รัฐบาลถอดบทลงโทษโกงค่าจ้างจากร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงาน

บทลงโทษการโกงค่าจ้างถูกตัดออกจากร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ ซึ่งร่างขึ้นหลังจากใช้เวลาเจรจานานหลายเดือน

Minister for Employment Michaelia Cash during debate in the Senate chamber at Parliament House in Canberra on Thursday.

Minister for Employment Michaelia Cash during debate in the Senate chamber at Parliament House in Canberra on Thursday. Source: AAP

รัฐบาลมอร์ริสันตัดตอนสาระส่วนใหญ่ของร่างกฎหมายปฏิรูปแรงงานสัมพันธ์ รวมถึงบทลงโทษการโกงค่าจ้า

พรรคร่วมรัฐบาลยังคงรักษาไว้เพียงประเด็นการเพิ่มสิทธิแก่ลูกจ้างแคชวล (casual) ในการขอทำงานประจำ (permanent) และบทนิยามของประเภทการทำงานดังกล่าวที่บรรจุไว้ในร่างกฎหมายเดิม

บทบัญญัติที่ถูกตัดออกรวมถึงการกำหนดให้การโกงค่าจ้างเป็นอาชญากรรม การเปลี่ยนแปลงข้อกำหนดด้านการเจรจาต่อรองระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง (enterprise bargaining) การปรับอัตราค่าตอบแทนสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีความซับซ้อนน้อยลง (award simplification) และการขยายข้อตกลงค่าจ้างระยะยาวสำหรับโครงการขนาดใหญ่

ร่างกฎหมายครอบคลุมหลายด้านฉบับนี้ร่างขึ้นหลังจากการเจรจานานหลายเดือนระหว่างสหภาพแรงงาน กลุ่มธุรกิจ และรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลตัดประเด็นส่วนใหญ่ออกจากร่างดังกล่าวหลังจากเป็นที่แน่ชัดว่า นายสเตอร์ลิง กริฟฟ์ จากพรรคเซ็นเตอร์อัลไลแอนซ์ที่เป็นผู้ถือคะแนนเสียงตัดสิน จะสนับสนุนเฉพาะบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับลูกจ้างแคชวลและการโกงค่าจ้าง

นายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสัน กล่าวโทษพรรคแรงงานที่เป็นแกนนำคัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลเองจะไม่สามารถเรียกเสียงสนับสนุนมาตรการเหล่านี้จากฝั่งเสียงอิสระได้

"หลายเสียงในวุฒิสภาและโดยเฉพาะพรรคแรงงานไม่ได้มีความมุ่งมั่นแบบเดียวกับผมต่อการสร้างงานสร้างอาชีพ" นายมอร์ริสันกล่าวต่อผู้สื่อข่าวในกรุงแคนเบอร์ราเมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.)

"ผมเองก็เป็นคนเน้นปฏิบัติ หมายความว่าถ้าวุฒิสภาชุดนี้บอกว่าพวกเขาไม่ประสงค์สนับสนุนมาตรการพวกนี้ เราก็มาพิจารณากันในแง่ว่าจะไปต่ออย่างไร เพราะผมจะยื่นอย่างอื่นไปให้อนุมัติแทน"
วุฒิสมาชิกกริฟฟ์กล่าวว่า เขาประหลาดใจมากกับการตัดสินใจของรัฐบาลที่เลือกถอดบทลงโทษการโกงค่าจ้าง

"พวกคุณทุกคนควรละอายที่ทิ้งขว้างบทแก้ไขกฎหมายเรื่องสำคัญขนาดนี้" เขากล่าวต่อรัฐสภา

ร่างบทลงโทษการโกงค่าจ้างได้รับการสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกอิสระทั้งห้าคนอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักกับแผนปฏิรูปที่เป็นที่ถกเถียงนี้

นางแซลลี แมคมานัส เลขาธิการสภาสหภาพแรงงานแห่งออสเตรเลีย (Australian Council of Trade Unions) กล่าวว่า รัฐบาลกำลังก้าวออกจากการเจรจาที่ดำเนินมายาวนานกว่าเก้าเดือน

"นี่คือการตอบโต้อย่างน่าอับอายและเต็มไปด้วยความพยาบาทจากการที่ไม่ได้รับเสียงสนับสนุนมากนักสำหรับข้อเสนอเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ ที่อาจลดทอนสิทธิของแรงงาน" นางแมคมานัสกล่าว
รัฐบาลส่งร่างกฎหมายที่ปรับแก้อย่างหนักนี้เข้าสู่วุฒิสภาเมื่อวันพฤหัสบดี (18 มี.ค.) ซึ่งเป็นวาระประชุมวุฒิสภาครั้งสุดท้ายจนกว่าจะกลางเดือนพฤษภาคม

นายคริสเตียน พอร์เตอร์ รัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ อยู่ระหว่างลาราชการหลังจากออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหากรณีกระทำชำเราที่เกิดขึ้นในอดีต

นางไมแคเลีย แคช รักษาราชการแทนรัฐมนตรีด้านแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายที่ปรับลดเนื้อหาลงนี้จะสร้างความมั่นคงแก่ธุรกิจและลูกจ้างแคชวล

นางเพนนี หว่อง ประธานวุฒิสมาชิกพรรคแรงงาน กล่าวว่า รัฐบาลเบนความสนใจไปยังปัญหาอื่นจนไม่ได้มุ่งเน้นเจรจาผลักดันให้สภาผ่านร่างปฏิรูป

"นี่คือรัฐบาลในภาวะวิกฤต" นางหว่องกล่าว
พรรควันเนชันสนับสนุนร่างฉบับนี้ของรัฐบาลหลังบรรลุข้อตกลงปรับแก้ระเบียบบางส่วนว่าด้วยการเปลี่ยนสถานะการจ้างงานเป็นแบบแคชวล

นางแจ็กกี แลมบี และนายเร็กซ์ แพทริก วุฒิสมาชิกไม่สังกัดพรรค เสนอให้ถอนร่างทั้งหมดยกเว้นส่วนบทลงโทษการโกงค่าจ้าง

ขณะที่วุฒิสมาชิกเคที แกลลาเกอร์ บรรยายแนวทางของรัฐบาลว่าเป็นความสับสนวุ่นวายโดยสิ้นเชิง


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share
Published 19 March 2021 8:53am
By SBS News
Presented by Phantida Sakulratanacharoen
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends