รัฐมนตรีคลังคาดไวรัสโคโรนาจะกระทบเศรษฐกิจออสเตรเลีย

NEWS: รัฐมนตรีคลังของสหพันธรัฐออสเตรเลีย กล่าวว่า อาจเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบอย่างเลวร้ายเพียงใดต่อเศรษฐกิจ ขณะที่ธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับจีนหวังว่า นี่จะเป็นเพียงผลกระทบเพียงชั่วคราวเท่านั้น

Treasurer Josh Frydenberg during Question Time at Parliament House in Canberra.

Treasurer Josh Frydenberg during Question Time at Parliament House in Canberra. Source: AAP

นายจอช ไฟรเดนเบิร์ก รัฐมนตรีคลังของรัฐบาลสหพันธรัฐออสเตรเลีย เตือนว่า เชื้อไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบ “อย่างมีนัยสำคัญ” ต่อเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ธุรกิจต่างๆ ในออสเตรเลีย เตรียมรับมือกับการสูญเสียรายได้

รัฐมนตรีคลัง พยายามแสดงตัวอย่างของสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหลากหลาย โดยมีรายงานคาดการณ์บางฉบับที่ชี้ว่า เศรษฐกิจในออสเตรเลียอาจได้รับผลกระทบทำให้เสียหายถึง 2.3 พันล้านดอลลาร์

“เราไม่รู้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาจะรุนแรงเท่าไร และต่อเนื่องไปนานเท่าไร” นายไฟรเดนเบิร์ก กล่าว

“เรารู้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่เรากำลังทำคือ พยายามทำให้แน่ใจว่าเรามีความยืดหยุ่นในการรับมือกับเหตุการณ์เมื่อต้องทำ”

นางเฮเลน ซอว์แซค ซีอีโอ ของสภาธุรกิจออสเตรเลีย-จีน บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่า ธุรกิจต่างๆ ได้รับผลกระทบแล้ว จากการที่มีนักท่องเที่ยวและนักเรียนจากจีนน้อยลง

“แน่นอนว่า มีการสูญเสียความมั่นใจอันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสนี้” นางซอว์แซค กล่าว

“จนกว่าสถานการณ์จะลดความรุนแรงลง ก็จะยังคงส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจออสเตรเลีย”
Treasurer Josh Frydenberg.
Treasurer Josh Frydenberg. Source: AAP
รัฐบาลสหพันธรัฐ ได้สั่งห้ามผู้ที่ไม่ใช่พลเมือง ไม่ให้เดินทางเข้ามายังออสเตรเลียจากประเทศจีน ซึ่งการห้ามเดินทางเข้าประเทศนี้ ขัดขวางไม่ให้นักเรียนและนักท่องเที่ยวจากจีนหลายพันคนเดินทางเข้ามายังออสเตรเลียได้

นายไฟรเดนเบิร์ก ให้คำมั่นว่าจะให้การสนับสนุนแก่อุตสาหกรรมต่างๆ เหล่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา และพยายามลดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคซาร์ส (SARS) ในปี 2003 ซึ่งกินเวลา 6 เดือนนั้น คาดว่าทำให้ต้องมีการใช้งบประมาณไปถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการควบคุมโรคทั่วโลก

“ขณะที่เชื้อไวรัสโรคซาร์สระบาดนั้น เราได้เห็นจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง เราได้เห็นจำนวนนักเรียนลดลง และเราได้เห็นการค้าขายลดลง แต่มันก็ดีดตัวกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งหลังจากนั้น” รัฐมนตรีคลังของออสเตรเลีย กล่าว
อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่า เศรษฐกิจจีนทุกวันนี้นั้นใหญ่กว่าเมื่อปี 2003 ถึง 4 เท่า และการค้าขายระหว่างจีนกับออสเตรเลียได้พัฒนาเติบโตขึ้นอย่างมาก

