แบคทีเรียกินเนื้อคนระบาดไม่หยุดในออสเตรเลีย

พบแบคทีเรียกินเนื้อคน ต้นเหตุ 'แผลบูรูลิ' ระบาดในออสเตรเลียอย่างเป็นปริศนา โดยเฉพาะในรัฐวิกตอเรีย เชื้อลามไวในอากาศอบอุ่นจนบางคนแผลเน่าต้องตัดขา หน่วยงานการแพทย์วอนรัฐอัดฉีดงบวิจัยด่วน

Gus Charles and his mother Sally

กัส ชาลส์ (ซ้าย) และแซลลี (ขวา) แม่ของเขา Source: SBS WORLD NEWS/AAP Image/Medical Journal of Australia

ตัวพอสซัมอาจมีส่วนนำพาให้เกิดการติดเชื้อโรค เอ็ม อัลเซอรานส์ M. Ulcerans
ตัวพอสซัมอาจมีส่วนนำพาให้เกิดการติดเชื้อโรค เอ็ม อัลเซอรานส์ (M. Ulcerans) Source: Matt Francey/Flickr via SBS News
เมื่อปี 2018 มีผู้ป่วยกว่า 300 รายในออสเตรเลียที่มีแผลบูรูลิ อัลเซอร์ (Buruli Ulcer) ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียทำลายผิวหนังชนิดหนึ่ง และจนถึงขณะนี้ มีชาวออสเตรเลีย 2 ราย ที่ต้องถูกตัดขาไปเพราะการติดเชื้อร้ายนี้

กัส ชาลส์ เด็กนักเรียนชายผู้หนึ่งในนครเมลเบิร์น ยังคงมีรอยแผลเป็นขนาดใหญ่ จากการเป็นแผลบูรูลิ อัลเซอร์ ซึ่งเกิดอาการขึ้น หลังจากที่เขาหกล้มและเป็นแผลที่หัวเข่า เมื่อราว 1 ปีก่อน

กัส เล่าว่า ตอนนั้นแผลที่หัวเข่า ซึ่งบวมขึ้นมาเกิดติดเชื้อ และอาการของเขาก็ถูกวินิจฉัยโรคอย่างไม่ถูกต้อง ก่อนที่ในที่สุด เขาต้องเข้ารับการผ่าตัด

“ไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ศัลยแพทย์จะผ่าแผลออกดู แผลได้ยุบลงไป แล้วก็มีเนื้อยุ่ยๆ ออกมา มีเลือดไหลออกมาด้วย หลังการผ่าตัด ผมถึงได้รู้ว่ามันเป็นอะไรที่ค่อนข้างร้ายแรงทีเดียว” กัส ชาลส์ เล่า

แซลลี ชาลส์ แม่ของกัส เล่าถึงความทุกข์ทรมานใจของเธออันเนื่องมาจากอาการป่วยของลูกชายและการรักษา

“มันน่าหงุดหงิดใจเป็นอย่างมาก แล้วคุณก็กังวลว่า เพราะมันเลวร้ายมากที่รู้ว่าลูกของคุณกำลังเจ็บปวด และรู้ว่าไม่มีอะไรจะแก้ไขได้ ความจริงแล้ว มันแย่กว่านั้นอีก คือไม่มีใครสามารถวินิจฉัยโรคได้เลย” แซลลี ชาลส์ เผยความรู้สึก

นายแพทย์ แดเนียล โอไบรอัน จากบาร์วอน เฮล์ท (Barwon Health) ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยและการรักษาอาการแผลบูรูลิ กล่าวว่า “มันเป็นการติดเชื้อโรคที่กินเนื้อคน และมันเริ่มด้วยการกินเนื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อภายใต้เนื้อเยื่ออ่อน หากไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปแล้วมันจะลุกลามและใหญ่ขึ้นๆ ในบางกรณีหากเชื้อรุนแรงมาก มันจะขยายตัวได้อย่างรวดเร็วไปทั่วทั้งแขนหรือทั่วทั้งบางส่วนของขา” นายแพทย์โอไบรอัน อธิบาย
ภาพแผลบูลูรี จากการติดเชื้อ ไมโคแบคทีเรียม อัลเซอแรนส์ (Mycobacterium ulcerans) อย่างรุนแรง บริเวณหน้าแข้งของเด็กชายอายุ 11 ปีคนหนึ่ง
ภาพแผลบูลูรี จากการติดเชื้อ ไมโคแบคทีเรียม อัลเซอแรนส์ (Mycobacterium ulcerans) อย่างรุนแรง บริเวณหน้าแข้งของเด็กชายอายุ 11 ปีคนหนึ่ง Source: AAP Image/Medical Journal of Australia
เชื่อกันว่าโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์นั้น มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาตะวันตก ก่อนที่จะปรากฏขึ้นในหลายพื้นที่ของออสเตรเลียอย่างลึกลับตั้งแต่ปีทศวรรษ 1930 เป็นต้นมา

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์ เป็นจำนวนมากในรัฐวิกตอเรีย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในพื้นที่แบลลารีน (Bellarine Peninsula) และมอร์นิงตัน เพนนินซูลา (Mornington Peninsula) โดยจำนวนผู้เป็นแผลบูรูลิ อัลเซอร์ทั้งหมดที่ได้รับการจดบันทึกไว้มี 107 รายในปี 2015 มี 182 รายในปี 2016 มี 275 รายในปี 2017 และมีถึง 330 รายในปี 2018

กรณีที่เกิดขึ้นในรัฐวิกตอเรียเมื่อปีที่แล้ว 330 รายนั้น ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ได้แก่ มอร์นิงตัน เพนนินซูลา (146 ราย) แฟรงค์สตัน (14 ราย) เขตจีลอง (23 ราย) และเบย์ไซด์ (14 ราย) ขณะที่มีการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชั้นในของนครเมลเบิร์นเช่นกัน ซึ่งสร้างความวิตกให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์และผู้ทำการวิจัยเกี่ยวกับเชื้อนี้

