ผู้คนในออสเตรเลียมากขึ้นเสี่ยงเกิดภาวะสมองขาดเลือด

Haemorrhagic stroke, CT scan

ภาพ CT Scan ของโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยหญิงอายุ 65 ปี Source: Getty / RAJAAISYA/SCIENCE PHOTO LIBRARY/Getty Images/Science Photo Libra

Get the SBS Audio app

Other ways to listen

โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือด (Stroke) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความพิการในออสเตรเลีย คาดว่าคน 1 ใน 4 จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต ภาวะนี้ส่งผลกระทบอย่างไรและจะช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีได้อย่างไร


โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือด (Stroke) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความพิการในออสเตรเลีย โดยคาดว่าคน 1 ใน 4 จะเกิดภาวะสมองขาดเลือดในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

ในช่วงสัปดาห์โรคหลอดเลือดสมองแห่งชาติของปีนี้ คือระหว่างวันที่ 7- 13 สิงหาคม มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมองแห่งออสเตรเลีย หวังที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและวิธีป้องกัน

องค์กรด้านสุขภาพกำลังเตือนว่าโรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือด (Stroke) กำลังกลายเป็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้คนในออสเตรเลีย

จากข้อมูลของมูลนิธิโรคหลอดเลือดสมองแห่งออสเตรเลีย (Australian Stroke Foundation) มีผู้คนในออสเตรเลียกว่า 27,000 คนที่ประสบภาวะสมองขาดเลือด (stroke) เป็นครั้งแรกในชีวิตในปี 2020 ซึ่งเท่ากับการเกิดอาการภาวะสมองขาดเลือด 1 คนทุก ๆ 19 นาที
คุณจอห์น เดอ แรนโก ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายการตลาดของมูลนิธิโรคสมองขาดเลือดกล่าวว่า ภาวะสมองขาดเลือด หรือ Stroke อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ

"ประเด็นหลักที่น่ากังวลมีแนวโน้วว่าจะมาจากความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสูงสุดสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง และน่าเสียดายที่คุณจะไม่รู้ว่าคุณมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ เว้นแต่คุณจะไปรับการตรวจความดันโลหิต ดังนั้นเราอยากบอกผู้คนในออสเตรเลียให้ได้มากที่สุดว่า ให้ไปตรวจความดันโลหิต เพราะความดันโลหิตสูงสามารถรักษาได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือคุณมีน้ำหนักตัวมากเกินไป สูบบุหรี่ มีคอเลสเตอรอลสูง ดื่มแอลกอฮอล์มาก และ/หรือเป็นโรคเบาหวาน ล้วนสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะสมองขาดเลือดได้" คุณเดอ แรนโก กล่าว
ความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการรักษา ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงสูงสุดสำหรับโรคหลอดเลือดสมอง คุณจะไม่รู้ว่าคุณมีความดันโลหิตสูงหรือไม่ เว้นแต่คุณจะไปรับการตรวจ
ภาวะสมองขาดเลือด หรือ Stroke เป็นหนึ่งในสาเหตุที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในออสเตรเลีย

ภาวะสมองขาดเลือดคร่าชีวิตผู้หญิงไปมากกว่ามะเร็งเต้านม และคร่าชีวิตผู้ชายไปมากกว่ามะเร็งต่อมลูกหมาก

มีชาวออสเตรเลียกว่า 445,000 คนที่กำลังดำเนินชีวิตพร้อมอาการป่วยจากผลกระทบของภาวะสมองขาดเลือด

หนึ่งในนั้นคือคุณเดวิด ลักซ์ตัน ที่กล่าวว่าภาวะสมองขาดเลือดได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของเขาในหลาย ๆ ด้าน
"แน่นอนว่าผมไม่ได้ทำงานต่อไปแล้ว แม้ว่าตอนที่ทำงานอยู่ผมจะรักงานที่ทำ ตอนนี้ในแต่ละวัน ผมพยายามหาทางให้อาการดีขึ้นเท่าที่จะทำได้ และหาวิธีที่จะมีความสุขกับชีวิตต่อไป" คุณลักซ์ตัน กล่าว

คุณเดอ แรนโก อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของภาวะสมองขาดเลือดที่มีต่อชีวิตประจำวันของผู้คนที่ประสบภาวะนี้

