ควรเตรียมการรับมือกับพายุและน้ำท่วมอย่างไร

AUSTRALIA-EMERGENCY-ENVIRONMENT-FLOODS

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเหตุการณ์น้ำท่วม Source: AFP / WILLIAM WEST/AFP via Getty Images

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาออสเตรเลียประสบกับอุทกภัยร้ายแรงเป็นประวัติการณ์หลายครั้ง คุณจะเตรียมตัวอย่างไรหากสภาพอากาศแปรปรวนกำลังจะใกล้เข้ามา ใครที่คุณสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือ คุณจะปลอดภัยไหมถ้ายังอยู่ที่บ้านหรือควรจะย้ายออก



เมื่อเกิดพายุและน้ำท่วม หลายชุมชนในออสเตรเลียจะพึ่งพาความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือเหตุการณ์ฉุกเฉินของรัฐที่ตนอาศัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ SES (State Emergency Service) หน่วยงานนี้เป็นองค์กรให้ความช่วยเหลือชุมชนต่างๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ และช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสีย และยังให้ความช่วยเหลือในการขนย้าย ทำความสะอาดหลังจากเหตุการณ์สงบ ฝนหยุดตกและระดับน้ำลดลงด้วย

SES ทุกสาขาให้การบริการชุมชนซึ่งดำเนินงานโดยอาสาสมัคร เช่น คุณ คริสตินา ซาบาโต ผู้ที่ทำงานให้กับ SES รัฐนิวเซาท์เวลส์เป็นเวลาหลายปีแล้ว เธอกล่าวว่า

"เราเป็นหน่ายงานที่ต่อสู้กับภัยธรรมชาติ น้ำท่วม พายุและสินามิ  สมาชิกของเราหลายคนทั่วทั้งรัฐต่างให้ความช่วยเหลือชุมชนที่ถูกน้ำท่วม เราช่วยเหลืออาคารบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากพายุ หรือต้นไม้โค่นล้ม หลังคาเสียหายหรือความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ"

บ่อยครั้งที่อาสาสมัคร ของ SES จะเดินเคาะประตูเพื่อแจ้งเตือนผู้อยู่อาศัยในบริเวณที่อาจเสียงต่อการเกิดภัยพิบัติที่เกิดจากพายุ หรือน้ำท่วม
พวกเขาให้ความรู้แก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเกี่ยวกับวิธีการขนย้ายออกจากพื้นที่และทางเลือกต่างๆ พวกเขาาอาจจะช่วยคุณในการป้องกันบ้านเรือนโดยขนย้ายสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตราย หรือเตรียมถุงทรายเพื่อสร้างกำแพงกั้นน้ำชั่วคราว

คุณ โดโรธี ทราน เจ้าหน้าที่บริการชุมชนของหน่วยงาน SES ในรัฐนิวเซาท์เวลส์กลาวว่า อย่างแรกที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมตัว ประชาชนต้องเข้าใจระดับความเสี่ยง เพื่อที่พวกเขาจะได้เตรียมตัวร่างรายละเอียดแผนการจัดการเหตุการร์ฉุกเฉินได้ และรู้ว่าพวกเขาต้องทำอะไรบ้างเมื่อเกิดภัยพิบัติ เธอชี้ว่า

"ก่อนที่จะร่างแผนการจัดการ พวกเขาต้องรู้จุดประสงค์ของการร่างแผนก่อนว่า ปัจจัยความเสี่ยงของพวกเขาคืออะไรบ้าง พวกเขารู้ไหมว่าพื้นที่ที่พวกเขาอาศัย ทำงานหรือไปพักผ่อนนั้นเสี่ยงต่อการเกิดพายุหรือน้ำท่วมไหม ซึ่งพายุนั้นสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และในส่วนของน้ำท่วมนั้น ถ้าคุณอาศัยใกล้กับทางน้ำ ไม่ว่าจะเป็นลำธาร ท่อระบายน้ำฝน คุณต้องรู้ว่าน้ำจะไหลผ่านไปทางใดและจะส่งผลกระทบกับพวกเขาอย่างไร"

ประชาชนที่อาศัยใกล้กับทางน้ำต่างๆ ควรหมั่นตรวจเชคข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศในกรณีที่อาจเกิดน้ำท่วม ชุมชนต่างๆ สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสภาพอากาศล่าสุดได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา (The Bureau of Meteorology) หรือ SES แอปพลิเคชัน หรือทางโซเชียลมีเดียของพวกเขา

ประชาชนควรมีความพร้อมที่จะดำเนินการตามแผนการจัดการภัยพิบัติก่อนที่ระดับน้ำจะมีปริมาณสูงขึ้น ถ้าคุณมีเด็กเล็ก สัตว์เสี่ยง หรือปศุสัตว์ คุณควรรู้ว่าคุณจะขนย้ายพวกเขาให้ปลอดภัยอย่างไรและไปที่ไหน

