แคมเปญใหม่ป้องกันนศ.ต่างชาติถูกโกงค่าจ้าง

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ  Fair Day's Work

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ Fair Day's Work Source: SBS News

องค์กรสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติเป็นหัวหอกต่อสู้เพื่อหยุดการโกงค่าจ้าง โดยเปิดตัวแคมเปญใหม่มุ่งเป้ากลุ่มนักศึกษา สร้างความรู้เกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายให้รู้จักตระหนักถึงความเสี่ยงเมื่อมองหางาน


ไชน่าทาวน์ ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของนครแอดิเลดเป็นย่านกินดื่มยอดนิยมของคนในท้องที่ ทว่า นายแจ็คกี เฉิน (Jackie Chen) ปฏิเสธที่จะใช้บริการร้านในไชน่าทาวน์ และไม่ได้มีเพียงเขาที่คิดเช่นนี้

นายเฉินก่อตั้งองค์กรสนับสนุนนักศึกษาต่างชาติในแอดิเลดเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว เขาเล่าว่า ได้พูดคุยกับนักศึกษาต่างชาติกว่า 300 คนที่มีประสบการณ์ถูกโกงค่าจ้าง

"ตอนนี้มีชื่อในบัญชีดำมากกว่า 150 รายชื่อ จากแค่เฉพาะในแอดิเลด โดยส่วนใหญ่อยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจ"

เหตุการณ์ทำร้ายพนักงานร้านชาไข่มุกแห่งหนึ่งในแอดิเลดเพ่งความสนใจไปยังการปฏิบัติต่อนักศึกษาต่างชาติ แม้เจ้าของร้านชาดังกล่าวไม่ได้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อเหตุทำร้ายครั้งนี้ แต่ภายหลังยอมรับว่า พนักงานรายนี้ได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

"ค่าจ้าง 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมงพบเจอได้ทั่วไปในแอดิเลดโดยเฉพาะในงานธุรกิจบริการ ในกลุ่มของเรา ผมพูดได้ว่าค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ที่ 12 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ส่วนใหญ่ได้น้อยกว่า 15 ดอลลาร์ และน้อยสุดแค่ชั่วโมงละ 3 ดอลลาร์"

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ผู้ตรวจการเพื่อการจ้างงานที่เป็นธรรม (Fair Work Ombudsman) กำหนดเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นอีก 1.75 ดอลลาร์ โดยจากข้อมูลเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อชั่วโมงของออสเตรเลียอยู่ที่ 19.84 ดอลลาร์
ขณะเดียวกัน รัฐบาลสหพันธรัฐได้เสนอปรับเพิ่มบทลงโทษสำหรับกรณีโกงค่าจ้าง การปฏิรูปด้านแรงงานสัมพันธ์วาระใหม่นี้จะทำให้นายจ้างที่จงใจจ่ายค่าจ้างต่ำกว่ากำหนดอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี และต้องจ่ายค่าปรับมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์

ผู้ตรวจการฯ ยังอยู่ระหว่างสอบสวนร้านชาไข่มุกดังกล่าว อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์ต่างชี้ว่า ฝ่ายผู้ตรวจการต้องการเครื่องมือและความช่วยเหลือมากกว่านี้

ด้านมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกำลังพัฒนาฐานข้อมูลผู้กระทำผิดกรณีโกงค่าจ้าง พร้อมช่องทางเข้าถึงออนไลน์เพื่อช่วยนักศึกษาพิจารณาปัจจัยเสี่ยง

นายทิโมตี คาริโอทิส (Timothy Kariotis) อาจารย์สาขารัฐบาลดิจิทัลจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และประธานร่วมของโครงการ  Fair Day's Work

ต้องการให้ทางการใช้ฐานข้อมูลนี้ด้วยเช่นกันเพื่อให้สามารถจับตามองบริษัทที่มีแนวโน้มสูงว่าจะโกงค่าจ้าง

"ที่เราทราบคือ จริงอยู่ที่การเพิ่มบทลงโทษกรณีโกงค่าจ้างเป็นส่วนสำคัญของสมการนี้ แต่ถ้าความเสี่ยงในการตรวจพบของเราไม่สูงพอ บทลงโทษก็แทบไม่มีความหมาย งานวิจัยของเราชี้ว่า หากความเสี่ยงในการตรวจพบอยู่ในระดับต่ำ บทลงโทษก็ไม่อาจมีบทบาทมากเท่าที่เราอยากให้เป็น" นายคาริโอทิสกล่าว

สมาพันธ์นักศึกษาแห่งชาติออสเตรเลียเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาว่าด้วยสิทธิตามกฎหมายของพวกเขา นางสาวโซอี รังกาเนทาน (Zoe Ranganathan) ประธานสมาพันธ์ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า

"เราควรต้องให้ความช่วยเหลือที่นักศึกษาต่างชาติต้องการก่อนที่การประทุษร้ายเช่นนี้จะเกิดขึ้น"

สอดคล้องกับความเห็นของนายเฉิน ที่กล่าวว่า

"นักศึกษาต่างชาติจ่ายเงินหลายพันดอลลาร์เพื่อมาเล่าเรียนในออสเตรเลีย เมื่อมาถึงแล้วก็แค่ต้องการงานพาร์ทไทม์เพื่อจ่ายบิล จ่ายค่าเช่า จึงไม่เป็นธรรมเลยที่ไม่ว่าหางานที่ไหนก็เจอแต่ที่จ่าย 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง"
คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio

Share