การลงประชามติ วอยซ์ คืออะไร? และทำไมออสเตรเลียถึงทำ?

CANBERRA RECONCILIATION WEEK STOCK

ดวงจันทร์ปรากฏอยู่หลังธงชาติออสเตรเลีย ธงของชนพื้นเมือง และธงของหมู่เกาะช่องแคบทอร์เรส หน้าอาคารรัฐสภา กรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / LUKAS COCH/AAPIMAGE

ประชากรออสเตรเลียจะลงประชามติ วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ (Voice to Parliament) ปลายปีนี้ รายละเอียดที่คุณควรทราบเกี่ยวกับกระบวนการลงประชามติ ทำไมถึงต้องมีการลงประชามติ และข้อมูลต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจก่อนลงประชามติ


กด ▶ ฟังพอดคาสต์ด้านบน

รัฐบาลสหพันธรัฐให้ผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญออสเตรเลียเพื่อรับรองชนพื้นเมืองผ่านองค์กรที่เป็นตัวแทน ชื่อว่า วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ (Voice to Parliament) หรือไม่ (ในที่นี้แปลว่า “เสียงสู่รัฐสภา”)

“เดอะ วอยซ์ (The Voice)” จะเป็นกลุ่มบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อให้คำแนะนำแก่ รัฐบาลเกี่ยวกับประเด็นและกฎหมายต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชนพื้นเมือง (First Nations)

คุณอีวาน เอคิน-สมิท (Evan Ekin-Smyth) โฆษกของคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งออสเตรเลีย (Australian Electoral Commission) องค์กรอิสระที่ดำเนินการการเลือกตั้งของประเทศ
การลงประชามติเป็นการลงคะแนนกับประเด็นที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญของออสเตรเลียเปลี่ยนแปลง วิธีเดียวที่คุณจะสามารถเปลี่ยนรัฐธรรมนูญได้คือการที่ประชาชนลงคะแนนเสียง รัฐสภาไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญกำหนดวิธีการทำงานของรัฐบาลสหพันธรัฐ กำหนดพื้นฐานของวิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างเครือจักรภพ มลรัฐต่างๆ และประชาชน รวมถึงกฎหมายที่รัฐบาลระดับมลรัฐและรัฐบาลสหพันธรัฐสามารถทำได้

ประชาชนจะเป็นผู้ลงคะแนนว่า “เยส (yes)” หรือ “โน (no)” กับคำถามต่อไปนี้

“กฎหมายที่เสนอ: เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รับรองชนพื้นเมืองของออสเตรเลีย (First People of Australia) โดยการจัดตั้งคณะกรรมการ วอยซ์ สำหรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรส”

“คุณเห็นชอบกับข้อเสนอให้เปลี่ยนแปลงนี้หรือไม่”

การลงประชามติต้องได้รับเสียงข้างมากเพื่อให้ประสบผลสำเร็จ

“เพื่อให้การลงประชามติครั้งนี้สำเร็จ ต้องได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในระดับประเทศที่โหวตให้ผ่าน และคะแนนเสียงโหวตให้ผ่านในระดับรัฐอย่างน้อย 4 ใน 6 รัฐต้องโหวต ‘เยส’ พลเมืองออสเตรเลียทุกคนลงคะแนนว่า ‘เยส’ หรือ ‘โน’ ในบัตรลงคะแนน รวมถึงพลเมืองที่อาศัยอยู่ในมณฑลนครหลวงออสเตรเลีย (ACT) และมณฑลนอร์เทิร์นแทริทอรี (NT) ด้วย”
คณะกรรมการ วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์จะเป็นองค์กรที่เป็นตัวแทนของชนพื้นเมือง ซึ่งจะได้รับการคัดเลือกจากชุมชนพื้นเมืองเพื่อเป็นตัวแทนในการให้คำปรึกษาแก่รัฐสภาในการร่างกฎหมายที่จะมีผลต่อพวกเขา

คณะกรรมการนี้จะไม่มีอำนาจในการออกกฎหมาย ยับยั้งการตัดสินใจ หรือจัดสรรงบประมาณ รัฐสภาจะยังคงดำเนินการตามปกติ