การขนย้ายออกจากบ้านไปยังศูนย์พักพิงนั้นขึ้นอยู่กับระดับความอันตราย ซึ่งอีกทางเลือกหนึ่งคือประชาชนอาจตัดสินใจอยู่ที่บ้านเพื่อปกป้องบ้านเรือนของพวกเขา

"พวกเขาต้องเตรียมสิ่งของที่จำเป็นต่างๆ เช่นยาที่รับประทานทุกวัน หรือสิ่งของจำเป็นอื่นๆ เช่นเสื่อผ้าสำรอง อาหาร น้ำดื่ม และถ้าคุณมีเด็กในครอบครัวก็ต้องเตรียมการสิ่งของจำเป็นสำหรับพวกเขาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นรถเข็นเด็ก ผ้าอ้อม หรือของเล่นต่างๆ หรือกระทั่งสัตว์เลี้ยงก็ต้องเตรีมสายจูง กรง อาหารและของว่างให้พร้อม" 

คุณโดโรธี ทราน ยังแนะนำว่าคุณควรจะเตรียมพร้อมเบอร์โทรศัพท์ติดต่อฉุกเฉิน และแจ้งให้ครอบครัวหรือเพื่อนรู้เกี่ยวกับแผนการจัดการของคุณ เธออธิบายว่า

"ถ้าคุณตัดสินใจว่าจะขนย้าย คุณควรหารือกับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ว่าคุณจะไปพักที่ไหน คุณสามารถย้ายไปพักชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัยจากน้ำท่วมได้ไหม หรือต้องไปย้ายไปศูนย์พักพิงชั่วคราว ถ้าคุณเป็นตัวกลางสื่อสารระหว่างสองภาษาของครอบครัวของคุณ คุณต้องแน่ใจว่าสมาชิกครอบครัวที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้จะรู้ว่าพวกเขาต้องทำอย่างไรในสถานการณ์นี้หรือไม่ถ้าคุณไม่อยู่ที่บ้าน เราได้ยินบ่อยว่ามีปู่ยาตายายที่ติดอยู่ที่บ้านกับหลานๆ เมื่อพายุเข้าหรือน้ำท่วม การแบ่งปันข้อมูลเหล่านี้กับสมาชิกครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญมาก"

สิ่งของที่สำคัญอย่างอื่น เช่น แบตเตอร์รี ไฟฉาย เทียน อุปกรณ์กันฝน ผ้าห่ม และอุปกรณ์ในห้องน้ำก็ต้องเตรียมให้พร้อม

และรวมไปถึงการเตรียมอุปกรณ์การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เอกสารสำคัญ เช่นพาสปอร์ต หรือบัตรประชาชน ข้อมูลธนาคารหรือบริษัทประกันภัย และของมีค่าต่างๆ หรือแม้กระทั่งรูปภาพสำคัญๆของครอบครัว

NSW FLOODS
การวางแผนรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติเช่นน้ำท่วมเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่คุณต้องประเมินความเสี่ยงว่าตอนไหนควรอยู่หรือตอนไหนควรย้ายออกจากบริเวณที่พัก Source: AAP / STUART WALMSLEY/AAPIMAGE
ถึงแม้ว่า SES จะแนะนำให้ขนย้ายแต่ก็มีประชาชนไม่น้อยที่เลือกจะอยู่ที่บ้านของพวกเขา ตัวอย่างเช่น คุณ นิโคล วาสเทิล ซึ่งอาศัยในเมืองเล็กๆ พื้นที่ลุ่มแม่น้ำ แมคโดนัล พื้นที่ชายขอบของนครซิดนีย์ บ้านสองชั้นของเธอถูกน้ำท่วมถึง 4 ครั้งในระยะเวลา 2 ปี

เธอใช้เวลาเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วม 3-4 วัน พวกเขาติดตามข่าวสารพยากรณ์อากาศจากแอปพลิเคชันของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และจดบันทึกระดับน้ำ เพื่อทำให้มั่นใจว่าพวกเขาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น เธอเล่าว่า

"เราไปซื้อข้าวของต่างๆ เพื่อเตรียมการณ์ให้พร้อม ซื้ออาหารกระป๋อง หรืออาหารที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานมาเตรียมไว้ ในกรณีที่เราถูกตัดขาด สามีของฉันไปซื้อน้ำมันเตรียมไว้ในแกลลอนเพื่อที่เราจะได้มีใช้เติมเครืองปั่นไฟเมื่อเราไม่มีไฟใช้ ฉันเปิดน้ำให้เต็มอ่างอาบน้ำเพื่อที่เราจะมีน้ำไว้ดื่มใช้"  คุณ นิโคล วาสเทิล ให้รายละเอียด

