Explainer

ป้องกันอย่างไรไม่ให้ตกเป็นเหยื่อหลอกลวงต้มตุ๋นช่วงโควิด

คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลียระบุว่าปี 2020 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีพบการรายงานความสูญเสียจากการหลอกลวงมากที่สุดในออสเตรเลีย โดยได้เตือนว่าสถานการณ์ปีนี้อาจเลวร้ายกว่าเดิม

Shocked woman

Different scams cost $22 million to the culturally and lingusistically diverse communities in Australia in 2020. Source: Getty Images/Peter Dazeley

เว็บไซต์ ของ ACCC ระบุว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา บรรดานักหลอกลวงต้มตุ๋นได้ขโมยเงินจากผู้ที่มีภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม (CALD) ในออสเตรเลียไปประมาณ $22 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 60

ดีเลีย ริคาร์ด (Delia Rickard) รองประธานบริหาร คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission หรือ ACCC) หนึ่งในหน่วยงานทางการชั้นนำของออสเตรเลียในการหยุดยั้งขบวนการหลอกลวงต้มตุ๋น คาดการณ์ว่า อาจเกิดความเสียหายมากขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางมาตรการล็อกดาวน์จากสถานการณ์โควิด-19 ในออสเตรเลีย

ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการหลอกลวง

ขณะที่ผู้คนจับจ่ายซื้อของทางออนไลน์มากขึ้นภายใต้ความเครียด และไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้กับคนจริง ๆ ทำให้เหล่ามิจฉาชีพสามารถคิดหาวิธีใหม่ ๆ ในการหลอกเอาเงินจากคุณได้อย่างรวดเร็ว

สแกมวอตช์ ได้รับรายงานการหลอกลวงต้มตุ๋นที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด-19 เป็นจำนวน 5,400 ครั้งในปี 2020 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางการเงิน $6 ล้านดอลลาร์

เพียงการหลอกขายสัตว์เลี้ยงช่วงล็อกดาวน์เพียงอย่างเดียว (puppy scam) ก็ทำให้ชาวออสเตรเลียต้องสูญเงินไปถึง $2 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การหลอกลวงเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ (health and medical scam) ในช่วงโควิดนั้นพุ่งสูงถึง 2,000% นับตั้งแต่การแพร่ระบาดใหญ่เริ่มต้นขึ้น
people using laptops
มิจฉาชีพทางออนไลน์จะหลอกให้เปิดลิงก์ที่ส่งมา เพื่อพวกเขาจะได้เข้าถึงอุปกรณ์ของคุณ Source: Getty Images/izusek

ธุรกิจและโควิด-19: ช่องโหว่สู่ข้อมูลส่วนตัว

ไคแนน อัลบาสซิท (Kynan Albassit) ผู้อำนวยการด้านผลิตภัณท์ จากสถาบันเพื่อบริการการตลาดทางอินเทอร์เน็ตแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute for Internet Marketing Services) กล่าวว่า อัตราการเคลื่อนย้ายกิจการสู่โลกออนไลน์ และการมีลูกค้าทางออนไลน์ของกิจการต่าง ๆ พุ่งสูงสุดในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา โดยมีมาตรการจำกัดห้ามต่าง ๆ รวมถึงมาตรการล็อกดาวน์เป็นตัวกระตุ้น ผู้คนต่างแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้กับธุรกิจต่าง ๆ ขณะทำธุรกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

“ปัญหานั้นอยู่ที่การนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ร่วมด้วย การเก็บข้อมูลลูกค้าของกิจการต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญและมีความอ่อนไหวที่สุดในโลกดิจิทัล” คุณอัลบาสซิท อธิบาย

“ธุรกิจต่าง ๆ จะต้องระมัดระวังอย่างมากในการสร้างเว็บไซต์ คิวอาร์โค้ด และระบบตะกร้าซื้อของออนไลน์ ดูว่ามันมีความปลอดภัยแค่ไหน และมีมาตรการป้องกันสำหรับลูกค้าอย่างไร มีธุรกิจจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจถึงความสำคัญตรงนี้ และทำอะไรแบบมักง่าย เพราะขั้นตอนเหล่านี้ไม่ได้มีราคาถูก ๆ เลย”
A thief on a computer
ACCC ได้พบการร้องเรียนเกี่ยวกับข้อความ SMS ที่เรียกว่า 'ฟลูบอต (Flubot)' เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก Source: Getty Images/RUSSELLTATEdotCOM
บ่อยครั้งที่บรรดามิจฉาชีพจะใช้ข้อมูลทางธุรกิจในการระบุหาอีเมลของคุณ และส่งข้อเสนอทางการค้าที่ถูกปลอมขึ้นมา เพื่อให้คุณคลิกเข้าไปในลิงก์ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประตูสู่อุปกรณ์ของคุณ

