กฎหมายเก็บค่าแสดงเนื้อหาข่าวส่งผลต่อโลกโซเชียล​อย่างไร

The Facebook logo seen displayed on a Smartphone with an Australian flag in the background.

The Facebook logo seen displayed on a Smartphone with an Australian flag in the background. Source: Getty

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

บรรดาเพจข่าวสารจากองค์กรข่าวต่าง ๆ ทั่วออสเตรเลีย รวมถึงเอสบีเอส ได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติตั้งแต่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา หลังผ่านสัปดาห์ชุลมุนจากการที่เฟซบุ๊กได้จำกัดการเข้าถึงเพจต่าง ๆ ขององค์กรข่าวก่อนหน้านี้ แต่จะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้ เมื่อร่างประมวลกฎหมายด้านการต่อรองของธุรกิจสื่อได้รับการประกาศใช้เป็นกฎหมาย


ข่าวสารในออสเตรเลียได้กลับมาแสดงผลตามปกติบนเฟซบุ๊กแล้ว โดยบรรดาเพจต่าง ๆ ขององค์กรสื่อทุกแขนงทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงเอสบีเอส ได้กลับมาแสดงเนื้อหาได้ตามปกติอีกครั้ง เมื่อช่วงเช้าของ วันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเวลาผ่านมา 1 สัปดาห์ที่ ‘เฟซบุ๊ก’ เครือข่ายสังคมออนไลน์รายใหญ่ ได้ปิดกั้นองค์กรสื่อต่าง ๆ ในออสเตรเลียอย่างฉับพลัน จากการโพสต์ และการแชร์ข่าวสารต่าง ๆ

การจำกัดห้ามดังกล่าว เกิดขึ้นจากการยื่นเสนอร่างกฎหมายการต่อรองของธุรกิจสื่อ (Media Bargaining Code) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก และได้สร้างความเคลื่อนไหวทั้งภายในและต่างประเทศ จนกลายเป็นการสนทนาในระดับโลก ถึงกรณีที่ว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เหล่านี้ ควรที่จะจ่ายค่าชดเชยเพื่อแลกกับเนื้อหาข่าวจากองค์กรสื่อหรือไม่
An illustration image shows a phone screen with the ‘Facebook’ logo and Australian Newspapers at Parliament House in Canberra, Thursday, February 18, 2021. Social media giant Facebook has moved to prohibit publishers and people in Australia from sharing o
Facebook and Australian Newspapers Source: AAP Image/Lukas Coch

เกิดอะไรขึ้นบ้างกว่าจะมาถึงจุดนี้

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ชาวออสเตรเลียได้ตื่นขึ้นมาพบกับเพจเฟซบุ๊กองค์กรข่าวที่ว่างเปล่า นอกจากนี้ บริการสำคัญด้านสุขภาพ ข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยา รวมถึงบริการให้ความช่วยเหลือด้านความรุนแรงในครอบครัว ยังได้ถูกปิดกั้นอีกด้วย

การกระทำของเฟซบุ๊กนั้น ได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนทำงานสนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมถึง นางโซฟี แมกนีล (Sophie McNeill) จาก ฮิวแมน ไรส์ วอตช์ ออสเตรเลีย (Human Rights Watch Australia)

"การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นทั้งประเทศในเวลากลางดึกแบบนั้น มันเป็นเรื่องที่เลยเถิดและรุนแรง ชาวออสเตรเลียต้องพึ่งพาการรับข้อมูลข่าวสารบนแพลตฟอร์มนี้ และเราก็กำลังอยู่ท่ามกลางฤดูกาลไฟป่า และเราก็กำลังอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดใหญ่เช่นกัน” นางแมกนีล กล่าว

การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารของเฟซบุ๊กนั้น เป็นการตอบโต้ร่างประมวลกฎหมายของรัฐบาลสหพันธรัฐ ที่บังคับให้บริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัลจะต้องจ่ายค่าเนื้อหาข่าว ซึ่งได้รับการลงมติเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในคืนก่อนที่เฟซบุ๊กจะทำการปิดกั้นข้อมูลข่าวสาร

