ในตอนนี้ สายพันธุ์บีเอทูจะยังคงเป็นแค่สายพันธุ์ย่อย มากกว่าที่จะเป็นสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งจะทำให้ต้องพิจารณาการใช้ชื่อใหม่จากตัวอักษรกรีก และอยู่ในสถานะ “สายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variant of Concern) เช่นเดียวกับสายพันธุ์บีเอวัน

นางมาเรีย แวน เคอร์โคฟ (Maria van Kerkhove) กล่าวว่า องค์กรอนามัยโลกกำลังจับตาดูการเกิดสายพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง
โอมิครอนจะไม่เป็นสายพันธุ์สุดท้ายที่คุณจะได้ยินจากเรา สายพันธุ์ที่น่ากังวลตัวใหม่จะอึดมากขึ้น ที่เราหมายถึงคือมันจะแพร่เชื้อได้เร็ว เพราะมันต้องแซงหน้าไวรัสตัวปัจจุบัน คำถามคือไม่ว่าสายพันธุ์ใหม่ในอนาคตจะมีความรุนแรงมากหรือน้อย สิ่งที่เราคาดหวังในสายพันธุ์ใหม่คืออาจมีความสามารถในการเล็ดรอดจากภูมิคุ้มกัน ซึ่งหมายความว่ามาตรการตอบโต้ของเรา วัคซีนของเราจะมีประสิทธิภาพน้อยลง
ศาสตราจารย์วสันต์และทีมของเขาที่ CSIRO กำลังศึกษาลักษณะที่เรียกว่าการเล็ดรอดจากภูมิคุ้มกันของสายพันธุ์บีเอทู

“คำถามสำคัญคือผู้ที่ได้รับวัคซีนจะได้รับการปกป้องจากสายพันธุ์บีเอทูหรือไม่ และถ้าไม่เป็นเช่นนั้น นั่นคือสิ่งที่เราเรียกว่าการเล็ดรอดจากภูมิคุ้มกัน ดังนั้นวัคซีนจะยังเป็นสิ่งที่เรามีเพื่อปกป้องจากโรคร้ายแรง หากคุณได้รับวัคซีนสองหรือสามโดส คุณจะลดความเสี่ยงในการต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แม้ว่าคุณจะติดเชื้อโอมิครอน อย่างไรก็ตามเราต้องศึกษาเรื่องนี้ และนี่คือสิ่งที่ห้องปฏิบัติการของผมและเพื่อนร่วมงานทั่วโลกกำลังทำ”
Various coronavirus vaccine
วัคซีนป้องกันโควิด-19 หลายยี่ห้อ Source: Pexels/Maksim Goncharenok
ผู้ผลิตวัคซีนขานรับความจำเป็นในการปรับปรุงวัคซีนเพื่อให้เร็วเท่าทันการกลายพันธุ์ของไวรัส แม้จะยังมีข้อกังขาในที่มาของโควิด-19 ในเมืองหวู่ฮั่นและสายพันธุ์ต่างๆ 

ศาสตราจารย์โดมินิก ดไวเยอร์ (Dominic Dwyer) จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์เป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติที่เดินทางไปเมืองหวู่ฮั่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 เพื่อหาข้อมูล ซึ่งประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลบางประเภท เช่น อาการระบบทางเดินหายใจของผู้ป่วยโควิดในระยะแรก

ศาสตราจารย์ดไวเยอร์กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการเปิดเผยข้อมูลของไวรัสในส่วนนั้น เพื่อเตรียมพร้อมรับการระบาดในอนาคต 

“การค้นหาแหล่งกำเนิดของไวรัสตัวใหม่ มันสำคัญมาก มันต้องเป็นการสืบหาทางวิทยาศาสตร์ เป็นการดีที่จะไม่เป็นเรื่องของการเมือง เพราะหากคุณเข้าใจว่าไวรัสตัวใหม่มาจากไหน และไวรัสตัวใหม่ที่อาจเกิดขึ้น และคุณจัดการกับมัน คุณสามารถพัฒนาวัคซีน พัฒนาแผนและอื่นๆ เราเรียนรู้หลายสิ่งจากการระบาดในแต่ละครั้งหรือการระบาดใหญ่ของโรค ที่จะทำให้เราจัดการกับโรคต่อไปได้ดีขึ้น” 


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ sbs.com.au/thai

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ facebook.com/sbsthai

Share