เมื่อพวกเขาเข้าถึงอุปกรณ์ของคุณได้สำเร็จ ก็จะสามารถดึงเอาข้อมูลของคุณทั้งหมดที่พวกเขาต้องการออกมาได้ เช่น ข้อมูลธนาคารออนไลน์ และข้อมูลระบุตัวตนต่าง ๆ ของคุณ

วิธีป้องกันตนเองให้ปลอดภัยง่าย ๆ ก็คือ อย่าคลิกเปิดลิงก์ที่มาจากผู้ส่งที่คุณไม่รู้จัก

3 กลลวงสูญเงินติดอันดับ ที่มุ่งเป้าชุมชนหลากวัฒนธรรม

ไคแนน อัลบาสซิท กล่าวว่า มีหลักฐานอย่างชัดเจนว่า การหลอกลวงทางออนไลน์นั้น มุ่งเป้าอย่างเจาะจงไปยังกลุ่มประชาชนที่เปราะบาง ซึ่งรวมถึงชุมชนที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ และกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย

ขณะที่ ดีเลีย ริคาร์ด จาก ACCC กล่าวว่า การหลอกลวงต้มตุ๋นนั้น มีลักษณะที่ต่างกันออกไปตามเวลาและสถานการณ์ต่าง ๆ

“มันเป็นเรื่องบังหน้าที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของแต่ละยุคสมัย” คุณริคาร์ด กล่าว

การหลอกให้ลงทุน (The investment scam)

ข้อมูลจาก ACCC ระบุว่า การหลอกลวงให้ลงทุน เป็นรูปแบบการหลอกลวงที่ชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมได้รับผลกระทบมากที่สุด

พอนซีสกีม (Ponzi scheme) หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อ “แชร์ลูกโซ่” มีตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันหลอกลงทุน “โฮป บิซิเนส (Hope Business)” ที่มีการโฆษณาอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย และเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในออสเตรเลียสูญเงินไปเป็นจำนวนมาก เมื่อไม่นานมานี้
คุณริคาร์ด จาก ACCC กล่าวว่า ในชุมชนหลากภาษาและวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว สแกมวอตช์ ได้รับรายงานจำนวน 400 ฉบับ และบันทึกความเสียหายมูลค่า $1.5 ล้านดอลลาร์ จากแอปพลิเคชันหลอกลงทุนเหล่านี้

“กลุ่มชุมชนที่ได้รับผลกระทบหลัก ๆ คือชุมชนชาวเมียนมา ชาวศรีลังกา และกลุ่มผู้อพยพย้ายถิ่นหน้าใหม่” คุณริคาร์ด กล่าว

การปรึกษากับที่ปรึกษาทางการเงินที่ได้รับการรับรองนั้น เป็นสิ่งสำคัญก่อนที่คุณจะตัดสินใจลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมาก   

ทั้งนี้ กูเกิล และแอปเปิล กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ เพื่อนำแอปพลิเคชันในลักษณะนี้ออกจากตลาดแอปพลิเคชันของตน
Scammer
Source: Getty Images/SEAN GLADWELL

การหลอกลวงด้วยการข่มขู่ (The threat-based scam)

เกือบครึ่งของการหลอกลวงลักษณะนี้ เริ่มต้นเพียงจากสายโทรศัพท์ธรรมดา ๆ

ACCC พบว่า การขอข้อมูลส่วนตัวหรือขอเงินโดยนักหลอกลวงต้มตุ๋น ที่อ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานของรัฐ เช่น หน่วยงานมหาดไทยออสเตรเลีย หรือสำนักงานสรรพากรออสเตรเลีย (ATO) เพิ่มสูงขึ้นถึง 250% เมื่อเทียบกับช่วงปี 2019-2020

ชุมชนที่มีภูมิหลังหลากภาษาและวัฒนธรรม (CALD) มีความเสี่ยงจากการหลอกลวงในลักษณะนี้เป็นพิเศษ โดยมิจฉาชีพจะทำให้กลอุบายดูเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อมุ่งเป้าไปยังสมาชิกในชุมชนที่อาจกำลังรอการอนุมัติวีซ่า หรือกำลังรอข้อมูลด้านภาษี
กลอุบายที่พบบ่อยในการหลอกลวงลักษณะนี้ คือการแอบอ้างว่าตนเป็นเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลจีน โดยมิจฉาชีพจะขู่เหยื่อที่รับสายว่า พวกเขาอาจถูกเนรเทศหรือถูกจับกุม ในข้อหากระทำความผิดโดยเจตนา

“การหลอกลวงในลักษณะนี้ จะยังคงมุ่งเป้าไปยังผู้พูดภาษาจีนกลางในออสเตรเลียต่อไปอย่างไม่เป็นสัดส่วน” ดีเลีย ริคาร์ด กล่าว

การหลอกให้รักเพื่อเอาเงิน (The dating scam)

ACCC รายงานว่า มีความเสียหายมูลค่ามากกว่า $3.8 ล้านดอลลาร์ จากการหลอกให้รักเพื่อเอาเงินในชุมชนหลาภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งเพิ่มขึ้น 100% นับตั้งแต่ปี 2019 ที่ผ่านมา

มิจฉาชีพที่ทำการหลอกลวงในลักษณะนี้จะใช้แอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อล่อลวงผู้คนเข้าสู่การหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกลวงลักษณะนี้ได้รับการรายงานน้อยมากในออสเตรเลีย อีกทั้งยังท้าทายกลุ่มประชากรที่เจ้าหน้าที่คาดการณ์ไว้อีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากการหลอกลวงในลักษณะอื่น ๆ โดยผู้เสียหายกว่าครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
Flubot SMS
ข้อความหลอกลวง 'ฟลูบอต (Flubot)' จะทำงานโดยการส่งข้อความพร้อมลิงก์ เมื่อคุณเปิดลิงก์ มันจะทำการติดตั้งมัลแวร์ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ Source: Shamsher Kainth

‘ฟลูบอต (Flubot)’ กลลวงรูปแบบใหม่ที่ต้องจับตา

ACCC พบการร้องเรียนเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับข้อความเอสเอ็มเอส (SMS) หลอกลวง ที่เรียกว่า ‘ฟลูบอต (Flubot)’  ข้อความ SMS เหล่านี้ถูกส่งไปยังสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เพื่อแจ้งคุณว่ามีสายที่ไม่ได้รับ (missed call) และให้คุณคลิกเข้าไปในลิงก์เพื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน (Voicemail 7.apk) เพื่อฟังข้อความเสียงจากสายที่ไม่ได้รับ

เมื่อดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวมาแล้ว ฟลูบอตจะติดตั้งมัลแวร์ (malware) ลงบนอุปกรณ์นั้น และสามารถทำการโทรออก หรือส่งข้อความไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่คุณบันทึกไว้ และสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ของคุณได้

หากได้รับอนุญาต มิจฉาชีพจะสามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงข้อมูลที่มีความอ่อนไหวอื่น ๆ เช่น ข้อมูลสำหรับล็อกอินบริการธนาคารออนไลน์

ฟลูบอต จะทำงานโดยการส่งข้อความพร้อมกับลิงก์ที่สามารถติดตั้งมัลแวร์ลงบนอุปกรณ์ที่ได้รับข้อความได้ เมื่อผู้ใช้งานได้เปิดลิงก์ดังกล่าว แต่สิ่งนี้สามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ เพียงแค่คุณลบข้อความเหล่านี้ อย่าเปิดลิงก์ และอย่าโทรกลับ

ผู้ให้บริการโทรศัพท์ในออสเตรเลียอย่างเทลสตรา (Optus) และออพตัส (Optus) กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อกำจัดฟลูบอตเหล่านี้ คุณสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟลูบอตได้ที่