นายปีเตอร์ เลวิส (Peter Lewis) ผู้อำนวยการ สถาบันศูนย์ความรับผิดชอบทางเทคโนโลยีแห่งออสเตรเลีย (The Australia Institute's Centre for Responsible Technology) ก็ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของเฟซบุ๊กอย่างรุนแรงเช่นกัน 

“มันเป็นการกระทำที่เย่อหยิ่ง และมันเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กได้กระทำอย่างไม่ยั้งคิด ดูเหมือนว่าพวกเขาจะมุ่งโจมตีสังคมออสเตรเลีย เราได้รับรายงานว่า บริการช่วยเหลือด้วยความรุนแรงในบ้าน ข้อมูลจากเว็บไซต์ด้านสาธารณสุข และข้อมูลจากสำนักอุตุนิยมวิทยา ได้ถูกปิดกั้นโดยเฟซบุ๊กด้วย” นายเลวิส กล่าว

จากนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา นายจอช ฟรายเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย ได้ประกาศว่า รัฐบาลได้ทำข้อตกลงในการปรับแก้ร่างประมวลกฎหมายดังกล่าว หลังได้มีการปรึกษาหารือกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่

โดยในวันนั้น ร่างประมวลกฎหมายฉบับปรับปรุงแก้ไขดังกล่าว ได้รับการลงมติเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภาเป็นขั้นสุดท้าย และในวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมา เนื้อหาข่าวสารจากทุกช่องทุกฉบับ ก็กลับมาปรากฎสู่สายตาชาวออสเตรเลียบนนิวส์ฟีดของเฟซบุ๊กอีกครั้ง

การแบนข่าวสารชนิดฉับพลัน ซึ่งเฟซบุ๊กได้ออกมาปกป้องการกระทำของตนเองนั้น ได้รับการกล่าวขานว่า “เป็นการออกตัวอย่างรุนแรงไปก่อน” ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากทั่วโลก เช่นเดียวกับความเห็นของ นายเซอร์เกย์ ลาวรอฟ  (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย  

“ในบรรดาความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นนั้น คือเรื่องนโยบายที่ไม่โปร่งใสของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นผู้ปิดกั้นเนื้อหาของผู้ใช้แต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งเป็นการบิดเบือนความเห็นจากสาธารณะอย่างโจ่งแจ้ง” นายลาวรอฟ กล่าว

จากการกระทำของเฟซบุ๊กในออสเตรเลีย ทำให้ชาติต่าง ๆ อย่างอังกฤษ และแคนาดา ต่างจับตามองเฟซบุ๊กอย่างใกล้ชิด และแสดงท่าทีว่าจะมีการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน
Facebook and Google to face mandatory code of conduct to 'level playing field' with traditional news media
澳洲政府希望科技巨擘能與澳洲媒體分享廣告收益。 Source: Image by Gerd Altmann from Pixabay

Media Bargaining Code คืออะไร

นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 26 ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ประมวลกฎหมายดังกล่าวนั้น จะเป็นการประกันอนาคตของสื่อมวลชนแบบให้เปล่า (free media) ผ่านการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล

แล้วประมวลกฎหมายนี้ทำงานอย่างไร

กฎหมายใหม่นี้ จะทำให้ออสเตรเลียเป็นชาติแรกของโลก ที่อนุญาโตตุลาการที่รัฐบาลได้แต่งตั้งเพื่อชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างสื่อและบริษัทแพลตฟอร์มดิจิทัล จะสามารถตั้งราคาที่เฟซบุ๊ก (Facebook) และกูเกิล (Google) จะต้องจ่ายให้กับสื่อในประเทศ ในการแสดงเนื้อหาบนแพลตฟอร์ม หากการหารือเพื่อทำข้อตกลงระหว่างคู่กรณีนั้นไม่สามารถตกลงกันได้

รัฐบาล กล่าวว่า สิ่งนี้จะทำให้ธุรกิจสื่อได้รับการจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม และธำรงไว้ซึ่งวารสารศาสตร์เพื่อประโยชน์สาธารณะของออสเตรเลีย

เพราะเหตุใดการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเงินจึงมีความสำคัญ

ข้อมูลจากบริการเฝ้าระวังการแข่งขันทางการค้า พบว่า เงินทุก ๆ $100 ดอลลาร์ที่บริษัทโฆษณาในออสเตรเลียต้องจ่ายไปในวันนี้ พบว่า $49 ดอลลาร์นั้นไปที่กูเกิล (Google) และ $24 ดอลลาร์นั้นไปที่เฟซบุ๊ก (Facebook) ส่งผลให้รายได้ของธุรกิจสื่อนั้นร่อยหรอ

ทั้งเฟซบุ๊ก และกูเกิล ได้โต้แย้งว่า พวกเขาไม่มีข้อผูกมัดว่าจะต้องจ่ายเงินให้กับธุรกิจสื่อสำหรับการแสดงเนื้อหาข่าวบนแพลตฟอร์มของตนเอง

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นว่า ประมวลกฎหมายใหม่นี้จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งรวมถึง นายเอริก โกลด์แมน (Eric Goldman) รองผู้อำนวยการจากสถาบันด้านกฎหมายไฮเทค จากมหาวิทยาลัยซานตา คลารา (Santa Clara University)

“มันมีเรื่องของประชานิยมอยู่ระดับหนึ่ง ทั้งการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของออสเตรเลียด้วยแนวคิดที่ว่า กูเกิลและเฟซบุ๊กมีรายได้ล้นเหลือ ความยากลำบากของนักข่าว และการข่าวของออสเตรเลียที่กำลังย่ำแย่ และผลลัพธ์ก็คือ การตั้งด่านเพื่อหาข้อตกลงระหว่างธุรกิจสื่อและบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่นั้น จะสร้างเม็ดเงินเพื่อให้การข่าวนั้นมีคุณภาพ”

“แต่โชคไม่ดีที่ว่า แนวทางการบัญญัติกฎหมายของออสเตรเลียนั้น จะไม่นำไปสู่ข้อได้เปรียบใด ๆ เพราะเงินเหล่านั้นจะไปไม่ถึงคนทำข่าว หรือโครงสร้างวารสารศาสตร์เอง และมันได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างมากกว่า หากเราให้คุณค่าวารสารศาสตร์ในฐานะสังคม การพึ่งพากลไกตลาดอาจไม่ทำให้เราได้ทุกสิ่งที่เราคาดหวัง” นายโกลด์แมน กล่าว 
The logos of social media applications, Messenger, WeChat, Instagram, WhatsApp, Twitter, MeWe, Telegram, Signal and Facebook are displayed on an iPhone.
Facebook has hidden posts promoting diet products and cosmetic procedures to users under the age of 18 Source: Getty Images Europe

แล้วเรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก และกูเกิล ได้ทำข้อตกลงกับองค์กรสื่อในออสเตรเลียบางส่วน และสิ่งนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับองค์กรสื่ออื่น ๆ ต่อไป 

ในขณะที่มีความกังวลว่า องค์กรสื่อขนาดเล็ก รวมถึงองค์กรสื่อในพื้นที่ส่วนภูมิภาคจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการทำข้อตกลงกับเฟซบุ๊ก และกูเกิล นายรอด ซิมส์ (Rod Simms) ประธาน คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันทางการค้า และผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) ได้แสดงความมั่นใจว่า สิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

“ผมไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมกูเกิล และเฟซบุ๊ก จะปล่อยองค์กรสื่อเหล่านั้นไป ผมเข้าใจได้ว่าพวกเขาอาจมีผู้คนในจำนวนจำกัดในตอนนี้ ดังนั้นมันจึงอาจใช้เวลาสักหน่อย” นายซิมส์ กล่าว


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้ท่านพลาดสถานการณ์ล่าสุด

นอกจากนี้ คุณยังสามารถรับฟังข่าวสารล่าสุดเป็นภาษาไทยผ่านทางวิทยุออนไลน์ได้ที่แอปฯ SBS Radio

Share