ศาสตราจารย์เมแกน เดวิส (Megan Davis) เป็นชาวคอบเบิล คอบเบิล (Cobble Cobble) เป็นประธานฝ่ายกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ และเป็นหนึ่งในคณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยการยอมรับชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสในรัฐธรรมนูญที่ผลักดันการเปลี่ยนแปลงนี้

เธอกล่าวว่าประเทศอื่นๆ ประสบความสำเร็จจากแบบจำลองที่คล้ายกันนี้
นี่คือการปฏิรูประบบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นทั่วไปในระดับนานาประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่ารัฐบาลรับฟังเสียงของชนพื้นเมือง เมื่อรัฐบาลออกกฎหมายหรือมีนโยบายที่เกี่ยวกับพวกเขา
"สาเหตุหนึ่งที่เราไม่สามารถลดช่องว่างเรื่องความด้อยโอกาสในออสเตรเลียได้เพราะรัฐบาลไม่ค่อยปรึกษาชุมชนต่างๆ เมื่อพวกเขาออกกฎหมายหรือนโยบาย”

คุณดีน พาร์กิน (Dean Parkin) เป็นชาวควอนดามูกา (Quandamooka) และเป็นผู้อำนวยการโครงการ ‘ฟรอม เดอะ ฮาร์ท (From the Heart)’ สนับสนุนวอยซ์ ทู พาร์ไลเมนต์เพื่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

เขากล่าวว่า วอยซ์ จะช่วยรับประกันให้ชนพื้นเมืองสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง เนื่องจากรัฐบาลจะต้องรับฟังชนพื้นเมือง ซึ่งรู้ซึ้งถึงปัญหาในชุมชนดีที่สุด

“มันเป็นเรื่องของการให้ผู้เชี่ยวชาญของชาวอะบอริจินและชาวเกาะช่องแคบทอร์เรสเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้รัฐสภาและรัฐบาลสามารถออกฏหมายและนโยบายที่ดีกว่า ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า เราเห็นได้จากรายงานเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ (Closing the Gap) เราเห็นได้จากสถิติ ปีแล้วปีเล่า ประชากรออสเตรเลียหลายคนผิดหวังที่ไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการเห็นในชุมชนของเรา”
YES 23 VOICE CAMPAIGN SYDNEY
ผู้สนับสนุนเพนท์ธงชนพื้นเมืองบนหน้าเป็นสัญลักษณ์ของการสนับสนุนให้โหวต 'เยส' ในงานสนับสนุน วอยซ์ ทู พาร์ไลเมนท์ ที่ซิดนีย์ Source: AAP / BIANCA DE MARCHI/AAPIMAGE
ชนพื้นเมืองของออสเตรเลียก็มีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน บ้างไม่เห็นด้วยกับ วอยซ์ รวมถึงนักการเมืองที่เป็นชนพื้นเมืองด้วย

คุณจาซินตา ไพร์ซ (Jacinta Price) วุฒิสมาชิกฝ่ายเสรีนิยมจากมณฑลนอร์เทิร์นแทริทอรีและอดีตผู้นำแรงงานจากวอร์เรน มันดีน (Warren Mundine) เป็นผู้สนับสนุนการโหวต “โน”

โดยแย้งว่า วอยซ์ จะแก้ปัญหาความด้อยโอกาสของชนพื้นเมืองได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ขณะที่การลงประชามติใกล้เข้ามา คุณเอคิน-สมิท กล่าวว่าคณะกรรมการฯ กำลังจัดทำข้อมูลเพื่อแจ้งประชากรออสเตรเลียที่มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 17 ล้านคน โดยจะมีการนำเสนอทั้งสองมุมของโครงการ วอยซ์
เราจะจัดให้มีหน่วยเลือกตั้งหลายพันแห่งทั่วประเทศในวันลงประชามติ จะมีศูนย์ลงคะแนนล่วงหน้าที่ให้บริการหลายสัปดาห์ก่อนที่จะถึงวันเช่นกัน
"ถ้าคุณไม่สามารถลงคะแนนในวันนั้นได้ คุณสามารถมาลงคะแนนที่ศูนย์ลงคะแนนล่วงหน้าได้ เราจะยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ประสงค์จะลงประชามติในต่างประเทศ การลงคะแนนทางไกลทางมือถือ การลงคะแนนทางไปรษณีย์ รวมถึงการลงคะแนนทางโทรศัพท์สำหรับผู้ที่ตาบอดด้วย”