การหลอกลวงและโซเชียลมีเดีย

อาชญากรทางไซเบอร์ จะสร้างบัญชีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหรือโซเชียลมีเดียอื่น ๆ เพื่อส่งคำขอมาเป็นเพื่อนกับคุณ อ่านโปรไฟล์ของคุณ และดึงเอาข้อมูลส่วนตัวของคุณไป

“หากคุณมีโปรไฟล์สาธารณะ จะมีผู้คนจำนวนมากที่คุณปล่อยให้เข้ามา คุณกำลังปล่อยให้คนที่คุณไม่รู้จักเข้ามาหา” คุณทิม (Tim) ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งมีผู้ติดตามมากมาย กล่าว

คุณทิม กล่าวว่า บุคคลอื่น ๆ รวมถึงตัวเขาเอง ได้พบเห็นโปรไฟล์ปลอมบนเฟซบุ๊ก เพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ขณะที่มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้คนต้องเปลี่ยนไปสร้างปฏิสัมพันธ์กันทางออนไลน์

“มีนักแสดงหลายคนมาติดต่อกับผม เมื่อดูในตอนแรก ผมแยกไม่ออกระหว่างโปรไฟล์ของปลอมกับของจริง ในวงการบันเทิงนั้น เส้นแบ่งระหว่างความจริงและจินตนาการบ่อยครั้งมักเป็นภาพลาง ๆ และผมก็คลิกเข้าไปในโปรไฟล์ปลอมนั้นโดยไม่ได้ตั้งใจ” คุณทิม กล่าว

คำแนะนำง่าย ๆ เพื่อไม่ให้คุณตกเป็นเหยื่อการหลอกลวง

  • เหล่ามิจฉาชีพสามารถสมมุติว่าพวกเขาเป็นใครก็ได้ ดังนั้น เมื่อคุณได้รับลิงก์จากคนแปลกหน้า ให้ลบมันทิ้งไป
  • ตรวจสอบที่อยู่อีเมลของผู้ส่งอยู่เสมอ เพราะหัวเรื่องอีเมลที่คุณได้รับ อาจปิดบังที่อยู่อีเมลจริงจากผู้ส่ง
  • จำกัดหรือหลีกเลี่ยงการใช้ Wi-Fi สาธารณะ
  • เมื่อซื้อของออนไลน์ ซื้อจากเว็บไซต์ที่มีใบรับรองความปลอดภัยทางออนไลน์ (online security certificate) เท่านั้น โดยตรวจสอบได้ ด้วยการคลิกหรือแตะที่สัญลักษณ์แม่กุญแจบนแถบแสดงที่อยู่เว็บไซต์ (Address bar)
  • ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจต่าง ๆ ทางออนไลน์ รวมถึงความเห็นจากลูกค้า และการรีวิว ก่อนการตัดสินใจใด ๆ
  • อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณทางโทรศัพท์ เช่น รายละเอียดเกี่ยวกับธนาคาร หรือบัญชีเงินซูเปอร์
  • อย่าอนุญาตให้มีการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ได้จากระยะไกล (remote access)
  • และอย่างที่หลายคนพูดไว้ ถ้าฟังแล้วดีเกินจริง มันก็คงไม่ใช่เรื่องจริง
The Little Black Book of Scams
หนังสือ The Little Balck Book of Scams ที่จัดทำโดย ACCC มีข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการหลอกลวงต้มตุ๋นทุกรูปแบบ Source: ACCC

Little Black Book of Scam

นอกจากนี้ ACCC ยังได้จัดที่รวบรวมข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการหลอกลวงต้มตุ๋นในรูปแบบต่าง ๆ ที่คุณสามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ (มีให้ดาวน์โหลดในภาษาอารบิก ภาษาจีน ภาษาโครเอเชีย ภาษากรีก ภาษาฮินดี ภาษาอิตาเลียน ภาษามาซิโดเนียน ภาษาสเปน และภาษาเวียดนาม และมีแผนในการจัดทำเป็นภาษาในกลุ่มประเทศทวีปแอฟริกาเพิ่มเติม)


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 
เรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก เอสบีเอส ไทย

อาชญากรรมทางไซเบอร์ก็กำลังระบาดช่วงโควิด


Share
Published 14 September 2021 5:55pm
Updated 14 September 2021 6:25pm
By Melissa Compagnoni
Presented by Tinrawat Banyat


Share this with family and friends