พบพฤติกรรม 'นกค็อกคาทู' เปิดฝาถังขยะ-สอนตัวอื่นหาอาหาร

A sulpher-crested cockatoo

Source: N Storey via Unsplash

นกค็อกคาทู สัตว์ที่หลายคนในออสเตรเลียรู้จักและเคยคุ้น เริ่มพัฒนาพฤติกรรมใหม่ในการหาอาหาร ด้วยการเปิดฝาถังขยะตามบ้าน พร้อมสอนวิธีนี้ให้กับนกตัวอื่น ๆ นักวิทยาศาสตร์อธิบายโครงสร้างการเรียนรู้ที่ซับซ้อนในบรรดาประชากรนกแก้วที่อาศัยอยู่ทั่วเขตเมือง


LISTEN TO
Cockatoos teach each other to forage in waste bins image

พบพฤติกรรม 'นกค็อกคาทู' เปิดฝาถังขยะ-สอนตัวอื่นหาอาหาร

SBS Thai

26/07/202106:54
เศษอาหารในถังขณะที่มีฝาปิดนั้น ตามปกติแล้วคือสิ่งที่ท้าทายสำหรับนกค็อกคาทูหงอนเหลือง (Sulphur-crested cockatoo) แต่ดูเหมือนว่า มันกลับไม่ใช่ปัญหาที่มันเอาชนะไม่ได้อีกต่อไป

มีการแชร์ภาพคลิปวิดีโอระหว่างที่มันใช้ปากคาบฝาถังเอาไว้ และพลิกมันกลับไปด้านหลัง เปิดทางสะดวกสู่อาหารมื้อต่อไปอย่างช่ำชอง

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันด้านพฤติกรรมสัตว์ แมกซ์ แพลงค์ (Max Planck) รู้สึกประหลาดใจกับพฤติกรรมดังกล่าว และได้ทำการศึกษาวิจัยปรากฎการณ์นี้ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารไซแอนซ์ (Science) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา 

ดร.ลูซี อะพลิน (Dr. Lucy Aplin) นักวิจัยอาวุโสผู้จัดทำรายงานการวิจัยดังกล่าว ระบุว่า พฤติกรรมนี้ถือเป็นนวัตกรรมที่แปลกใหม่

“พฤติกรรมที่เราได้ศึกษาในหมู่ประชากรนกค็อกคาทูหงอนเหลืองในเมือง เป็นสิ่งที่เราเรียกว่า ‘นวัตกรรมเปิดถังขยะ’ พูดง่าย ๆ ก็คือ เมื่อนกค็อกคาทูหรือนกชนิดใด บินมาเกาะถังขยะของบ้านเรือน ซึ่งเป็นแบบเดียวกับบ้านอื่น ๆ ทั่วโลก แล้วยกฝา พยายามเปิดจากรอบ ๆ ถัง และสามารถพลิกฝาจนเปิดออกได้ ก่อนที่จะลงไปหาอาหาร ซึ่งส่วนมากเป็นขนมปัง”
มันเป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ของนวัตกรรมเชิงเทคนิค ในส่วนของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในเมือง เพื่อตอบสนองต่อโอกาสใหม่ ๆ ที่เราได้มอบให้กับพวกมัน ซึ่งเพิ่มขึ้น และกระจายไปในหมู่ประชากรของนกเหล่านี้ ดร.อะพลิน กล่าว
ในการศึกษาวิจัยดังกล่าว นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ ‘วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (citizen science)’ ในการติดตามพฤติกรรมนี้ โดยการส่งแบบสอบถามไปยังประชาชนผู้อยู่อาศัย เพื่อรายงานกลับมายังทีมศึกษาวิจัย เมื่อใดก็ตามหากพวกเขาพบนกค็อกคาทูรื้อหาอาหารในถังขยะ ด้วยพฤติกรรมในลักษณะนี้ 

ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยพบว่า ก่อนปี 2018 มีรายงานว่าพวกมันเปิดถังขยะเพื่อคุ้ยหาอาหารในย่านชานเมืองเพียง 3 แห่ง แต่ในปี 2019 พบรายงานเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายจากพื้นที่ 44 แห่ง

