พบโรคซึมเศร้าอาจเป็นต้นตอก่อโรคอื่นกว่า 20 ชนิด

NEWS: งานวิจัยพบ "โรคซึมเศร้า" สามารถเชื่อมโยงสู่สาเหตุการเกิดโรคต่างๆ หลายชนิด นักวิจัยชี้เป็นองค์ความรู้สู่การพัฒนาวิธีรักษาร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม

โรคซึมเศร้า ต้นตอโรคอื่นๆ

มีงานวิจัยที่พบว่า โรคซึมเศร้า มีความสัมพันธ์กับสาเหตุการเกิดโรคอื่นๆ ได้ Source: AAP

งานวิจัยจากศูนย์สุขภาพเฉพาะทางออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลีย (Australia Centre of Precision Health, University of South Australia) ได้พบความสัมพันธ์ในเชิงสาเหตุ ระหว่างภาวะอาการโรคซึมเศร้า และอาการเจ็บไข้ได้ป่วยชนิดต่างๆ 

ศาสตราจารย์เอลินา ฮูปาเน็น (Prof Elina Hypponen) กล่าวว่า ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 330,000 ราย แสดงให้เห็นว่า โรคซึมเศร้าสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ หัวใจ และระบบย่อยอาหาร 

“งานวิจัยของเราพบว่า ผู้มีภาวะอาการโรคซึมเศร้าจะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับเส้นเลือดหัวใจประมาณ 30% ขณะที่ความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคลมชักนั้นเพิ่มขึ้น 23%” ศาสตราจารย์ฮูปาเน็นกล่าว

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า ภาวะซึมเศร้ายังเป็นสาเหตุโดยตรงสำหรับการเกิดโรคบางชนิดอีกด้วย
ด้าน ศาสตราจารย์มัลคอล์ม ฮ็อปวูด (Prof Malcolm Hopwood) อดีตประธานวิทยาลัยจิตวิทยาออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (Royal Australia and New Zealand College of Psychriatrists) กล่าวว่า การศึกษาในครั้งนี้ ได้มอบพื้นฐานของแนวทางการพัฒนาการรักษา ซึ่งจะทำให้แน่ใจว่า จะมีวิธีการรักษาที่ได้ผลมากขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยการวิจัยดังกล่าวได้เปิดเผยให้เห็นความเชื่อมโยงด้านกรรมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้าและความผิดปกติทางสุขภาพร่างกายที่เพิ่มขึ้น 

“ปลายทางของเรื่องนี้ที่เราตั้งเป้าไว้ คือการรักษาที่ดีขึ้นทั้งภาวะโรคซึมเศร้า และปัญหาสุขภาพทางร่างกายที่เกี่ยวข้อง การที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เราต้องเข้าใจความเสี่ยงด้านกรรมพันธุ์ และปัจจัยสนับสนุนระหว่างโรคที่มาจากพฤติกรรมทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลง เราต้องดูว่ามีหนทางใดและกระบวนการของร่างกายใดบ้างที่สามารถเข้าจัดการ และเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เหล่านั้น” ศาสตราจารย์ฮ็อปวูดกล่าว

ศาสตราจารย์แพทริก แม็คกอร์รี (Patrick McGorry) นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne) กล่าวว่า การศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ได้มีการตีพิมพ์ในปีนี้ที่สหรัฐฯ เน้นย้ำถึงความสำคัญในการรักษาอาการทางร่างกายและจิตใจแบบองค์รวม และย้ำอีกว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตมากเท่าใด ก็มีความเสี่ยงที่จะมีปัญหาทางสุขภาพร่างกายมากเท่านั้น ซึ่งรวมถึงในทางกลับกัน

นอกจากนี้ เขายังระบุอีกว่า บ่อยครั้งที่แพทย์ให้ความสนใจไม่เพียงพอ ว่าผู้ที่ได้รับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตนั้น ต้องการรับการรักษาสุขภาพทางร่างกายด้วยเช่นกัน

“ผมคิดว่า มันเป็นจุดบอดสำหรับแพทย์หลายคนในเรื่องของสุขภาพร่างกายของผู้มีปัญหาด้านสุขภาพจิต และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้ผู้คนเหล่านั้นต้องเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรเป็นเวลา 15-20 ปี ผมคิดว่ามันเป็นความผิดพลาดของการวิจัยทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน ผู้ศึกษาวิจัยโรคเกี่ยวกับหัวใจและมะเร็งยังไม่รู้ว่า ปัญหาสุขภาพจิตเป็นความเสี่ยงส่วนมากในการเกิดโรคเหล่านั้นเช่นกัน” ศาสตราจารย์แม็กกอร์รีกล่าว

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์ ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่

You can read the full version of this story in English on SBS News .

Share
Published 4 September 2019 10:48am
Updated 19 February 2020 12:36pm
By Greg Dyett
Presented by Tinrawat Banyat
Source: SBS News


Share this with family and friends