อย่างไรก็ตาม มีการพบผู้ติดเชื้อนี้เช่นกัน ในรัฐควีนสแลนด์ ซึ่งเรียกกันว่าโรคแผล เดนทรี อัลเซอร์ (Daintree Ulcer) โดยในควีนสแลนด์ เคยมีการพบผู้ป่วยติดเชื้อนี้พุ่งสูงขึ้นอย่างมากคือ 54 คนในปี 2011 แต่จากนั้นได้ลดจำนวนลงอย่างมาก คาดว่ามีผู้ป่วยเพียง 10 ราย ที่ป่วยเป็นโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์ ในพื้นที่อื่นๆ ของออสเตรเลีย ในช่วงปี 2015-2017

ศาสตราจารย์ พอล จอห์นสัน จากออสติน เฮลท์ (Austin Health) กล่าวว่า เป็นไปได้ว่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดแผลบูรูลิ อัลเซอร์นั้น อยู่ในมูลของตัวพอสซัม และแพร่เชื้อสู่มนุษย์โดยมียุงเป็นพาหะนำเชื้อ

“มีคำถามสำคัญที่เราไม่รู้คำตอบ โดยเฉพาะคำถามที่ว่า มันแพร่เชื้อไปได้อย่างไร เหตุใดมันจึงไปปรากฏในประชากรพอสซัมตั้งแต่แรก และมันจะไปปรากฏที่ไหนต่อไป” ศาสตราจารย์จอห์สัน ตั้งข้อสังเกต

องค์กรด้านสุขภาพต่างๆ ของรัฐวิกตอเรียได้ใช้งบประมาณไป 1 ล้านดอลลาร์สำหรับการศึกษาวิจัยโรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์ ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา และได้ร่วมกับนักวิจัยต่างๆ ขอทุนอีก 2 ล้านดอลลาร์จากรัฐบาลสหพันธรัฐ เพื่อเป็นทุนในการทำการวิจัยด้านการแพทย์เกี่ยวกับเชื้อโรคนี้

“มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถรอคอยได้ นี่เป็นโรคระบาดที่สถานการณ์กำลังย่ำแย่ลงอย่างรวดเร็ว เรามีข้อมูลที่สำคัญคือ เราไม่รู้เรื่องโรคนี้มากนัก จึงต้องการเงินทุนโดยด่วน ยิ่งเร็วเท่าไร ก็ยิ่งดี” นายแพทย์โอไบรอัน ย้ำ

การติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนที่ทำให้เกิดแผลบูรูลิ อัลเซอร์ นี้มักพบได้บ่อยมากกว่าในช่วงเดือนที่อากาศอบอุ่นหรือร้อน รอยแผลถูกแมลงกัด หรือรอยบาดแผลที่ผิวหนังอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้มีการติดเชื้อได้
ตัวอย่างแผลบูรูลีบนแขนของเด็กชายผู้หนึ่งจากประเทศไอวอรีโคสต์ในปี 2009
ตัวอย่างแผลบูรูลีบนแขนของเด็กชายผู้หนึ่งจากประเทศไอวอรีโคสต์ในปี 2009 Source: AFP
อาจกินเวลาราว 4-6 เดือนนับตั้งแต่การได้รับเชื้อ กว่าที่บุคคลที่ติดเชื้อจะแสดงอาการ ซึ่งอาจเริ่มต้นจากผิวหนังบวมแดง

โรคแผลบูรูลิ อัลเซอร์อาจรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ผู้ป่วยอาจลงเอยด้วยการต้องจ่ายค่ายานี้เองถึงราว 14,000 ดอลลาร์ต่อคน เนื่องจากยานี้ไม่ครอบคลุมอยู่ในโครงการชดเชยค่ายา ฟาร์มาซูติคอล เบเนฟิตส์ สกีม (Pharmaceutical Benefits Scheme) ของรัฐบาล และผู้ป่วยติดเชื้อนี้หลายคนอาจต้องได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมในบริเวณที่ติดเชื้อ

องค์กรด้านการแพทย์และนักวิจัยเกี่ยวกับเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อคนที่ทำให้เกิดแผลแผลบูรูลิ อัลเซอร์ ต่างแนะนำให้ประชาชนระมัดระวังในช่วงอากาศเริ่มอบอุ่นขึ้นไปจนถึงฤดูร้อน

โดยขอให้ทุกคนป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ช่วยกันกำจัดแหล่งน้ำขังที่ยุงอาจวางไข่ ทำความสะอาดแผล และปิดแผลที่อาจเป็นรอยถลอก รอยกัด รอยข่วน หรือรอยแผลจากของมีคมต่างๆ และควรใส่ถุงมือเมื่อทำสวน

แหล่งข้อมูล: SBS News, AAP และข้อมูลเพิ่มเติมของปี 2018 จาก ABC

You can read the full article in English on SBS News page

รายการ เอสบีเอส ไทย ออนไลน์ ออกอากาศสดหนึ่งชั่วโมงเต็ม กดฟังได้ที่เว็บไซต์  ทุกจันทร์และพฤหัสบดี 22.00 น. (เวลาซิดนีย์/เมลเบิร์น) หลังจากนั้นฟังซ้ำได้ทุกเมื่อ

ติดตาม เอสบีเอส ไทย ทางเฟซบุ๊กได้ที่ 

Share
Published 15 October 2019 12:12pm
Updated 9 November 2022 9:06pm
By Luke Waters
Presented by Parisuth Sodsai
Source: ABC Australia


Share this with family and friends