มีขั้นตอนง่ายๆ ที่คุณสามารถเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเผชิญกับพายุรุนแรงได้ซึ่งก็คือ การทำความสะอาดรางน้ำฝนและทำความสะอากท่อระบายน้ำเพื่อป้องกันการอุดตัน มัดสิ่งของที่อาจจะปลิวได้ให้แน่นหนา ซ่อมหลังคารั่วหรือกระเบื้องที่หลุดร่อนเป็นต้น

คุณ นิโคล วาสเทิล ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า

"เมื่อทั้งหมดนี้เสร็จเรียบร้อย คุณก็เริ่มขนย้ายสิ่งของที่อยู่ชั้นล่างขั้นชั้นบน และย้ายรถ เรือ หรืออะไรก็ตามที่คุณสามารถขนย้ายด้วยรถพ่วงไปอยู่ในบริเวณที่สูงได้ หลังจากนั้นคุณก็เตรียมตัวรอว่าระดับน้ำจะขึ้นมาสูงขนาดไหน"

คุณนิโคล เล่าว่าเธอเตรียมเสื่อชูชีพและเรือเล็กให้พร้อมด้วยเพื่อว่าครอบครัวต้องย้ายไปศูนย์พักพิงชั่วคราว และเธอยังวัดระดับน้ำในบ้านด้วย
"เราวัดระดับน้ำสูงสุดและทำเครื่องหมายไว้ เราจดบันทึกวันเวลา และทำแบบนี้ต่อไปเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ ซึ่งข้อมูลตรงนี้ใช้เป็นข้อมูลตัวอย่างบ่งบอกว่าระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง" คุณ นิโคล วาสเทิล ให้ข้อมูลว่าการติดต่อสื่อสารกับโลกข้างนอกก็เป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าโทรศัพท์บ้าน มือถือหรืออินเตอร์เน็ต มักถูกตัดในระหว่างน้ำท่วม บางคนก็ใช้วิทยุสื่อสารแทน แต่คุณ นิโคลเลือกใช้ทางเลือกที่ต่างออกไป เธอเปิดเผยว่า

"เราเปลี่ยนจากการใช้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตมาเป็นการใช้บริการจานดาวเทียมแทน ซึ่งทำให้เราสามารถมีสัญญาณโทรศัพท์ตลอดเวลาซึ่งเป็นความจำเป็นอย่างมาก ที่นี่ถ้าคุณไม่มีไฟฟ้ามันหมายถึงคุณไม่สามารถทำอะไรได้แต่การเปลี่ยนมาใช้บริการสัญญาณจากดาวเทียมคุณสามารถเสียบในเครื่องปั่นไฟได้เลย"

ส่วนคุณ คริสตินา ซาบาโต อาสาสมัครหน่วยงาน SES ให้คำแนะนำว่าคุณไม่ควรจอดรถไว้ใต้ต้นไม้ หรือใกล้ท่อระบายน้ำ หรือจอดใกล้อะไรก็ตามที่สามารถสร้างความเสียหายได้

เธอย้ำว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของตัวคุณเอง ด้วยการที่ไม่ขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม ซึ่งกระแสน้ำขุ่นอาจทำให้มองไม่เห็นสิ่งปรักหักพังข้างใต้ ถนนเสียหายหรือหลุมที่สามารถตกลงไปได้ และอาจมีอันตรายเนื่องจากกระแสนำรุนแรงที่อาจพัดพารถไปได้

Catástrofes climáticas en 2020, cada vez más costosas según ONG
การขับรถฝ่าน้ำท่วมออกมาเป็นเรื่องที่อันตรายเพราะคุณอาจมองไม่เห็นสิ่งที่อยู่ข้างใต้และอาจเสี่ยงต่อการถูกกระแสน้ำพัด Source: AAP
คุณ ทรานยังเตือนถึงอันตรายจากสัตว์มีพิษต่างๆ ด้วย
"เราได้ยินมาหลายครั้งในรอบ 2 ปีว่าถ้าขึ้นขับรถในช่วงน้ำท่วม สัตว์มีพิษต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งู แมงมุมหรือ แมลงต่างๆ ก็หลบมาอยู่ในรถด้วย และมันอาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอีก ดังนั้นเราจึงแนะนำประชาชนว่าควรจะย้ายออกแต่เนิ่นๆ แทนที่จะอยู่และอพยพโดยขับรถผ่านบริเวณน้ำท่วม" คุณโดโรธี ทราน แนะนำ

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือคุณควรตรวจนโยบายของบริษัทประกันภัยของคุณว่าเป็นนโยบายปัจจุบันและเหมาะสมไหม คุณต้องแน่ใจว่าสามารถครอบคลุมค่าเสียหายในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่ที่คุณอาศัยหรือไม่ ซึ่งอาจจะหมายถึง ภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำท่วมไหลบ่าเนื่องจากพายุ ดินถล่ม หรือความเสียหารที่เกิดจากต้นไม้ล้มทับ เป็นต้น

คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  

บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 


Share