ในอดีต การโน้มน้าวให้ประชากรออสเตรเลียแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องง่าย มีข้อเสนอเพื่อเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเพียง 8 ข้อ จาก 44 ข้อที่ประสบความสำเร็จ

การลงประชามติครั้งล่าสุดประเด็นเรื่องชนพื้นเมืองมีขึ้นในปี 1967 การลงประชามติในครั้งนั้นประสบความสำเร็จในการยอมรับชนพื้นเมืองให้เป็นคนออสเตรเลียภายใต้กฎหมายของเครือจักรภพ และด้วยเหตุนี้จึงได้รับการนับรวมในการสำรวจสำมะโนประชากร (Census) นับแต่นั้นมา

ในการลงประชามติที่จะมีขึ้น คุณเพียงต้องเลือกเขียนคำว่า yes (เยส) หรือ no (โน) เป็นภาษาอังกฤษลงบนกระดาษลงคะแนน

คุณแพท คัลลาแนน (Pat Callanan) ตัวแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งอธิบายถึงแหล่งข้อมูลที่มีแก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

“เราจะมีข้อมูลที่แปลใน 30 ภาษาบนเว็บไซต์ของเรา และผ่านการให้บริการล่ามทางโทรศัพท์เช่นกัน”
JACINTA PRICE VOICE PRESSER
วุฒิสมาชิก จาซินตา ไพรซ์ ยืนข้างเด็กผู้หญิงชนพื้นเมืองที่มีธงชาติออสเตรเลียพาดบ่า ที่กรุงแคนเบอร์รา Source: AAP / LUKAS COCH/AAPIMAGE
หากคุณลงทะเบียนว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง คุณจะมีสิทธิ์ลงคะแนนในการลงประชามติเช่นกัน

หมายความว่าการลงคะแนนในการลงประชามติเป็นข้อบังคับสำหรับพลเมืองที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน
คุณต้องเป็นพลเมืองออสเตรเลียเพื่อลงประชามติ
"เราแนะนำให้ผู้ที่ย้ายที่อยู่หรือไม่แน่ใจว่ารายละเอียดในการลงคะแนนเสียงถูกต้องหรือไม่ คุณสามารถตรวจสอบการลงทะเบียนของคุณที่ aec.gov.au เพื่อให้แน่ใจว่ารายละเอียดของคุณถูกต้อง”

คุณเอคิน-สมิทเชื่อว่าการมีส่วนร่วมในการลงประชามติเป็นสิ่งสำคัญและทุกคนควรหาข้อมูล

“ข้อแตกต่างของการลงประชามติคือคุณไม่ได้คิดถึงผู้สมัครที่คุณต้องการเลือก คุณคิดถึงประเด็นในการลงประชามติ ดังนั้นหาข้อมูลอย่างรอบคอบ คิดว่าคุณจะโหวต ‘เยส’ หรือ ‘โน’ เพื่อให้แน่ใจว่าคุณจะไปลงประชามติโดยมีข้อมูลเพียบพร้อม”
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ควรทราบคือผลลัพธ์จะมีผลผูกพัน

“สิ่งสำคัญคือการใช้เสียงของคุณ ไม่ว่าคุณจะลงคะแนนอย่างไร เราไม่สนใจว่าประชาชนจะโหวตอย่างไร สิ่งที่เราสนใจคือประชาชนออกมาลงคะแนน และนั่นเป็นสิ่งที่พิเศษ การที่คุณสามารถใช้เสียงของคุณกับเรื่องนั้น เราแนะนำให้ประชาชนทำอย่างจริงจัง”

อ่านหรือฟังเรื่องการตั้งถิ่นฐานในออสเตรเลียได้อีก


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์ 


บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 





Share