ดูเหมือนว่า พวกมันจะสอนวิธีเปิดถังขยะให้กับนกค็อกคาทูตัวอื่น ๆ ด้วย บางตัวเปลี่ยนวิธีการเปิดฝาถังไปเล็กน้อย โดยเทคนิคนั้นแตกต่างกันไปตามนกค็อกคาทูชนิดต่าง ๆ ทั่วนครซิดนีย์
นี่เป็นพฤติกรรมที่ซับซ้อน และยากลำบากในเชิงกายภาพสำหรับนก ซึ่งมันมีกระบวนการ 4-5 ขั้นตอนที่มันจะต้องทำ เพื่อเปิดฝาถังขยะ
“เรายังได้สังเกตเห็นอีกว่า ในพื้นที่ซึ่งมีการศึกษาวิจัยอย่างลึกซึ้งนั้น มีนกจำนวนมากที่อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ระดับกลาง ซึ่งพวกมันกำลังอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้พฤติกรรมนี้ โดยสิ่งนี้ชี้นำเราว่า การเรียนรู้นั้น อาศัยการสังเกตแบบซ้ำ ๆ ซึ่งอาจกินเวลาหลายเดือน ในการที่พวกมันจะเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่” ดร.อะพลิน กล่าว

การวิจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า พวกมันปรับตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นเมืองของนครซิดนีย์ที่เพิ่มมากขึ้น นั่นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหากนักวิทยาศาสตร์สามารถหาคำตอบได้ว่า เพราะเหตุใด สัตว์บางสปีชีส์จึงสามารถปรับตัวได้ดีต่อการปรากฎของมนุษย์ในพื้นที่นั้น พวกเขาอาจช่วยเหลือสัตว์สปีชีส์อื่นที่มีปัญหาในการปรับตัวได้

นกค็อกคาทูนั้น เป็นสัตว์ที่มีความสามารถในการเข้าสังคมสูงมาก โดยการวิจัยดังกล่าว ยังได้เปิดเผยให้เห็นถึงความร่วมมือกันของเครือข่ายในชุมชนของนกค็อกคาทูอีกด้วย
“สิ่งที่เราคิดว่ามันกำลังเกิดขึ้นนั้น คือพวกมันกำลังสังเกตพฤติกรรมการเปิดถังขยะหาอาหารจากนกตัวอื่น ๆ และเรียนรู้ผ่านการสังเกตซ้ำ ๆ จากสังคมนกตัวอื่น ๆ ที่มาคุ้ยเขี่ยหาอาหาร”
“เราไม่มีหลักฐานว่าพฤติกรรมนี้ถ่ายทอดสู่รุ่นลูกรุ่นหลานหรือไม่ แต่ดูเหมือนมันจะเป็นสิ่งที่เรียกว่า การส่งถ่ายพฤติกรรมโดยตรง (horizontal transmission) ระหว่างนกในรุ่นเดียวกัน” ดร.อะพลิน กล่าว 

เมื่อวิเคราะห์จากคลิปวิดีโอซึ่งบันทึกพฤติกรรมนี้ไว้ นักวิจัยพบว่า นกส่วนใหญ่ที่เปิดฝาถังขยะเพื่อคุ้ยหาอาหารนั้น ร้อยละ 84 เป็นนกตัวผู้ ซึ่งมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่านกตัวเมีย โดยนกที่เรียนรู้วิธีหาอาหารใหม่นี้ได้อย่างชำนาญ จะมีอิทธิพลเหนือกว่าในลำดับชั้นทางของสังคมของนกค็อกคาทู และมีเส้นสายในสังคมมากกว่านกตัวอื่น ซึ่งตรงกับพฤติกรรมที่พบเห็นในสวนสาธารณะ และพื้นที่ต่าง ๆ
อย่างไรก็ดี เรามีหลักฐานว่า นกที่มีแนวโน้มเป็นศูนย์กลางในเครือข่ายสังคมของนกค็อกคาทู เรียนรู้พฤติกรรมนี้ได้เร็วกว่านกที่มีความเชื่อมโยงในเครือข่ายสังคมห่างออกไป ซึ่งเป็นหลักฐานชั้นดีที่ชี้ให้เห็นว่า เส้นสายทางสังคมนั้นมีความสำคัญ
ดร.อะพลิน คาดว่า หากมนุษยพยายามที่จะหาทางไม่ให้นกค็อกคาทูเปิดฝาถังขยะได้ สิ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบอะไร ซึ่งพวกมันจะยังคงสบายดี เธอกล่าวอีกว่า นกเหล่านี้ฉลาดและปรับตัวได้เก่งมาก เธอมั่นใจว่า พวกมันจะหาหนทางอื่น ๆ ในการเอาตัวรอดได้ หากไม่สามารถเปิดถังขยะเพื่อคุ้ยเขี่ยหาอาหารได้อีกต่อไป


คุณสามารถติดตามข่าวสารล่าสุดจากออสเตรเลียและทั่วโลกเป็นภาษาไทยจากเอสบีเอส ไทย ได้ที่เว็บไซต์  บันทึกเว็บไซต์ของเราเก็บไว้ในบุ๊กมาร์ก เพื่อไม่ให้คุณพลาดสถานการณ์ล่าสุด หรือติดตามเราทางเฟซบุ๊กที่ 

Share