อ้างการจู่โจมที่ศรีลังกาเป็นการแก้แค้นการสังหารหมู่ที่นิวซีแลนด์

NEWS: กลุ่มรัฐอิสลามอ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ระเบิดเมื่อวันอาทิตย์ โดยเจ้าหน้าที่สืบสวนของศรีลังกาเชื่อว่าเป็นการจงใจแก้แค้นการยิงสังหารหมู่ที่นครไครสต์เชิร์ช

Relatives and friends bury victims of the bomb blasts in Colombo.

ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ระเบิดวันอีสเตอร์เมื่อวันอาทิตย์เพิ่มสูงขึ้นกว่า 320 รายแล้ว Source: AAP

You can read the full version of this story in English on SBS News .

เจ้าหน้าที่ศรีลังกาผู้หนึ่งกล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดซึ่งสร้างความเสียหายอย่างมากเมื่อวันอีสเตอร์นั้น เป็นการแก้แค้นต่อการจู่โจมสังหารที่มัสยิดแห่งหนึ่งที่นิวซีแลนด์ โดยกลุ่มรัฐอิสลาม (Islamic State) ได้อ้างความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าวซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้ว 321 ราย

คำกล่าวอ้างของกลุ่มรัฐอิสลามซึ่งประกาศผ่านสำนักข่าวของตนที่ชื่อว่า AMAQ มีขึ้นเพียงไม่นานหลังจากที่ทางประเทศศรีลังกากล่าวว่า เชื่อว่ากลุ่มอิสลามจำนวนสองกลุ่มซึ่งต้องสงสัยว่าเชื่อมโยงกับนักรบในต่างประเทศกลุ่มดังกล่าว อยู่เบื้องหลังการจู่โจมที่โบสถ์จำนวนสามแห่งและโรงแรมสี่แห่ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บประมาณ 500 ราย

กลุ่มรัฐอิสลามไม่ได้ให้พยานหลักฐานใดๆ ต่อคำกล่าวอ้างของตน โดยฝ่ายรัฐบาลอ้างว่ามีนักระเบิดพลีชีพจำนวนเจ็ดคนที่มีส่วนร่วม

การสืบสวนเบื้องต้นเผยว่าเรื่องนี้เป็นการแก้แค้นต่อการจู่โจมมัสยิดที่นิวซีแลนด์” รัฐมนตรีด้านกลาโหมของศรีลังกา นายรุวาน วิเจวาร์เดนะ กล่าวกับรัฐสภา

เขาไม่ได้ขยายความเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดทางการจึงเชื่อว่า(เหตุการณ์ที่ศรีลังกา)มีความเชื่อมโยงกับการสังหารหมู่จำนวน 50 รายที่มัสยิดสองแห่งที่นครไครสต์เชิร์ชของนิวซีแลนด์ในระหว่างการละหมาดเมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม ซึ่งผู้ทำการจู่โจมเป็นชายหนึ่งคน

นายวิเจวาร์เดนะ กล่าวว่า กลุ่มอิสลามที่ศรีลังกาสองกลุ่มได้แก่ National Thawheed Jama'ut และ Jammiyathul Millathu Ibrahim เป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ระเบิดต่างๆ เมื่อวันอาทิตย์ (21 เม.ย.) ในระหว่างการทำพิธีวันอีสเตอร์ และที่โรงแรมหรูหราหลายแห่งซึ่งกำลังให้บริการอาหารเช้า

หน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ กล่าวว่า การจู่โจมต่างๆ ดังกล่าวนั้น มีลักษณะเฉพาะตัวบางประการของกลุ่มทหารของรัฐอิสลามอยู่

นายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห กล่าวว่าเจ้าหน้าที่สืบสวนของรัฐสภากำลังพิจารณาเรื่องของความเชื่อมโยงกับทางต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร (24 เม.ย.) รัฐบาลและแหล่งข่าวทางทหารกล่าวว่า มีชาวซีเรียหนึ่งคนถูกควบคุมตัวไว้ในจำนวน 40 คนที่ถูกสอบปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์ระเบิด

โดยวันอังคารที่ผ่านมาได้ถูกประกาศว่าเป็นวันไว้ทุกข์ระดับชาติ และมีการจัดพิธีศพให้กับเหยื่อจำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็มีแรงกดดันต่อรัฐบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีการลงมือดำเนินการอย่างเพียงพอเพื่อตอบสนองต่อคำเตือนที่มีตั้งแต่เมื่อต้นเดือนว่าอาจมีการจู่โจมเกิดขึ้นได้

ผู้เสียชีวิตนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวศรีลังกา อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกล่าวว่า มีชาวต่างชาติถูกสังหารจำนวน 38 ราย รวมถึงมารดาชาวออสเตรเลีย Manik Suriaaratchi และ Alexandria บุตรสาววัย 10 ปีของเธอ

นอกจากนั้นยังมีพลเมืองชาวอังกฤษ สหรัฐ ตุรกี อินเดีย จีน เดนมาร์ก ดัตช์ และโปรตุเกส (อยู่ในจำนวนผู้เสียชีวิต)

ระเบิดหลายลูกได้สั่นคลอนความสงบเรียบร้อยที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ ที่ประเทศในมหาสมุทรอินเดียซึ่งเป็นเกาะและมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแห่งดังกล่าว นับตั้งแต่เมื่อมีสงครามกลางเมืองอันขมขื่นเพื่อต่อต้านกลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งเป็นชาวฮินดูและชาวเชื้อชาติทมิฬเป็นส่วนใหญ่ และได้สิ้นสุดลงเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทั้งยังเพิ่มความหวดกลัวว่าจะมีความรุนแรงเนื่องจากการแตกแยกเป็นฝ่ายต่างๆ หวนกลับคืนมาอีก

ศรีลังกามีประชากรจำนวน 22 ล้านคน รวมถึงชนกลุ่มน้อยชาวคริสต์ มุสลิม และฮินดู ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันเหล่าคริสตศาสนิกชนนั้นรอดพ้นความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างชุมชนต่างๆ มาได้โดยตลอด

รัฐบาลได้ประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อเที่ยงคืนวันจันทร์ โดยให้อำนาจเป็นอย่างมากแก่ตำรวจในการควบคุมตัวและสอบปากคำผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งศาล

มีการประกาศห้ามออกจากอาคารในช่วงกลางคืน (overnight curfew) ตั้งแต่เมื่อวันอาทิตย์

ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้โทรศัพท์ไปหานายวิกรมสิงเหเมื่อวันจันทร์ เพื่อให้คำมั่นต่อความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ เพื่อนำเหล่าผู้ลงมือเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์อ้างอิงคำพูดจากเจ้าหน้าที่คนหนึ่งว่าเขาได้กล่าวว่า ตัวแทนของเอฟบีไอ (Federal Bureau of Investigation) กำลังถูกส่งตัวไปยังประเทศศรีลังกาเพื่อช่วยในการสืบสวนสอบสวน

โดยหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวเผยว่า FBI ได้เสนอความเชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบพยานหลักฐาน และกลุ่มนักวิเคราะห์ก็ได้ทำการตรวจสอบฐานข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ต่อต้านการก่อการร้ายจากอังกฤษซึ่งเข้าร่วมด้วยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

การจู่โจมต่างๆ ดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นถึงความวิตกกังวลต่อเรื่องความแตกแยกภายในรัฐบาลของศรีลังกา และเรื่องความไม่ลงรอยกันที่ทำให้ไม่มีการลงมือเพื่อยับยั้งเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ให้เกิดขึ้น

โดยรัฐบาลนั้นได้รับเบาะแสจากประเทศอินเดียในเดือนนี้เกี่ยวกับการจู่โจมที่อาจเกิดขึ้นได้ที่โบสถ์แห่งต่างๆ โดยกลุ่ม National Thawheed Jama'ut

ยังไม่ชัดเจนว่ามีการลงมือใดๆ หรือไม่ หรืออย่างไร เพื่อเป็นการตอบสนอง (ต่อเบาะแสที่มี) โดยรัฐมนตรีของคณะรัฐบาลคนหนึ่งกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า นายวิกรมสิงเหนั้นไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับคำเตือนดังกล่าว และถูกปฏิเสธไม่ให้มีส่วนร่วมในการประชุมต่างๆ เรื่องด้านความมั่นคงในระดับสูงสุด เพราะมีความไม่ลงรอยกันกับประธานาธิบดีไมตรีปาลา ศิริเสนา

นายศิริเสนานั้นไล่นายวิกรมสิงเหออกจากตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว แต่จำเป็นต้องรับเขากลับเข้ามาใหม่เนื่องจากแรงกดดันจากศาลสูง (Supreme Court) โดยมีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองคนนั้นเป็นปรปักษ์ต่อกัน
ติดตามฟังรายการ เอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  ทุกวันจันทร์และวันพฤหัสบดี เวลา 22.00 น.

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 24 April 2019 11:11am
Updated 24 April 2019 12:59pm
By AAP-SBS
Presented by Tanu Attajarusit
Source: AAP, SBS


Share this with family and friends