"เนื่องจากสมองควบคุมทุกสิ่งที่เราทำ วิธีที่เราคิด วิธีที่เราเคลื่อนไหว การพูด การกิน ภาวะสมองขาดเลือดอาจส่งผลให้ผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและ/หรือทางความคิด และเกิดความพิการที่หลากหลาย ผลกระทบเหล่านั้นอาจได้แก่การเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต การพูดและกลืนลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การได้ยิน หรือสายตา ทั้งหมดขึ้นอยู่กับตำแหน่งในสมองที่เกิดภาวะสมองขาดเลือดและความรุนแรงของอาการที่เกิดขึ้น ภาวะสมองขาดเลือดมี 2 ประเภท คือ มีลิ่มเลือด หรือมีเลือดออก แต่โดยพื้นฐานแล้วโรคหลอดเลือดสมองคือภาวะที่เลือดที่ไปเลี้ยงสมองที่ถูกตัดขาดหรือได้รับผลกระทบอย่างกะทันหัน" คุณเดอแรนโก อธิบาย
สมองควบคุมทุกสิ่งที่เราทำ วิธีที่เราคิด วิธีที่เราเคลื่อนไหว การพูด การกิน ภาวะสมองขาดเลือดอาจส่งผลให้ผู้คนมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและ/หรือทางความคิด และเกิดความพิการที่หลากหลาย
stroke-3233778_1920.jpg
โรคหลอดเลือดสมอง หรือภาวะที่สมองขาดเลือด (Stroke) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของความพิการในออสเตรเลีย Source: Pixabay / Pixabay/Geralt

เมื่อเกิดภาวะสมองขาดเลือด อาการนี้จะส่งผลกระทบต่อเซลล์สมองมากถึง 1.9 ล้านเซลล์ต่อนาที

ซึ่งหมายความว่ามีเวลาน้อยมากที่คน ๆ หนึ่งจะตอบสนองหรือรู้ตัวว่ากำลังเกิดภาวะสมองขาดเลือด

คุณลักซ์ตันเล่าให้เราฟังถึงช่วงเวลาก่อนที่เขาจะเกิดภาวะสมองขาดเลือด

"เช้าวันที่ภาวะสมองขาดเลือดเกิดขึ้นนั้น ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายนัก มันเป็นช่วงสองสามวันที่วุ่นวายมากและผมรู้สึกเหนื่อยมาก แต่นอกเหนือไปจากนั้นไม่ก็ไม่แน่ใจ เช้าวันนั้นผมมีอาการเหมือนปวดหัวเป็นไมเกรนอย่างรุนแรงตอนที่เกิดเหตุ แต่โชคดีที่ผมมีเพื่อนร่วมกันที่ตระหนักว่ามีบางอย่างที่เลวร้ายกว่านั้นเกิดขึ้น และให้คนโทรศัพท์เรียกนักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (paramedics) ให้มาดูผม" คุณลักซ์ตัน เล่า

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของมูลนิธิโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองขาดเลือดกว่าร้อยละ 80 สามารถป้องกันได้

คุณเดอ แรนโก แนะนำแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า F.A.S.T. เพื่อให้ผู้คนรู้จักสังเกตอาการภาวะสมองขาดเลือดและช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที
มีคำย่อง่ายๆ ที่ต้องจำคือคำว่า F.A.S.T. โดย 'F' หมายถึง 'Face' 'A' หมายถึง 'Arm' 'S' หมายถึง 'Speech' 'T' หมายถึง 'time'
"มีคำย่อง่ายๆ ที่ต้องจำคือคำว่า F.A.S.T. โดย 'F' หมายถึง 'Face' หรือการมีอาการหน้าเปี้ยวหรือไม่ 'A' หมายถึง 'Arm' คือสามารถยกแขนทั้งสองข้างได้หรือไม่ 'S' หมายถึง 'Speech' คือพวกเขาพูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง หรือพวกเขาเข้าใจที่คุณพูดหรือเปล่าพวกเขาเข้าใจคุณ และถ้ามีอาการใด ๆ เหล่านั้น 'T' คือ 'time' เวลาสำคัญอย่างยิ่งเพราะภาวะสมองขาดเลือดเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์เสมอ ดังนั้นรีบโทรไปที่เบอร์ 000 ทันทีหากพบผู้มีอาการที่ใบหน้า แขน หรือคำพูด" คุณเดอ แรนโก ย้ำ

ในช่วงสัปดาห์โรคหลอดเลือดสมองแห่งชาติของปีนี้ ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-13 สิงหาคม มูลนิธิโรคหลอดเลือดสมองเตือนว่า หากไม่มีการดำเนินการป้องกัน ภายในปี 2050 จำนวนผู้คนในออสเตรเลียที่ประสบภาวะสมองขาดเลือดเป็นครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นเป็น 50,600 คนในแต่ละปี หรือเท่ากับมีผู้เกิดภาวะสมองขาดเลือดหนึ่งคนทุก ๆ 10 นาที

นอกจากนี้ จะมีผู้รอดชีวิตจากภาวะสมองขาดเลือด 819,900 คนที่อาศัยอยู่ในชุมชน

ซึ่งตัวเลขที่ดูเหมือนสูงผิดธรรมชาติสำหรับอาการทางสุขภาพที่สามารถป้องกันได้ ด้วยแนวทางการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น และการไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพให้บ่อยขึ้นอีกเล็กน้อย


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share