ขณะนี้ มีจำนวนผู้ติดเชื้อนี้ที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วโลก กว่า 40,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากเชื้อนี้กว่า 900 รายในประเทศจีน ส่วนในออสเตรเลียนั้น มีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ 15 ราย

นายเฮนรี คัตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากประเด็นด้านสุขภาพของมหาวิทยาลัยแมกควารี บอกกับ เอสบีเอส นิวส์ ว่ายังไม่ทราบแน่ชัดว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาครั้งนี้จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากเพียงใด

“ยากที่จะบอกได้ว่ามันจะยุติลงเมื่อใด แต่ดูเหมือนว่ามันจะเลวร้ายลงถึงที่สุด ก่อนจะเริ่มดีขึ้น” นายคัตเลอร์ กล่าว

“สิ่งที่เรากำลังพูดถึงในที่นี้คือ จะมีส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าในส่วนอื่นๆ”

นายคัตเลอร์ กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็กที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงได้แก่ธุรกิจในอุตสาหกรรมค้าปลีก ร้านอาหาร และผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีศักยภาพน้อยกว่า ในการรับมือกับการสูญเสียรายได้หรือรายได้หดตัวลงอย่างฉับพลัน

“การห้ามเดินทางเข้ามา หรือการจำกัดการเดินทางเข้ามา หมายความว่า ธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ ในออสเตรเลียจะได้รับผลกระทบ” นายคัตเลอร์ เผย

“คำถามคือ ธุรกิจขนาดเล็กต่างๆ จะสามารถรับมือสถานการณ์นี้ได้ดีเพียงไร ขณะที่พวกเขารอให้เรื่องไวรัสโคโรนาสลายหายไป”
การส่งออกอาหารจากออสเตรเลียไปยังประเทศจีนยังลดลงด้วย จากการที่ร้านอาหารต่างๆ ปิดให้บริการ ขณะที่พื้นที่บางส่วนของจีนถูกห้ามการเดินทางเข้า-ออกและให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสนี้

ในระยะยาว การชะลอตัวลงของการพัฒนาในประเทศจีน อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูงของออสเตรเลียด้วย นั่นคือสินค้าโภคภัณฑ์

การวิจัยโดยบริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอส์ ซึ่งคาดการณ์ผลกระทบของการจำกัดจำนวนพลเมืองจีนที่สามารถเดินทางมาเที่ยวหรือมาเรียนในออสเตรเลีย สร้างความเสียหายให้ราว 2.3 พันล้านดอลลาร์

แต่สภาธุรกิจออสเตรเลีย-จีน เตือนให้ระวังความตื่นตระหนกจากสถานการณ์นี้

“เรากำลังหวังว่านี่จะเป็นเพียงการระบาดชั่วคราว และหวังว่าธุรกิจจะกลับมามีความมั่นใจตามเดิมหลังจากนั้น” นางซอว์แซค กล่าว

นายฟิลิป โลว์ ผู้ว่าการธนาคารชาติของออสเตรเลีย กล่าวเมื่อวันพุธสัปดาห์ที่แล้ว โดยบอกกับสโมสรผู้สื่อข่าวแห่งชาติว่า รากฐานของเศรษฐกิจออสเตรเลีย “ยังคงแข็งแกร่ง” แม้จะพบกับสถานการณ์ไวรัสโคโรนาระบาดก็ตาม

“สิ่งสำคัญคือ พวกเราอย่าทำสถานการณ์ให้กลายเป็นหายนะ” นายโลว์ กล่าว

“เป็นไปได้ที่เรื่องนี้อาจไม่เป็นไปอย่างราบรื่น แต่เป็นไปได้เช่นกันที่ประสบการณ์จากโรคซาร์สจะถูกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติที่สมเหตุสมผลได้”
รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 11 February 2020 12:21pm
Updated 11 February 2020 4:17pm
By Tom Stayner
Presented by Parisuth Sodsai
Source: SBS News


Share this with family and friends